ดร.นิเวศน์ : ลงทุนหุ้น Top-Ten แห่งอนาคต

29 ต.ค. 2566 | 04:00 น.
อัพเดตล่าสุด :29 ต.ค. 2566 | 04:19 น.

ดร.นิเวศน์ พารู้จัก 10 หุ้นใหญ่ในตลาดหุ้นเวียดนาม ที่มีโอกาสติด “Future Top-Ten”ในอีก 10 ปีข้างหน้า คาดพอร์ตลงทุนใน 10 หุ้นดังกล่าว จะสร้างผลตอบแทนให้ได้ไม่น้อยกว่าปีละ 10% แบบทบต้น มีหุ้นตัวไหนบ้างไปดูกันเลย

การลงทุนในหุ้น Top-Ten หรือหุ้นใหญ่ที่สุด 10 ตัวในตลาดแล้วถือไว้ยาวนาน 10-20 ปี โดยไม่ทำอะไรเลยยกเว้นเมื่อได้รับปันผลก็จะนำเงินนั้นกลับไปลงทุนในหุ้นตัวเดิมไปเรื่อย ๆ  น่าจะเป็นกลยุทธการลงทุนที่ดีมาก อย่างน้อยก็น่าจะดีไม่แพ้การลงทุนในดัชนีตลาดหุ้น  และนั่นก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นไทยย้อนหลังไป 20 ปี อย่างที่ผมเขียนไว้ในบทความก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตามในวันนี้ ถ้าคิดจะลงทุนหุ้นแนว “Top-Ten” ผมคิดว่าเราควรจะต้องดัดแปลงให้เหมาะสมกับสถานการณ์และปรับปรุงแนวทางให้ดีขึ้นหลังจากเห็นผลที่เกิดขึ้นแล้ว เหตุผลก็เพราะว่า 

ข้อแรก เศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยผ่านยุคที่เติบโตหรือรุ่งเรืองไปแล้ว การลงทุนแนว“กึ่ง Passive”ในตลาดหุ้นไทยอาจจะไม่ได้ผลดี และข้อสองเราพบว่าหุ้นบางกลุ่ม เช่น หุ้นที่เป็นแนวโภคภัณฑ์ที่อยู่ใน Top-Ten ให้ผลตอบแทนที่ไม่ดีในระยะยาวโดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจของประเทศเติบโตขึ้นและการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ลดความสำคัญลงไปเรื่อย ๆ

ความคิดของผมก็คือ  เราควรเลือกตลาดหุ้นใหม่ที่กำลังเติบโตเร็ว  นั่นก็คือ  ตลาดหุ้นเวียตนาม  และแทนที่จะเลือกหุ้นใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน 10 ตัว  เราควรเลือกหุ้นที่จะ “ใหญ่ที่สุดในอนาคต 10 ตัว” หรือจะเรียกว่า ลงทุนในหุ้น “Future Top-Ten” โดยที่เมื่อเลือกแล้ว  เราก็จะถือหุ้นไว้ 10 ปี โดยไม่ทำอะไรเลย  ยกเว้นการนำเงินปันผลกลับไปลงทุนในหุ้นตัวเดิมไปเรื่อย ๆ

 

วิธีเลือกหุ้น Top-Ten ในอนาคต 10 ปีข้างหน้านั้น ถ้าใช้วิธีการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญจะเป็นเรื่องที่ยากมาก  ใครจะไปรู้ว่าบริษัทไหนจะโตเร็วเป็น “ซุปเปอร์สต็อก” และกลายเป็นหุ้น Top Ten ภายใน 10 ปี? และถ้ารู้อย่างนั้นจริง  เขาก็คงไม่มาลงทุนแบบกึ่ง Passive แน่ แต่เรารู้ว่าหุ้นที่เป็น Top-Ten อยู่นั้น  มักจะมีโอกาสที่จะเป็น Top-Ten ต่อไปในอนาคต  เพราะมันตัวใหญ่และมีความได้เปรียบในการแข่งขัน  อย่างน้อยในเรื่องของ Economies of Scale หรือการประหยัดในเรื่องของต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะในสังคมของประเทศที่ยังไม่ได้เน้นเรื่องของเทคโนโลยีอย่างเช่น ไทยหรือเวียตนาม  ซึ่งสถิติที่พบก็คือ  หุ้น Top-Ten ของไทย 10 ตัว มีถึง 4 ตัวที่ยังเป็นหุ้น Top-Ten อยู่หลังจากเวลาผ่านไปถึง 20 ปี

ดังนั้น วิธีที่ง่ายและน่าจะได้ผลดีในการที่จะหาหุ้น Top-Ten แห่งอนาคตก็คือ หาจากหุ้นที่ใหญ่ที่สุดอาจจะประมาณ 20 ตัว โดยเริ่มจากตัวที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบันจากนั้นก็ไล่ลงมาเรื่อย ๆ  แต่ถ้าพบว่าหุ้นตัวนั้นอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกับหุ้นที่ได้รับการคัดเลือกไปก่อนหน้าแล้ว  เราก็ตัดหุ้นตัวนั้นทิ้ง  เพราะเราต้องการกระจายความเสี่ยงของพอร์ต  ไม่ต้องการให้มีหุ้นในอุตสาหกรรมเดียวกันในหุ้น 10 ตัวของเรา

นอกจากนั้น ถ้าพบว่าหุ้นที่เราจะเลือกเป็นหุ้นที่ขายสินค้าโภคภัณฑ์ที่ผลประกอบการผันผวนมากและขึ้นอยู่กับราคาวัตดุดิบมาก ๆ เช่นเหล็กหรือสินค้าการเกษตรบางอย่าง  เราก็จะพิจารณาตัดออก  เพราะหุ้นเหล่านั้นในระยะยาวแล้ว  ก็ยากที่จะมีผลประกอบการที่ดีอย่างต่อเนื่องและเติบโตกลายเป็นหุ้น Top-Ten ในอีก 10 ปี ข้างหน้า

จากเกณฑ์การคัดเลือกดังกล่าว  หุ้นตัวแรกสำหรับการค้นหาหุ้น “Top-Ten แห่งอนาคต” ของตลาดหุ้นเวียตนามก็คือ

หุ้น VCB หรือเวียตคอมแบ้งค์ที่เป็นหุ้นใหญ่ที่สุดของเวียตนามในปัจจุบันด้วย Market Cap. ที่ประมาณ 710,000 ล้านบาท และนั่นทำให้เราต้องตัดหุ้นแบ้งค์อื่นอีกอย่างน้อย 4 ตัวที่มูลค่าหุ้นติด Top Ten ในปัจจุบันออก

หุ้นตัวที่ 2 ที่ถูกคัดเลือกคือหุ้น VHM หรือหุ้นวินโฮม บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของเวียตนามที่มี Market Cap. ถึง 290,000 ล้านบาท ใหญ่กว่าหุ้นบ้านจัดสรรที่ใหญ่ที่สุดของไทยในปัจจุบันถึง 3 เท่า และผมเชื่อว่ามีโอกาสที่จะยังติด Top-Ten ในอีก 10 ปีข้างหน้า

หุ้นตัวที่ 3 คือหุ้น GAS หรือเปโตรเวียตนามที่คล้ายกับหุ้นปตท. ของไทยที่ปัจจุบันมี Market Cap. อยู่ที่ 286,000 ล้านบาท  หุ้น

ตัวที่ 4 คือหุ้น VNM หรือวินนามิลค์ บริษัทผลิตและขายผลิตภัณฑ์นมที่ใหญ่ที่สุดของเวียตนามที่มีส่วนแบ่งการตลาดครอบงำคู่แข่งอื่นๆ และ ตัวเลือก

อันดับ 5 คือหุ้น FPT ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดของเวียตนามที่มีความสามารถในการรับจ้างเขียนโปรแกรมขายให้กับบริษัทชั้นนำทั้งโลก  โดยที่ปัจจุบัน FPT เป็นหุ้นใหญ่อันดับ 10 ในตลาดและมีมูลค่าหุ้นที่ประมาณ 176,000 ล้านบาท

หุ้นตัวที่ 6 คือหุ้น MSN หรือหุ้นมาซันกรุ้ป ผู้นำด้านการผลิตอาหารเช่น เนื้อสัตว์และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าผู้บริโภคอีกหลายอย่าง  และในปัจจุบันใหญ่เป็นอันดับ 12 ของตลาดหุ้น 

หุ้นตัวที่ 7 คือหุ้น SAB หรือ ซาเบโก้ บริษัทเบียร์ที่ใหญ่ที่สุดของเวียตนามและมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือกลุ่มเบียร์ช้างของไทยที่มี Market Cap. ประมาณ134,000 ล้านบาท

หุ้นตัวที่ 8 คือหุ้น MWG หรือโมบายเวิลด์ ที่เป็นหุ้นที่บางคนเรียกว่า “ราชันแห่งผู้ค้าปลีก” เพราะคุมตลาดโทรศัพท์มือถือและเครื่องใช้ไฟฟ้าของเวียตนามกว่า 50% นอกจากนั้น  ยังมีร้านค้าปลีกอีกหลายอย่างรวมถึงซุปเปอร์มารเก็ตขนาดเล็กที่กำลังเติบโตในเวียตนาม  แต่บริษัทยังมี Market Cap.ที่เล็กประมาณ 98,000 ล้านบาท ในปัจจุบัน  อานิสงค์จากกำไรที่ลดลงมากจากธุรกิจมือถือที่ประสบปัญหาหนักเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาในปัจจุบัน

หุ้นตัวที่ 9 คือหุ้น VRE หรือวินคอมรีเทล  “เจ้าพ่อชอปปิงมอล” คล้าย ๆ หุ้น CPN ของไทย แต่มี Market Cap. 91,000 ล้านบาท  หรือเล็กกว่า CPN 3 เท่า และเป็นหุ้นใหญ่อันดับที่ 20 ของเวียตนามในปัจจุบัน

หุ้นตัวสุดท้ายที่ผมคิดว่าจะมีโอกาสติด Top-Ten ในอีก 10 ปีข้างหน้าก็คือหุ้น ACV หรือหุ้นสนามบินหลัก ๆ ของเวียตนามที่คล้าย ๆ กับหุ้น AOT ของไทยที่ปัจจุบันยังไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แต่สามารถซื้อขายในตลาด OTC เหมือนหุ้นในตลาดเหมือนกัน  เพียงแต่มีกฎเกณฑ์และมาตรฐานน้อยกว่า  อย่างไรก็ตาม  ภายในเวลาไม่เกิน 10 ปี ก็คงต้องเข้าตลาดแน่นอน  เพราะมันเป็นหุ้นที่ใหญ่มากอยู่แล้วตั้งแต่วันนี้ที่ Market Cap. สูงถึงประมาณ 240,000 ล้านบาท 

และทั้งหมดนั้นก็คือหุ้นที่ผมคาดว่ามีโอกาสที่จะกลายเป็นหุ้นที่ใหญ่ที่สุด 10 ตัวแรกของตลาดหุ้นเวียตนามใน 10 ปีข้างหน้า  แน่นอนว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้ว่าจะถูกทั้งหมด  แต่ผมเชื่อว่าน่าจะต้องมีอย่างน้อย  5 ตัวที่จะอยู่ใน Top-Ten  ส่วนอีก 5 ตัวที่เหลือผมก็คิดว่าส่วนใหญ่น่าจะอยู่ในอันดับสูง  เช่น  อยู่ในอันดับ Top-Twenty เหตุผลก็คือ  มันเป็นหุ้นที่เป็นผู้ชนะและมีขนาดค่อนข้างจะใหญ่มากอยู่แล้วในปัจจุบัน  ดังนั้นมันจึงสามารถเติบโตไปกับการเติบโตของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของเวียตนามได้ไม่ยาก

และผมก็คิดว่า ผลตอบแทนที่ตามมาจากการลงทุนถือหุ้นตามพอร์ตหุ้น“Top-Ten แห่งอนาคต”กลุ่มนี้ น่าจะให้ผลตอบแทนได้ไม่น้อยกว่าปีละ 10% แบบทบต้นและดีกว่าการลงทุนในกองทุนรวมอิงดัชนีที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่สูงพอสมควร โดยที่มีความเสี่ยงของการลงทุนไม่สูงเกินไป  ละโดยที่เราแทบจะไม่ต้องทำอะไรมาก  เช่นเดียวกับไม่ต้องเป็นนักลงทุนที่เก่งฉกาจและทำงานหนักเหมือนอย่าง VI หลาย ๆ คนที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศ