ปีนี้มี"หุ้นกู้" บริษัทจดทะเบียน (บจ.) หลายแห่ง มีปัญหาผิดนัดชำระหนี้ (Default Payment) อาทิ บมจ.ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ (ALL), บมจ.ช ทวี (CHO) ,บมจ.ภูเก็ตแฟนตาซี ( บริษัทย่อยของบมจ.ซาฟารีเวิลด์ (SAFARI))
รวมถึงกรณี หุ้นกู้ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) ที่มีปัญหาผิดนัดชำระหนี้ 5 รุ่น มูลหนี้กว่า 9,198 ล้านบาท มีนักลงทุนบุคคลที่เกี่ยวข้องรวม 4,521 ราย
ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2566 STARK ได้แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์ ฯ แสดงความตั้งใจที่จะปรับโครงสร้างทุนและโครงสร้างหนี้ทั้งของบริษัทและบริษัทย่อย เพื่อแก้ไขในส่วนของ"ผู้ถือหุ้นติดลบ" ให้พ้นเหตุเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน ใน 4 แนวทาง และหนึ่งในแนวทางก็คือ ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายเพื่อดำเนินการฟื้นฟูกิจการ โดยจะชี้แจงกับนักลงทุนและผูุ้ถือหุ้นภายในวันที่ 19 ก.ค.66
อ่านเพิ่ม : STARK จ่อยื่นศาลล้มละลายฟื้นฟูกิจการ นัดแจง 4 แนวทาง 19 ก.ค.นี้
อย่างไรก็ดี มีคำถามว่า กรณีหุ้นกู้ที่ไปลงทุน หรือหุ้นสามัญที่ถือ หากบริษัทผู้ออกเกิด"ล้มละลาย"การขายทรัพย์สินเพื่อนำเงินมาจ่ายคืนหนี้นั้น มีระดับการชำระหนี้อยู่ในระดับใด เรื่องนี้สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) มีคำตอบ โดยการชำระหนี้คืน จะเป็นไปตามลำดับก่อนหลังดังนี้
ตราสารหนี้มีประกัน หมายถึง ตราสารหนี้ที่ผู้ออกนำสินทรัพย์ซึ่งอาจเป็นอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน ตึก หรือ สังหาริมทรัพย์ เช่น สินค้าในโรงงาน เป็นหลักประกัน ทำให้ผู้ถือตราสารหนี้นั้นมีสิทธิเรียกร้องเหนือสินทรัพย์นั้น
ตราสารหนี้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิ หมายถึงตราสารหนี้ที่ไม่ได้กำหนดให้มีหลักประกันเพื่อการชำระหนี้คืน โดยผู้ถือตราสารหนี้ชนิดนี้อาจมีฐานะเป็นเจ้าหนี้สามัญทั่วไปของบริษัทผู้ออก
ตราสารหนี้ไม่มีประกันและด้อยสิทธิ หมายถึงตราสารหนี้ที่ไม่ได้กำหนดให้มีหลักประกันเพื่อการชำระหนี้คืนและผู้ถือมีสิทธิเรียกร้องชำระหนี้ในอันดับหลังจากเจ้าหนี้บุริมสิทธิ์และเจ้าหนี้ทั่วไป หรือกล่าวได้ว่าผู้ถือตราสารหนี้ประเภทนี้จะมีสิทธิที่ด้อยกว่าเจ้าหนี้สามัญรายอื่นๆ ในการเรียกร้องสินทรัพย์จากผู้ออกแต่จะสูงกว่าผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ และหุ้นสามัญ ซึ่งจะมีสิทธิเป็นอันดับสุดท้าย
หุ้นสามัญ หมายถึง ผู้ถือหุ้นซึ่งเปรียบได้กับเจ้าของกิจการมีสิทธิได้รับชำระหนี้เป็นอันดับสุดท้าย
ที่มา : สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA)