“ธนูลักษณ์” ปลื้มยอดจองหุ้นกู้วงเงิน 500 ล้านบาทขายหมดเกลี้ยง

31 ต.ค. 2566 | 04:03 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ต.ค. 2566 | 04:09 น.

“ธนูลักษณ์” (TNL) ปลื้ม ยอดจองหุ้นกู้ล้นหลาม ต้องเพิ่มวงเงินหุ้นกู้ อีก 200 ล้านบาท เป็น 500 ล้านบาท ขายหมดเกลี้ยง!! หลังนักลงทุนให้ความเชื่อมั่นในทิศทางธุรกิจและฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง

น.ส.สุธิดา จงเจนกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนูลักษณ์ จำกัด (มหาชน) (TNL) เปิดเผยว่า หลังจากที่บริษัทได้ออกและเสนอขายหุ้นกู้ ต่อผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ วงเงินไม่เกิน 300 ล้านบาท ระหว่างวันที่  24-26 ตุลาคม 2566  ที่ผ่านมา โดยแต่งตั้ง บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ ปรากฏว่าได้การตอบรับจากนักลงทุนอย่างล้นหลาม มีนักลงทุนทั้งนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ เสนอความต้องการซื้อเข้ามาจำนวนมาก ทำให้บริษัทได้ตัดสินใจ เพิ่มวงเงินการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้โดยนำหุ้นกู้สำรองมาเสนอขายเพิ่มจำนวน 200 ล้านบาท รวมเป็น 500 ล้านบาท ซึ่งได้ดำเนินการการขายเสร็จสิ้นแล้ว

สำหรับวัตถุประสงค์ของการเสนอขายหุ้นกู้ครั้งนี้ เพื่อนำเงินที่ได้ไปใช้ในการขยายพอร์ตสินเชื่อ และใช้ในการจัดหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขาย จำนวน 400-500 ล้านบาท และเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน จำนวนไม่เกิน   100 ล้านบาท

“TNL ขอขอบคุณผู้ลงทุนทุกท่าน ที่ให้ความไว้วางใจจองซื้อหุ้นกู้ TNL ทำให้การระดมทุนออกหุ้นกู้ประสบความสำเร็จอย่างดี โดยสาเหตุที่นักลงทุนให้การตอบรับการเสนอขายหุ้นกู้ครั้งแรกของบริษัทในครั้งนี้ เพราะมีความมั่นใจในความน่าเชื่อถือของบริษัท และความแข็งแกร่งทางด้านเงินทุน ที่สำคัญยังมีความมั่นใจในทิศทางธุรกิจของบริษัท หลังมีการปรับโครงสร้างองค์กร และปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ โดยสยายปีกเข้าไปทำธุรกิจให้บริการทางการเงิน และอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย ซึ่งเป็นการเพิ่มเครื่องยนต์ใหม่ หรือ New Engines มาเสริมทัพธุรกิจเดิมให้บริษัทเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน”

น.ส.สุธิดา กล่าวต่อว่า หลังจากนี้ บริษัทจะเดินหน้ารุกธุรกิจให้บริการทางการเงินอย่างเต็มที่ ทั้งธุรกิจให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่มีหลักประกัน (Secured Lending) และธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ (AMC) โดยซื้อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่มีหลักประกันจากสถาบันการเงินมาบริหารจัดการ รวมทั้งธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย (Real Estate for Sale) ที่เป็นการลงทุนในบริษัทร่วมทุน (JV) กับบริษัทอสังหาริมทรัพย์อย่าง บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (NOBLE) ขณะที่ยังคงดำเนินธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญที่ยังสามารถสร้างรายได้ให้บริษัทได้อย่างต่อเนื่อง

น.ส.สุธิดา จงเจนกิจ

 

“ปัจจุบัน TNL มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (SPI) และบริษัท               บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (BTSG) โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้ง 2 ราย มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะส่งเสริมให้ TNL เป็นองค์กรที่พร้อมเป็นผู้เล่นที่แข็งแกร่งในธุรกิจใหม่นี้ ขณะที่บริษัทยังมีทีมผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ยาวนานในกลุ่มธุรกิจการเงินที่เป็นธุรกิจใหม่ ที่จะร่วมเป็นพลังผลักดันให้ TNL เป็นผู้เล่นที่สำคัญในธุรกิจนี้ในอนาคต” น.ส.สุธิดากล่าว

ทั้งนี้ ณ 30 มิถุนายน 2566  TNL มีส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 10,288 ล้านบาท และมีหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำเพียง 0.18 เท่า การออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ยังอยู่ในวิสัยที่ไม่เกินความสามารถของบริษัท.