"สงคราม"ดันทองคำ-น้ำมันปรับขึ้นจำกัด แนะลงทุน"บอนด์"รับยีลด์สูงกว่า

25 ต.ค. 2566 | 08:32 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ต.ค. 2566 | 08:40 น.

ทิสโก้ ยกสถิติสงคราม 6 ครั้ง ชี้ลงทุนทองคำและน้ำมัน ระยะสั้นปรับขึ้นจำกัด ขณะที่บอนด์ แนวโน้มปรับลดลง ดังนั้นหากศก.เข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 67 การลงทุนบอนด์มีโอกาสสร้างผลตอบแทนดีกว่าหุ้น

นางสาวทิพย์รัตน์ นันทปรีดาวัฒน์ นักวิเคราะห์กลยุทธ์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) เปิดเผยว่า จากการศึกษาข้อมูลความเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์การลงทุนต่าง ๆ ได้แก่ หุ้น น้ำมัน ทองคำ อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ (Bond yield) และดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงภาวะสงครามครั้งสำคัญตั้งแต่ปี 2534 ถึง 2565 จำนวน 6 ครั้ง

พบว่าในช่วงที่เกิดสถานการณ์ตึงเครียด ตลาดหุ้นจะปรับตัวลงราว 2 เดือนก่อนที่สงครามจะรุนแรงขึ้น และจะฟื้นตัวประมาณ 5-10% ในช่วง 1 เดือนที่สงครามเกิดขึ้น ส่วนราคาน้ำมันจะเร่งตัวขึ้นแรงในช่วง 3 เดือนก่อนเกิดสงคราม โดยมักจะทำจุดสูงสุดในช่วง 1 เดือนสุดท้าย ก่อนจะพลิกกลับมาทรงตัวที่ระดับต่ำกว่าก่อนสงครามประมาณ -10%  

 

ในขณะที่ราคาสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe-haven) ไม่เห็นการเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนไหวอย่างชัดเจนหลังเกิดสงคราม โดยราคาทองคำมักจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอดช่วงตึงเครียดก่อนเกิดสงคราม และเคลื่อนไหวทรงตัวในกรอบแคบหลังจากนั้น  

ส่วน Bond yield ระยะยาวมักจะปรับตัวลดลงราว 3 เดือนก่อนเกิดสงคราม และเคลื่อนไหวทรงตัวในช่วง 1 เดือนหลังจากนั้น ด้านดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ (Dollar index) มักจะเคลื่อนไหวทรงตัวต่อเนื่อง 1-2 เดือนก่อนและหลังเกิดสงคราม 

นางสาวทิพย์รัตน์กล่าวอีกว่า สำหรับมุมมองความเคลื่อนไหวของสินทรัพย์การลงทุนในปัจจุบันนั้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้มองว่า การเคลื่อนไหวของสินทรัพย์การลงทุนในเหตุการณ์สงครามระหว่างกลุ่มฮามาสและ อิสราเอลในครั้งนี้คล้ายกับช่วงที่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนในปี 2565

โดยในระยะสั้นราคาทองคำและน้ำมันอาจปรับขึ้นได้จำกัด เพราะรับข่าวสงครามไปพอสมควรแล้ว ขณะที่ Bond yield ในระยะสั้นจะทรงตัวใกล้ระดับปัจจุบัน แต่ในระยะกลางและยาวยังคงมองว่าจะปรับตัวลดลงตามมุมมองเดิม 

 

“การตอบสนองของสินทรัพย์ในรอบนี้ มีความคล้ายกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2565 เห็นได้จากการรีบาวน์ขึ้นของราคาน้ำมัน และทองคำ แต่หากเปรียบเทียบกับการเคลื่อนไหวเฉลี่ยในอดีตในช่วงที่เกิดสงคราม พบว่าราคาทองคำและน้ำมันปรับตัวสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงเวลาเดียวกันแล้ว สะท้อนว่าที่ระดับราคาในปัจจุบันน่าจะตอบรับต่อภาวะสงครามไปพอสมควร 

ด้าน Bond yield ในระยะสั้นแม้ว่าจะยังทรงตัวในระดับสูง แต่ในระยะกลางและระยะยาวจะปรับลดลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในระยะข้างหน้า  และหากเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2567 พันธบัตรรัฐบาลมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าหุ้น” นางสาวทิพย์รัตน์กล่าว