แฉไส้ในประชุมบอร์ด JKN ลงมติยื่นฟื้นฟูกิจการ ไร้ 2 กรรมการเข้าร่วม

16 พ.ย. 2566 | 06:02 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ย. 2566 | 07:08 น.

เผย JKN แจ้งตลท.แก้ไขข้อมูล"5 กรรมการลาออก"ฉุกเฉิน ฟ้องชัด 2 กรรมการไม่ถูกเรียกเข้าประชุมรอบ 7 พ.ย.66 ซึ่งมีมติอนุมัติยื่นฟื้นฟู ฯ จับตาแผนฟื้นฟูฯสะดุด เจ้าหนี้คัดค้านหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่เช้าวานนี้ (15 พ.ย.66 ) บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN แจ้ง ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่าบริษัทได้รับหนังสือแจ้งความประสงค์ขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการ และกรรมการชุดย่อยของบริษัทจากกรรมการรวม  5 ท่าน พร้อมระบุเหตุผลการลาออกว่า เนื่องจากติดปัญหาด้านสุขภาพ ภารกิจส่วนตัว และเนื่องจากทิศทางและกลยุทธ์การแก้ไขปัญหาสภาพคล่องและความไม่แน่นอนของการทำธุรกิจในอนาคตของบริษัท

 

แฉไส้ในประชุมบอร์ด JKN ลงมติยื่นฟื้นฟูกิจการ ไร้ 2 กรรมการเข้าร่วม

แต่ในช่วงดึกวันเดียวกัน ( เวลา  22.30 น.) ปรากฏว่า JKN ได้แจ้งแก้ไขข้อมูลเหตุการณ์ลาออกของกรรมการ 2 ท่าน ได้แก่

  • 1. นายยุทธพงศ์ มา ลาออกจากตำแหน่งกรรมการ จากเดิมที่ระบุเหตุผลว่า ทิศทางและกลยุทธ์การแก้ไขปัญหาสภาพคล่องและความไม่แน่นอน แก้ไขเป็น "เนื่องจากไม่ได้รับเชิญให้เข้าประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 10/2566 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งได้มีมติให้บริษัทยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง และมีความกังวลต่อทิศทางและกลยุทธ์การแก้ไขปัญหาสภาพคล่องและความไม่แน่นอนของการทำธุรกิจ ในอนาคตของบริษัท มีผลตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566เป็นต้นไป
  • 2. นายเอกภิสิทธิ์ สุทธิกุลพานิช ลาออกจากตำแหน่งกรรมการ จากเดิมที่ระบุเหตุผลเพียง ทิศทางและกลยุทธ์การแก้ไขปัญหาสภาพคล่องและความไม่แน่นอน แก้ไขเป็น เนื่องจากไม่ได้รับเชิญให้เข้าประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่10 / 2566 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งได้มีมติให้บริษัทยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล์มละลายกลาง และมีความกังวลต่อทิศทางและกลยุทธ์การแก้ไขปัญหาสภาพคล่องและความไม่แน่นอนของการทำธุรกิจ ในอนาคตของบริษัท มีผลตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป

แฉไส้ในประชุมบอร์ด JKN ลงมติยื่นฟื้นฟูกิจการ ไร้ 2 กรรมการเข้าร่วม

ทั้งนี้มีรายงานว่าทั้ง 2 กรรมการ เป็นกรรมการบริษัท JKN ในสัดส่วนของเจ้าหนี้หุ้นกู้แปลงสภาพที่มาจาก “มอร์แกน สแตนลีย์” ต้องจับตาว่า 2 กรรมการที่ไม่ได้รับเชิญให้เข้าประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 10/2566 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566  ซึ่งเป็นวันที่มีมติให้บริษัทยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง" จะส่งผลให้การประชุมบอร์ดวันดังกล่าวมีปัญหาทางกฎหมาย? และส่งผลต่อการขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ต้องสะดุดจากการที่เจ้าหนี้คัดค้าน เพราะเหตุดังกล่าวด้วยหรือไม่

 

ตัวแทนผู้ซื้อหุ้นกู้ ร้อง ก.ล.ต. ตรวจสอบ JKN เชิงลึก 

ก่อนหน้านี้ตัวแทนผู้เสียหายจากการซื้อหุ้นกู้ JKN ได้ร้องเรียนต่อ รศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) 4 เรื่อง คือ

  • 1.ขอให้ตรวจสอบข้อมูลงบการเงินของบริษัท JKN กรรมการบริษัทและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นกรณีพิเศษ (Special Audit)
  • 2.ติดตามกรรมการบริหาร ผู้แทนหุ้นกู้ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้มาชี้แจงเกี่ยวกับการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ โดยให้มีการจัดประชุมโดยก.ล.ต.
  • 3.พิจารณามีการตั้งกฎเกณฑ์ให้บริษัทจดทะเบียนที่จะยื่นเข้าแผนฟื้นฟูกิจการต้องมีการตรวจสอบบัญชีเป็นกรณีพิเศษเพื่อรายงานต่อก.ล.ต. และ
  • 4.กำหนดกฎเกณฑ์สำหรับผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ในการดูแลผู้ถือหุ้นกู้ในกรณีเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ

โดยมีประเด็นที่น่าสงสัยและต้องมีการตรวจสอบเชิงลึกในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

1.การลงทุนโดยเฉพาะการซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนต์จากต่างประเทศ และธุรกิจประกวดนางงามในต่างประเทศ ทำให้จำเป็นต้องจ่ายต้นทุนค่าลิขสิทธิ์คอนเทนต์ต่าง ๆ โดยมีการแจ้งสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนสูงถึง 7,728.85 ล้านบาท มูลค่าลูกหนี้การค้าสูงถึง 2,307.01 ล้านบาท ณ สิ้น มิ.ย. 2566 ทำให้เป็นที่สงสัยว่าการลงทุนดังกล่าวเป็นการลงทุนที่มีอยู่จริงหรือไม่ ราคาซื้อขายต่าง ๆ เป็นราคายุติธรรมหรือไม่ และมีการได้รับเงินทอนจากการซื้อขายหรือไม่ ซึ่งทางบริษัทเองมิได้มีการสำรองเงินเพื่อชำระหนี้กับเจ้าหนี้จนเป็นเหตุให้ขาดสภาพคล่องในการชำระหนี้

2.การร่วมมือกับบริษัท ท็อปนิวส์ ดิจิทัล มีเดีย จำกัด นั้น ไม่มีการชี้แจงว่าเงินลงทุนจำนวนนี้อยู่ที่ไหน เหตุใดบริษัทจึงไม่นำมาชำระหนี้ให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้

3.หลังจากที่มีเหตุการณ์ผิดนัดชำระหนี้ของบริษัท แต่การดำรงชีวิตและไลฟ์สไตล์ที่ทาง นายจักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ (CEO) ที่นำเสนอต่อสื่อต่าง ๆ กับพบว่ามีทรัพย์สินส่วนตัวมากมาย ใช้ชีวิตหรูหรา ซึ่งทำให้เป็นที่น่าสงสัยว่าเป็นการโอนทรัพย์สินของบริษัทไปเป็นส่วนตัวและเครือญาติ หรือไม่

ทั้งนี้ ด้วยเหตุข้างต้น ทางผู้ถือหุ้นกู้จึงขอให้ก.ล.ต.ดำเนินการดังต่อไปนี้ 4 ข้อ ได้แก่

1.ตรวจสอบข้อมูลงบการเงินและเส้นทางการเงินของบริษัท รวมทั้งกรรมการผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นกรณีพิเศษ (Special audit) เนื่องจากพบว่าสถานะทางการเงินของบริษัทมิได้อยู่ในภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว ขณะที่บริษัทยังมีสินทรัพย์และลูกหนี้ค้างจ่ายจำนวนมาก รวมทั้งมีการขยายธุรกิจการลงทุนขนาดใหญ่ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา, สิงคโปร์ เป็นต้น เพื่อมิให้เกิดกรณีอาศัยประโยชน์จากช่องว่างทางกฎหมายซ้ำ ใคร่ขอความอนุเคราะห์ให้ก.ล.ต.พิจารณาการทำ Special audit (ทำการตรวจสอบพิเศษ) เป็นข้อบังคับของบริษัทจดทะเบียนในหลักทรัพย์ที่ต้องยื่นต่อก.ล.ต.ก่อนเข้าสู่กระบวนฟื้นฟู หรือล้มละลายทางธุรกิจต่อไป

2.ขอให้พิจารณามีการอายัดทรัพย์สินของบริษัทและกรรมการที่เกี่ยวข้อง และห้ามผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเดินทางออกราชอาณาจักรจนกว่าจะพิจารณาคดีแล้วเสร็จ เนื่องจากพบว่ามีการโยกย้ายนำเงินจำนวนมากไปลงทุนในธุรกิจต่างประเทศ ทำให้ยากต่อการติดตามข้อมูลทางการเงิน

3.ขอให้ทางก.ล.ต.แจ้งผู้แทนหุ้นกู้ดำเนินการยื่นคัดค้านแผนฟี้นฟูกิจการโดยเร่งด่วน มิให้เกิดเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ชอบธรรม และทำลายความเชื่อมั่นในการลงทุนอย่างร้ายแรง การยื่นแผนฟื้นฟูของบริษัทเป็นการกระทำที่มิชอบ เนื่องจากมิได้แสดงความจำนงค์กับตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้ ผู้ถือหุ้นกู้ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทราบถึงแนวทางการปฏิบัตินี้ แต่เป็นการแสดงความจงใจที่จะอาศัยช่องว่างทางกฎหมายเพื่อให้เกิดภาวะ automatic stay หรือเกิดภาวะการพักชำระหนี้อัตโนมัติ

4.ขอให้ก.ล.ต.เร่งให้ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้มีการเรียกชำระหนี้หุ้นกู้ทั้งหมดโดยพลันภายใน 30 วัน เนื่องจากการผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวทำให้เกิด Default Payment หุ้นกู้ทุกรุ่นของบริษัท JKN จากการเข้าสู่ขบวนการฟื้นฟูของบริษัท JKN เกิดขึ้นโดยมิชอบ และไม่ได้รับความเห็นชอบจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย