ส่องโผ 12 หุ้น มีหนี้สินต่ำ เงินสดล้นมือ

22 ส.ค. 2566 | 00:00 น.

เปิดโผ 12 หุ้น หนี้สินต่ำหรือไม่มีหนี้สิน และมีกระแสเงินสดสูง สะท้อนสถานะสภาพคล่องทางการเงินที่แข็งแกร่ง รองรับเหตุการณ์ความผันผวน สามารถดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดได้

จากความไม่แน่นอน ของเศรษฐกิจ ที่ภาวะตลาดหุ้นผันผวน นักลงทุนต้องคัดเลือกหุ้นให้รัดกุมมากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสในการทำกำไร และวิธีหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยง และความผันผวนให้กับพอร์ตลงทุนได้ คือการ "เลือกหุ้นที่มีหนี้สินต่ำ และมีเงินสดในมือสูง"

สำหรับหุ้นที่มีหนี้สินต่ำหรือไม่มีหนี้สิน และมีกระแสเงินสดสูง สะท้อนว่าเป็นบริษัทที่มีสถานะและสภาพคล่องทางการเงินที่แข็งแกร่ง ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นในอนาคต และส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ เช่น วิกฤติเศรษฐกิจ หรือเศรษฐกิจถดถอย ก็จะมีเงินสดในการดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดท่ามกลางความผันผวน

12 หุ้นหนี้สินต่ำ เงินสดล้นมือ

สำหรับบริษัทที่มีหนี้สินต่ำหรือไม่มีหนี้ สามารถดูได้จากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ซึ่งเป็นค่าที่สะท้อนว่าบริษัทมีภาระหนี้สินคิดเป็นกี่เท่าของทุนหรือส่วนของเจ้าของ 

อย่างไรก็ตามค่านี้ไม่มีการกำหนดที่แน่นอนว่าบริษัทสามารถกู้ยืมได้กี่เท่าของสินทรัพย์ เพราะบางบริษัทมีการเติบโตสูงอาจพึ่งพาการกู้เงิน เพื่อดำเนินธุรกิจ และหากควบคุมความเสี่ยงได้ 

การกู้ยืมเพื่อนำมาลงทุนก็นับเป็นโอกาสทำให้ธุรกิจเติบโตได้เร็ว หรือกลุ่มธนาคารที่มีลักษณะการดำเนินธุรกิจที่มีการกู้ยืมเพื่อปล่อยกู้ อาจมีค่า D/E Ratio สูงเช่นกัน

โดยทั่วไปนักลงทุนมักยอมรับค่า D/E Ratio ไม่เกิน 2 เท่า แต่หากอยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่มีความแน่นอนจะลดค่านี้ลงเหลือ 1 เท่า ซึ่งค่านี้จะสะท้อนการดำเนินธุรกิจด้วยการพึ่งพาการกู้ยืม ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของสินเชื่อธนาคารหรือการออกหุ้นกู้ ทำให้มีภาระผูกพันในรูปของดอกเบี้ยและเงินต้นที่ต้องจ่ายคืนเมื่อถึงกำหนด 

แต่หากบริษัทมีหนี้สินสูง ๆ หมายถึงการมีภาระดอกเบี้ยสูง และไม่มีเงินสดในมือ เมื่อเกิดวิกฤติอาจมีความเสี่ยงสูงต่อปัญหาด้านสภาพคล่องทางการเงินที่อาจนำไปสู่ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ (Default) ที่เจ้าหนี้ไม่ได้รับดอกเบี้ยหรือเงินต้นคืนตามเวลาที่กำหนด ทำให้ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้และอาจถูกฟ้องล้มละลาย

นอกจากนี้ วงจรเงินสด "ยิ่งน้อยหรือติดลบ ยิ่งดี" เพราะสะท้อนถึงการมีประสิทธิภาพในการสร้างยอดขายและสามารถเรียกเก็บเงินสดจากลูกหนี้การค้าได้ 

ก่อนที่จะต้องจ่ายเงินสดนั้นออกไปให้กับเจ้าหนี้การค้าหรือนำไปจ่ายหนี้ทำให้มีเงินสดมาใช้หมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจได้อย่างเพียงพอ เช่น การลงทุน การจ่ายเงินปันผล การจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ เป็นต้น

ตรงกันข้าม หากผลลัพธ์ออกมา "มีค่ามาก" แสดงว่าบริษัทสามารถขายสินค้าและเก็บหนี้ได้ช้ากว่าการจ่ายหนี้ ทำให้มีการเงินที่ติดๆ ขัดๆ หรือมีสภาพคล่องต่ำ

นอกจากจะดูว่าบริษัทมีเงินสดล้นมือมากน้อยแค่ไหน ก็ต้องดูต่อไปด้วยว่า บริษัทสามารถนำเงินสดมาขยายธุรกิจได้ดีมีประสิทธิภาพหรือไม่ 

โดยดูจากเงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงาน (Operating Cash Flow) ซึ่งสะท้อนถึงบริษัทมีสภาพคล่องสามารถนำเงินไปขยายกิจการ หรือรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจได้ โดยตัวเลขต้องเป็น "บวก" แสดงว่ามีเงินสดในมือสูง และเงินสุทธิจากกิจกรรมลงทุน (Investing Cash Flow) ที่แสดงถึงบริษัทมีเงินเพื่อเตรียมขยายธุรกิจโดยตัวเลขออกมาต้อง "เป็นลบ" แสดงว่ามีเงินสดพร้อมนำไปขยายธุรกิจ

เงื่อนไขการคัดกรองหุ้น

  1. D/E Ratio น้อยกว่า 1 เท่า
  2. อัตราส่วนทุนหมุนเวียน มากกว่า 1 เท่า
  3. วงจรเงินสด ต้องติดลบ
  4. เงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงาน เป็นบวก
  5. เงินสุทธิจากกิจกรรมลงทุน เป็นลบ
  6. ค่า Beta น้อยกว่า 1
  7. กำไรสุทธิ ปี 2561 – 2565 เป็นบวก

ข้อมูลที่มา : ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย