"STARK" แจงเหตุไม่จ่ายหนี้หุ้นกู้ 2.2 พันล้าน อยู่ระหว่างเจรจาเจ้าหนี้

02 ก.ค. 2566 | 05:25 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ค. 2566 | 05:36 น.

"STARK" แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เหตุไม่จ่ายหนี้หุ้นกู้ วงเงิน 2,241 ล้านบาท ชุด "STARK239A" และ "STARK249A" ตามกำหนดในวันที่ 2 ก.ค. 66 ใช้เวลาในการเจรจาหาทางออกในการร่วมกับเจ้าหนี้

นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ กรรมการ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) "STARK" ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ตามที่บริษัทได้รับหนังสือเรียกให้ชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยทั้งหมดของหุ้นกู้ (หนังสือเรียกให้ชำระหนี้โดยพลัน)

หุ้นกู้ชุดที่ 1 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2566 "STARK239A" และ หุ้นกู้ชุดที่ 2 ครบกำหนดไถ่ถอนปีพ.ศ. 2567 "STARK249A" จากผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ในวันที่ 6 มิ.ย. 2566

เรียกให้บริษัทชำระหนี้เงินต้นคงค้างทั้งหมดจำนวน 2,241 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยคงค้างทั้งหมด ซึ่งคำนวณจนถึงวันที่บริษัทชำระหนี้ตามหุ้นกู้ครบถ้วนแล้ว ภายในวันที่ 2 ก.ค. 2566 ทางบริษัทขอเรียนแจ้งว่าบริษัทจะยังไม่ชำระหนี้ดังกล่าวภายในระยะเวลาที่ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้กำหนดมาในหนังสือเรียกให้ชำระหนี้โดยพลัน

เนื่องจากบริษัทยังดำเนินการตามแผนการดำเนินการที่ได้แจ้งไว้ไม่แล้วเสร็จ กล่าวคือ บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาหาทางออกร่วมกับเจ้าหนี้ต่างๆ

เมื่อผลการเจรจายังไม่เป็นที่สิ้นสุดบริษัทจึงต้องชะลอการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ใดๆ เพื่อไม่ให้เป็นการเลือกปฏิบัติหรือให้เปรียบเจ้าหนี้กลุ่มใด

หนังสือชี้แจง "STARK"

สำหรับแนวทางการดำเนินการนั้น เนื่องจากผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ได้ดำเนินการเรียกให้บริษัทชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยทั้งหมดของหุ้นกู้หมายเลข STARK245ASTARK255A และ STARK242A

บริษัทจึงมีจำนวนหนี้คงค้างชำระเพิ่มขึ้นจำนวน 6,957.40 ล้านบาท รวมหนี้เงินต้นหุ้นกู้คงค้างชำระทั้งสิ้น 9,198.40 ล้านบาท 

บริษัทยิ่งจะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในการชำระหนี้กลุ่มใดๆ เป็นการเฉพาะเพื่อป้องกันความเสี่ยงอันเกิดจากการกระทำใดๆ ที่อาจถือเป็นการเลือกปฏิบัติ และให้เปรียบเจ้าหนี้กลุ่มใดเหนือเจ้าหนี้รายอื่น เพื่อไม่ให้เจ้าหนี้รายอื่นๆ เพิกถอน หรือส่งผลกระทบในทางลบต่อการเจรจาบริหารการชำระหนี้

อนึ่ง บริษัทขออภัยที่ยังไม่สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับแผนการชำระหนี้โดยละเอียด ณ ขณะนี้ เนื่องด้วยบริษัทมีเจ้าหนี้ที่สำคัญหลายราย (ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้ทางการเงิน หรือเจ้าหนี้กลุ่มอื่น)

บริษัทจึงต้องใช้เวลาในการเจรจาหาทางออกในการร่วมกับเจ้าหนี้ที่สำคัญทั้งหมด เพื่อให้เจ้าหนี้ต่างๆ ระงับการใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ทั้งหมดในลักษณะเดียวกันกับหนี้หุ้นกู้ และหาแนวทางการบริหารการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้หุ้นกู้และกลุ่มอื่น ๆ โดยเท่าเทียมกัน