เศรษฐกิจชะลอ- หนี้ครัวเรือนพุ่ง ฉุด38 อสังหาฯในตลท.รายได้-กำไรวูบ

20 ส.ค. 2566 | 11:16 น.
อัพเดตล่าสุด :20 ส.ค. 2566 | 11:48 น.

เศรษฐกิจชะลอ -  หนี้ครัวเรือนพุ่ง-การเมืองไม่นิ่งไตรมาส2ปี2566 ฉุด38 อสังหาฯในตลท. รายได้-กำไรวูบกว่า 27%14 บริษัทขาดทุน 

 

ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ความเปราะบางของกำลังซื้อ ส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ ชะลอตัว  มีตัวแปรมาจากหนี้ครัวเรือนในประเทศ สูงกว่า90% ทำให้สถาบันการเงินยิ่งเพิ่มความเข้มงวดปล่อยสินเชื่อ ซ้ำเติมด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ย และมาตรการต่างๆภาครัฐถูกยกเลิกไป อย่าง มาตรการLTV  แถมยังถูกซ้ำเติมจากความไม่มั่นใจต่อการจัดตั้งรัฐบาล  

เมื่อสำรวจผลประกอบการในอุตสาหกรรมที่อยู่อาศัยรวมแล้ว แม้หลายค่ายใหญ่จะประสบความสำเร็จ จากการขาย กิจกรรมส่งเสริมทางการตลาด ดูมีรายได้และผลกำไรที่ดี แต่ เมื่อมองตัวเลขในภาพรวมของไตรมาส2ของปี2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาแล้ว กลับพบว่ามีผลดำเนินการและกำไรที่ลดลง

 

 

จีนไม่มาตามนัด

สะท้อนว่า กำลังซื้อตลาดอสังหาริมทรัพย์ ยังไม่กลับมา คนที่ต้องการที่อยู่อาศัยถูกปฏิเสธสินเชื่อ ขณะคนชั้นกลางเศรษฐีเงินเย็นที่มักชอบลงทุนในอสังหาฯต่างชะลอดูท่าทีเศรษฐกิจเก็บเงินไว้ก่อน ว่าเศรษฐกิจจะแย่ลงกว่าเดิมหรือไม่

ประกอบกับตัวช่วยกำลังซื้อหลัก ต่างชาติโดยเฉพาะจีน ที่เคยเป็นชาติที่สร้างความรุ่งเรืองให้กับตลาดคอนโดมิเนียมในไทย และคาดการณ์ไว้ปีนี้นักท่องเที่ยวจีนจะเข้าไทยจับจ่าย แต่ในทางตรงกันข้าม จีนกลับประสบปัญหา ทางเศรษฐกิจ บอบซ้ำต่อเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 

นโยบายรัฐบาลของจีนยังคงไม่ต้องการให้คนในประเทศเดินทางออกนอกประเทศ ซ้ำร้ายอสังหาฯยักษ์ใหญ่ระดับโลกของจีน อย่าง"เอเวอร์แกรนด์" ยื่นล้มละลายในสหรัฐอเมริกา  ทำให้เกิดการสั่นคลอนถึงไทยได้ ในทางอ้อม นั่นคือ การเดินทางเข้ามาลงทุนซื้อคอนโดมิเนียมในไทยคง ลดลงไปกว่าคาด

38 อสังหาฯในตลท.รายได้-กำไรรูด

สอดคล้องกับ นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการบริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่นส์  จำกัด (LWS wisdom)  บริษัทวิจัยตลาดอสังหาฯ  สะท้อนตัวเลข ผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2566 ของ 38 บริษัท อสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  (ตลท.) ตัวเลขรายได้รวมที่  80,152.04 ล้านบาท กำไรสุทธิ 8,339.09 ล้านบาทพบว่าทั้งรายได้ และกำไรเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง 0.08% และ 27.08%  ตามลำดับ

เทียบช่วงเดียวกันของ ปี 2565  ทำกำไรเฉลี่ย 10.40% ลดลงจาก 11.80% ในไตรมาสแรกของปี 2566ขณะครึ่งแรกของปี 2566 มีรายได้รวมเพิ่มขึ้น 3.50% แต่กำไรลดลง จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.05% หรือ รายได้รวม 153,731.64 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.50% จากระยะเดียวกันของปี 2565 และมีกำไรสุทธิ 17,251.79 ลดลง 8.05% จากระยะเดียวกันของปี 2565 โดยมีความสามารถในการทำกำไรเฉลี่ย 10.40% ลดลงจาก 12.63% ในครึ่งแรกของปี 2565

สต๊อกพุ่ง638,860 ล้าน

ส่วนสินค้าคงเหลือและที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เพิ่มขึ้น 1.96% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) โดย สินค้าคงเหลือ บวกกับสินค้าที่อยู่ระหว่างการพัฒนาของบริษัทอสังหาฯ ทั้ง 38 บริษัท ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 อยู่ที่ 638,860 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.96% จาก 626,535.06 ล้านบาท จาก ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566

แสนสิริแชมป์กำไร /เอพี ผู้นำรายได้

ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา บริษัทที่มีรายได้สูงสุดใน 38 บริษัทดังกล่าวคือบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ขณะที่บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) สามารถทำกำไรได้สูงสุด แต่หากเป็นช่วงครึ่งปีแรก 2566  บริษัท เอพี ไทยแลนด์ เป็นผู้นำด้านรายได้สูงสุด และแสนสิริเป็นผู้นำในการทำกำไรสูงสุดในช่วงครึ่งปีแรก 2566 ส่วนรายได้รวมสูงสุด 10 บริษัทแรกอยู่ที่ 61,972.14 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 77.31% ของรายได้ 38 บริษัทอสังหาฯ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

10บริษัทกำไรรวมหมื่นล้าน

ในขณะที่กำไรของ 10 บริษัทแรกที่ทำกำไรรวมอยู่ที่ 10,863.91 ล้านบาท(ดูตารางประกอบ) สูงกว่ากำไรรวม 38 บริษัทอสังหาฯ ที่มีกำไรสุทธิรวม 8,339.09 ล้านบาท ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เนื่องจากมีบริษัทจดทะเบียนที่ขาดทุนสุทธิทั้งสิ้น 16 บริษัทจาก 38 บริษัท ในขณะที่ รายได้รวมของ 10 บริษัทอสังหาฯ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 116,971.37 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 76.08% ของรายได้ 38 บริษัทอสังหาฯ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ขณะกำไรของ 10 บริษัอสังหาฯ รวมในครึ่งแรกของปี 19,051.68 ล้านบาท สูงกว่ากำไรรวม 38 บริษัทอสังหาฯ ที่มีกำไรสุทธิรวม 17,251.79 ล้านบาท ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เนื่องจากมีบริษัทจดทะเบียนที่ขาดทุนสุทธิทั้งสิ้น 14 บริษัท

รายได้กำไร 38 อสังหาฯในตลาดหลักทรัพย์ รายได้ครึ่งปีแรก