หลังจากที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้รับคดีการทุจริตใน บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) "STARK" เป็นคดีพิเศษเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 66 ระยะเวลาช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา มีการดำเนินการอย่างต่อ
จนสามารถนำไปสู้การออกหมายจับผู้ต้องหาร่วม 3 ราย ประกอบด้วย นายชนินทร์ เย็นสุดใจ นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ และนางสาวยสบวร อำมฤต และออกหมายเรียกอีก 1 ราย คือ นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ และพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหาแล้วรวม 2 ราย คือ นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ และนางสาวยสบวร อำมฤต แล้วนั้น แต่ทาง DSI ก็ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดในส่วนของเส้นทางการเงินยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ
ทางการข่าวมีการได้รับรายงานถึงการโยกย้ายเงินออกนอกประเทศ พร้อมประเมินมูลค่าความเสียหาย สำหรับผู้ถือหุ้นกู้วงเงิน 9,198 ล้านบาท และผู้ถือหุ้นสามัญอีก 14,478 ล้านบาท
ล่าสุดแหล่งข่าวจากบุคคลใกล้ชิดของ 1 ในผู้ถูกกล่าวโทษ ได้ออกมาให้ข้อมูลถึงเส้นทางการเงิน หากดูตามเส้นทางการเงิน จะพบกว่ามีการนำเงินเข้ามาในบริษัท และกระจายไปยังที่เป็นกลุ่ม "Non STARK" บนเส้นทางการทำธุรกรรมปกปิด และการถ่ายเงินออกผ่านช่องทาง บริษัทย่อย หรือ Non STARK ได้แก่ บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) ,บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (TCI) และ บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (APDE)
โดยเส้นทางการเงินของ STARK หลังได้รับเงินจากการระดมทุนออกหุ้นกู้ และหุ้นเพิ่มทุน จากสถาบันการเงินและประชาชนรวมกว่า 14,037 ล้านบาท แบ่งเป็นเดือน พ.ค. 2565 วงเงิน 4,523 ล้านบาท เดือน พ.ย. 2565 วงเงิน 3,934 ล้านบาท และหุ้นเพิ่มทุน (PP) อีก 5,580 ล้านบาท
"STARK" ได้มีการนำไปชำระดอกเบี้ยสำหรับหุ้นกู้ และหนี้อื่นๆ จำนวน 1,736 ล้านบาท และอีกส่วนให้ "เฟ้ลปส์ ดอด์จ" ผ่านรูปแบบการให้กู้จาก STARK รวมจำนวนกว่า 10,930 ล้านบาท โดยการกระจายเงินออกมี 3 ช่องทางประกอบไปด้วย
1.เบิกเงินออก 7,423 ล้านบาท เข้า "เอเชีย แปซิฟิก" ผ่านการทำรายการปลอมว่าเป็นการชำระจากลูกหนี้การค้า 12 ราย ที่สั่งซื้อสินค้า และยังค้างชำระเงินอยู่ ก่อนจะกลับไปเข้าบัญชีธนาคารของ "เฟ้ลปส์ ดอด์จ" อีกทีโดยไม่มีการธุรกรรมกันจริง
2.เบิกเงินออก 2,478 ล้านบาท เข้าบัญชี "ไทย เคเบิ้ล" โดยระบุว่าเป็นรายการลูกหนี้การค้า 2 รายที่สั่งซื้อสินค้า และยังค้างชำระเงินอยู่ ระบุว่าเป็น "ไทย เคเบิ้ล" และคู่ค้าอีก 1 ราย ก่อนที่จะโอนกลับไปยัง "เฟ้ลปส์ ดอด์จ"
3.โอนเงิน 947 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนที่เหลือเข้า "บัญชีส่วนตัว" ผู้กระทำการ และผู้มีส่วนรู้เห็นในการทุจริต
ตามวัตถุประสงค์จากการระดมทุนของทาง STARK นั้น จะต้องกันเงินในบัญชีดังกล่าวไว้เฉพาะเพื่อนำไปซื้อกิจการ LEONI Kabel GmbH บริษัทในประเทศเยอรมนี และ LEONIsche Holding Inc. บริษัทในรัฐเดลาแวร์ของสหรัฐ ที่เป็นผู้ผลิตสายไฟสำหรับรถยนต์ และสายไฟสำหรับ EV Charging Solutions มูลค่าการรวมกว่า 560 ล้านยูโร (ราว 20,588.90 ล้านบาท) แต่กลับกลายเป็นว่าเงินดังกล่าวในบัญชี STARK ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2565 เหลือเพียงแค่ 485 ล้านบาทเท่านั้น
จึงทำให้ต้องการประกาศยกเลิกดีล LEONI ไปเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 65 ซึ่งเป็นปัญหาทำให้ความแตก ไม่สามารถนำส่งงบการเงินได้ จนลุกลามใหญ่โตมาถึงทุกวันนี้