นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนกรกฎาคม 2566 (สำรวจระหว่างวันที่ 20-31 กรกฎาคม 2566) พบว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 83.45 ปรับขึ้นเล็กน้อย 2.2% จากเดือนก่อนหน้า อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” โดยนักลงทุนมองว่าการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว และการไหลเข้าของเงินทุน
สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ ความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล รองลงมาคือการประกาศจะจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ (Financial Transaction Tax: FTT) และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน
FETCO Investor Confidence Index สำรวจในเดือนกรกฎาคม 2566 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้
ผลสำรวจ ณ เดือนกรกฎาคม 2566 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า มีเพียงความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างประเทศปรับลดลง 33.3% อยู่ที่ระดับ 66.67 ในขณะที่กลุ่มอื่นปรับเพิ่มขึ้น โดยนักลงทุนบุคคลปรับเพิ่ม 42.7% อยู่ที่ระดับ 93.94 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับเพิ่ม 125.0% อยู่ที่ระดับ 112.5 และกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับเพิ่ม 16.7% อยู่ที่ระดับ 100.00
SET Index ผันผวนตลอดเดือนกรกฎาคม 2566 จากปัญหาเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งที่ไม่มีความชัดเจนและยังไม่สามารถเสนอชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ อีกทั้งแรงขายสุทธิต่อเนื่องของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ และประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2566 ถูกปรับลดลงจาก 3.6% ของ GDP ที่คาดการณ์ไว้ในเดือนเมษายน มาอยู่ที่เฉลี่ย 3.5% สาเหตุจากการคาดการณ์รายได้นักท่องเที่ยวลดลง รวมทั้งการส่งออกชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ของปีนี้ โดย SET Index ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2566 ปิดที่ 1,556.06 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.5% จากเดือนก่อนหน้า ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนกรกฎาคม 2566 อยู่ที่ 46,002 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิกว่า 12,558 ล้านบาท ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ของปีนี้ โดยตั้งแต่ต้นปี 2566 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวมกว่า 118,181 ล้านบาท
ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ นโยบายการเงินของ FED ที่คาดว่าจะยังไม่ลดดอกเบี้ยในเร็ววันนี้เนื่องจากโอกาสการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐอาจทำให้เงินเฟ้อปรับตัวขึ้นสูงอีกครั้ง รวมถึงภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งอาจกระทบภาคการส่งออกและท่องเที่ยวของไทย ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การเลือกนายกรัฐมนตรีและการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งหากล่าช้าจะกระทบต่อเศรษฐกิจและงบประมาณปี 2567 ความขัดแย้งทางการเมืองหลังการเลือกตั้งที่อาจนำไปสู่การก่อความไม่สงบ การชะลอตัวของภาคการส่งออกที่อาจได้รับผลกระทบจากแนวโน้มการแข็งค่าของค่าเงินบาท และจากการที่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังคงซบเซาจากแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงสถานการณ์ภาคท่องเที่ยวในประเทศที่อาจไม่โตเท่าที่คาดการณ์ไว้”