เปิด "11 หุ้นได้ประโยชน์" รับประชุมบอร์ด EV เคาะมาตรการหนุนผู้ประกอบการ

31 ต.ค. 2566 | 03:27 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ต.ค. 2566 | 03:39 น.

บล.เอเซียพลัส แนะหาจังหวะเข้าทำกำไรช่วงสั้น 11 หุ้นในกลุ่มธุรกิจ รับประโยชน์กระแส EV กลับคึกคัก จับตารัฐบาลเคาะมาตรการสนับสนุน EV 3.5 หลังประชุม"บอร์ดอีวี" 1 พ.ย.นี้

จากกรณีที่นายกรัฐมนตรี กำหนดประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ในวันที่ 1 พ.ย. 2566 เพื่อพิจารณาวาระเร่งด่วนเรื่องมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า 3.5 หรือ EV SUBSIDY PACKAGE (EV 3.5) เพื่อทดแทนมาตรการ EV 3.0 ที่จะหมดอายุลงในปี 2566 

โดยรายละเอียดที่สำคัญในเบื้องต้นของมาตรการอีวี 3.5 จะมีการปรับลดเงินสนับนสนุน EV ในกลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และกระบะ ลงเหลือ 50,000 – 100,000 บาท จาก 70,000 – 150,000 บาท ในมาตรการชุดแรก (EV 3.0 ) และยกเลิกเงินสนับสนุนในกลุ่มรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้อัตราส่วนของรถยนต์ที่ต้องผลิตภายในประเทศเพื่อชดเชยกับจำนวนรถยนต์ที่นำเข้าทั้งคัน ยังเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2-3 จากเดิมที่ 1 –1.5 เท่า ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ยังคงต้องรอติดตามการประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง
 

ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)เอเซีย พลัส ระบุว่า การประชุมบอร์ดอีวี ในวันที่ 1 พ.ย.ปลุกกระแส EV ไทยให้กลับมาคึกคักใหม่อีกครั้ง โดยหากรัฐบาลผลักดันนโยบายสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าออกมาได้เร็ว และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย และช่วยสนับสนุนตลาด EV ในประเทศได้อีกด้วยทั้งนี้ 

ในช่วงที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการสงเสริมการลงทุน (BOI) ได้อนุมัติโครงการยานยนต์ไฟฟ้าไปแล้ว 23 โครงการจาก 16 บริษัท ซึ่งมีบริษัทต่างชาติได้เข้ามาผลิต EV ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีน ที่เข้ามาลงทุนสูงสุดเป็นอันดับ 1 โดยผู้ประกอบการรายหลักที่มีการเข้ามาลงทุนในตลาดรถยนต์ EV ของไทย เช่น 

BYD -ปัจจุบันกำลังตั้งโรงงานผลิตที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอระยอง 36 กำลังการผลิต 1.5 แสนคัน/ปี มูลค่าการลงทุนกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท ,SAIC MOTOR -จับมือกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ทำตลาดรถยนต์ MG ในไทย ปัจจุบันกำลังตั้งโรงงานนิคมอุตสาหกรรม 
 

นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการรายอื่นๆที่อยู่ระหว่างเตรียมขอรับสิทธิ BOI และเตรียมเข้าลงทุนในประเทศ เช่น GAC
ซึ่งตั้งเป้าผลิตรถยนต์ EV ในไทยให้ได้ 1 แสนคันต่อปี, GEELY กำลังการผลิตเบื้องต้น1 แสนคัน/ปี, และล่าสุด บริษัทฉางอาน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการ EV รายใหญ่ ของประเทศจีน ได้ประกาศลงนามซื้อขายที่ดินกับ WHA ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 จังหวัดระยอง ภายใต้การสนับสนุน BOI ในด้านสิทธิประโยชน์การจัดตั้งโรงงานผลิต EV ในไทย โดยบริษัทฯมีแผนใช้เงินลงทุน เฟสแรก 8.9 พันล้านบาท เพื่อตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า กำลังการผลิต 1 แสนคัน/ปี รวมถึงจัดตั้งโรงงานแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า คาดแล้วเสร็จและเริ่ม COD ใน 1Q68

ประเด็นดังกล่าว ฝ่ายวิจัยฯ จึงถือเป็นมุมมองเชิงบวกต่อผู้ประกอบการ EV หรือผู้ผลิตแบตเตอรี่ที่เกี่ยวเนื่องกับรถ EV ซึ่งคาดจะช่วยให้หุ้นในกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ กลับเข้ามาอยู่ในกระแสได้อีกระลอก จึงอาจหาจังหวะเข้า TRADING ช่วงสั้น ตามทิศทางของกระแสข่าวดังกล่าวได้ โดยฝ่ายวิจัยมองผู้ประกอบการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระแสดังกล่าว ได้แก่

  • กลุ่มนิคม : WHA
  • กลุ่มผู้ประกอบรถยนต์ไฟฟ้า : EA ,NEX , PTT
  • กลุ่มผู้ผลิตแบตเตอรี่ : GPSC, EA
  • กลุ่มสถานีชาร์จไฟฟ้า : EA, OR
  • กลุ่มชิ้นส่วนอุปการณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า : DELTA, KCE, HANA