ต้นปี 2566 ถึงปัจจุบัน มีบริษัทจดทะเบียที่ที่เสนอขาย IPO รวมทั้งหมด 37 บริษัท (SET+ mai) มูลค่าระดมทุน 30,000.47 ล้านบาท แต่ในจำนวนนี้พบว่ามีหุ้นที่ยืนเหนือราคา IPO ได้เพียง 10 บริษัท แต่ที่เหลืออีก 27 บริษัท ราคาอยู่ระดับต่ำกว่า IPO โดยเฉพาะ 7 หุ้นน้องใหม่ล่าสุด ที่เข้า(เทรดวันแรกช่วงปลายต.ค.- ต้นพ.ย.66 ) แต่ละตัวติดลบในระดับ 15 - 40%
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ในปีนี้และปี 2567 ตลท.คาดอยู่แล้วว่าจะมี IPO เข้ามาระดมทุนในตลาดมาก โดยแต่ละปีจะมีหุ้น IPO ไทยจะมีประมาณ 20-40 บริษัท และไทยยังอยู่ในอันดับต้น ๆ ของอาเซียนและเป็นท็อป 5 ของเอเซียมาตลอด
อย่างไรก็ตาม มูลเหตุที่ทำให้ราคา IPO ปีนี้ร่วง เกิดจาก 3 ปัจจัย นั่นคือ
1.เงินทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ปีนี้โฟลว์ไหลออกจากตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ร่วม 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แตกต่างจากปีที่แล้วที่โฟลว์ไหลเข้าสูงถึง 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นโฟลว์ระยะยาวของนักลงทุนต่างชาติและสถาบันที่ค่อนข้างแอคทีฟ ทำให้ดีมานด์จากต่างประเทศไม่มี จึงเป็นข้อจำกัดต่อหุ้น IPO ,
2.บรรกาศ sentiment การลงทุนที่หายไป และ 3.ตลาดหุ้นไทยเกิด 2 เคส คือกรณีของหุ้นบมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) และกรณีของบมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK ) ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ซึ่งในประเด็นนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ และหน่วยงานกำกับที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมแก้ไขประเด็นนี้ทั้งการปรับปรุงกฏเกณฑ์ /บูรณาการทำงานร่วม แต่ต้องใช้เวลา
"โฟลว์ระยะยาวและเงินทุนต่างประเทศ ถือเป็น 2 ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อดีมานด์และราคา IPO ในปีนี้ค่อนข้างมาก จากการที่ดอกเบี้ยตลาดโลกปีนี้อยู่ระดับสูง สภาพคล่องลด นักลงทุนต่างชาติหันไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อย จะเห็นว่า IPO ที่ออกมาแต่กลับไม่มีเงินเข้าลงทุน จึงมีผลกระทบราคา ทั้งนี้สิ่งที่ตลท.จะเร่งทำต่อไปคือทำอย่างไรให้นักลงทุนมีข้อมูลมากขึ้น เกี่ยวกับไอพีโออาทิข้อมูลบริษัท และความสามารถทำกำไร ฯลฯ " กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ กล่าว