บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN ผู้ถือครองลิขสิทธิ์คอนเทนต์ระดับโลกและเจ้าของลิขสิทธิ์มิสยูนิเวิร์ส ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมจัดงานประกวดมิสยูนิเวิร์ส ครั้งที่ 72 ที่ ประเทศเอลซัลวาดอร์ร่วมกับพันธมิตร ซึ่งจะมีการถ่ายทอดสด เพื่อออกอากาศในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ช่วงวันที่ 15-18 พฤศจิกายน 2566 นี้
ล่าสุดได้สร้างการสั่นสะเทือนให้กับวงการตลาดทุนหลังจาก "แอน" จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้การ JKN แจ้งมติคณะกรรมการที่อนุมัติให้บริษัทยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและเสนอผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง โดยได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการเรียบร้อยแล้วในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566
สำหรับแนวทางของแผนฟื้นฟูกิจการเบื้องต้น จะมีการปรับโครงสร้างกิจการและโครงสร้างทางการเงินให้สอดคล้องกับสมมติฐานทางการเงินและสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ตลอดจนแก้ไขปัญหาของกิจการในส่วนของเงินทุนหมุนเวียน เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท รวมถึงการปรับโครงสร้างภายในองค์กร
ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ ผ่อนผันในเรื่องอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้บริษัทสามารถสร้างรายรับจากการประกอบกิจการและนำมาจัดสรรชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้อย่างครบถ้วน และบริษัทยังคงดำเนินกิจการต่อไปได้ และการได้รับเงินสนับสนุนทางด้านการเงินจากแหล่งเงินทุน โดยได้รับจากผู้ลงทุนรายใหม่ หรือสถาบันการเงินเพื่อเป็นการหมุนเวียนในกิจการของบริษัท
นอกจากนั้นยังจะจัดหาแนวทางการดำเนินการขายทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือก่อให้เกิดรายได้ เพื่อนำเงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินดังกล่าวมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายและจัดเตรียมแผนงาน และกลยุทธิ์ในการบริหารสภาพคล่องของบริษัท และการปรับปรุงระบบ โครงสร้างภายในองค์กรและการพัฒนาต่อยอดธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ
ทันทีที่ JKN แจ้งข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หุ้น JKN ดิ่งติดฟลอร์ทันที ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรก เพราะก่อนหน้า JKN ได้แจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า ไม่สามารถจ่ายหนี้ให้กับผู้ถือหุ้นกู้ ราว 600 ล้านบาท ได้ตามกำหนดที่จะครบไถ่ถอนวันที่ 1 กันยายน 2566 โดยสามารถจ่ายได้เพียงบางส่วนเท่านั้น แม้ว่าพยายามสรรหาแหล่งเงินทุนหลากหลายวิธีการแล้วก็ตาม ซึ่งในวันนั้น ราคาหุ้น JKN ลดลงถึง 29% เช่นกัน
ครั้งนั้น “แอน” จักรพงษ์ ยอมรับว่า เกิดมาจากปัญหาขาดสภาพคล่อง หลังจากบริษัทได้ลงทุนในธุรกิจต่อเนื่อง โดย 1 ในนั้นก็คือ การเข้าซื้อมิสยูนิเวิร์ส ด้วยเงินมากถึง 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อแลกมาด้วย กลุ่มธุรกิจ MUO ทั้งหมด แต่เศรษฐกิจไม่สดใสอย่างที่คิด เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงจนกระทบธุรกิจบริษัท ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ไม่ปล่อยกู้ จึงเกิดเป็นช่องว่างให้เกิดการขาดสภาพคล่อง
ดังนั้นการจัดหาแหล่งเงินทุนส่วนใหญ่ของ JKN จึงมาจากการออกหุ้นกู้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจากการตรวจสอบงบการเงิน JKN ณ งวดครึ่งปี ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 พบว่า JKN มีมูลหนี้คงค้าง 5,027 ล้านบาท แยกหนี้หุ้นกู้และหุ้นกู้แปลงสภาพถึง 4,200 ล้านบาท คิดเป็น 83.57% กู้ยืมจากสถาบันการเงิน 809 ล้านบาท สัดส่วน 16% ที่เหลืออีก 16.75 ล้านบาท หรือราว 0.33%
ทั้งนี้ JKN มีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ 5,027 ล้านบาท แต่มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดเพียง 112.50 ล้านบาท จึงมีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถชำระหนี้ระยะสั้นที่จะถึงกำหนดได้ โดย JKN มีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระถึง 3,203.6 ล้านบาท แบ่งเป็น
นอกจากนี้ JKN ยังมีหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุน หรือที่เรียกว่าหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ ซึ่งไม่มีกำหนดชำคืนอีก 1,015.30ล้านบาท เมื่อรวมจำนวนหุ้นกู้ทั้งหมดจะสูงถึง 4,218.9 ล้านบาท ซึ่งล่าสุด JKN ได้ส่งหนังสือแจ้ง ผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นกู้ สถาบันการเงิน คู่ค้า เจ้าหนี้ และผู้ที่เกี่ยวข้องถึงเรื่องการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและเสนอผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,939 วันที่ 12 - 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566