ITD แบกต้นทุน 3 โปรเจ็กต์ยักษ์หลังแอ่น 1.5 หมื่นล้านบาท

13 ธ.ค. 2566 | 07:43 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ธ.ค. 2566 | 07:45 น.

เปิดรายงานผู้สอบบัญชี ITD พบแบกต้นทุน 3 โครงการยักษ์ 1.58 หมื่นล้าน แถมเขตเศรษฐกิจทวาย 7.8 พันล้านบาท ถูกยกเลิกสัญญาเหตุผิดเงื่อนไข ส่วนเหมืองแร่โปแตช ต้องควัก 5.2 พันล้านก่อนเริ่มดำเนินการจริง โครงการโมซัมบิกอีก 2.6 พันล้านบาท

บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด(มหาชน) หรือ “ ITD ” บริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ของไทย ตกเป็นข่าวเกิดปัญหาสภาพคล่องจนทำให้ 5 แบงก์พาณิชย์ ต้องเข้ามาช่วยด้วยการลงขันจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ไปเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในกลุ่มของคนในแวดวงตลาดทุน

“ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจสอบพบว่า หุ้นกู้ ITD มียอดคงเหลือ ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 จำนวน 14,374.87 ล้านบาท โดยมีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระปี 2567 รวม 5,670 ล้านบาท แบ่งเป็น หุ้นกู้รุ่น ITD24A ที่จะครบกำหนดชำระในวันที่ 15 กุมภาพันธุ์ 2567 วงเงิน 2,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 5.25% และหุ้นกู้ที่จะครบชำระในวันที่ 4 ธันวาคม 2567 จำนวน 2 รุ่น คือ ITD24DA วงเงิน 2,455 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 5.8% และหุ้นกู้รุ่น ITD24DB วงเงิน 1,215 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 5.0%

 

 

 

ทั้งนี้ที่ผ่านมา หนี้สินรวมของ ITD เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 88,107.74 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 เพิ่มเป็น 107,604.88 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 19,497.14 ล้านบาท ขณะที่สินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นจาก 103,789.90 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 เป็น 119,373.34 ล้านบาท ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 หรือเพิ่มขึ้น 15,583.44 ล้านบาท ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงจาก 13,135.08 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 เหลือ 8,456.13 ล้านบาท ณ วันที่ 30 กันยายน 2566

ขณะที่ผลการดำเนินงานของบริษัทขาดทุนอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2562-2565 จากปัญหาการระบาดของโควิด-19 เพิ่งพลิกมีกำไรในปีนี้ โดยงบ 9 เดือนมีกำไรสุทธิ 379.05 ล้านบาท

ปัญหาการขาดสภาพคล่องของ ITD เริ่มส่งสัญญาณตั้งแต่ปี 2565 หลังจากบริษัทไม่สามารถดำรงอัตราส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นตามเงื่อนไขของหุ้นกู้และธนาคารบางแห่งในอัตราส่วนไม่เกินกว่า 3.0 เท่าได้ จนเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ธนาคารได้ผ่อนผันเหตุผิดสัญญากรณีที่บริษัทฯ มีสัดส่วน Interest Bearing Debt to Equity สำหรับงบการเงินรวมรอบสิ้นปีบัญชี 2565 เกิน 3.0 เท่า

ขณะที่บริษัท แกรนท์ ธอนตัน จำกัด ผู้ตรวจสอบบัญชี ได้จัดทำหมายเหตุประกอบงบการเงินของ ITD ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 เกี่ยวกับต้นทุนและค่าใช้จ่ายระหว่างการพัฒนา 3 โครงการขนาดใหญ่ของ ITD และบริษัทย่อยกว่า 15,824 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการสัมปทานเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย 7,863.42 ล้านบาท โครงการสัมปทานเหมืองแร่โปแตช 2,293.49 ล้านบาท และรายจ่ายสำรวจและพัฒนาแหล่งแร่ตั้งพัก 2,987.73 ล้านบาท และโครงการก่อสร้าง ในโมซัมบิก 2,679.36 ล้านบาท

บริษัท แกรนท์ ธอนตัน จำกัดระบุไว้ในรายงานผู้ตรวจสอบบัญชีว่า ในปี 2553 ได้สิทธิสัมปทานพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายระยะเริ่มแรก (DSEZ Initial Phase) เพื่อพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 27 ตารางกิโลเมตร และโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้อง 8 โครงการ ในเมียนมา ลงทุนพัฒนาโครงการทวายรวม 7,863.42 ล้านบาท

ต่อมาวันที่ 30 ธันวาคม 2563 คณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย แจ้งยกเลิกสิทธิสัมปทานโครงการในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายระยะเริ่มแรก โดยให้เหตุผลว่า กลุ่มบริษัทผู้รับสัมปทานผิดเงื่อนไขในสัญญาสัมปทานเกี่ยวกับการจ่ายชำระค่าสิทธิสัมปทานรายปี และผิดเงื่อนไขในสัญญาสัมปทานโครงการนิคมอุตสาหกรรมและถนนสองเลนเชื่อมต่อพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและชายแดนไทย-เมียนมา (Initial Industrial Estate and Two-lane Road) ที่กำหนดเพิ่มเติม

จากนั้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 กลุ่มบริษัทผู้รับสัมปทานได้ส่งหนังสือโต้แย้งเกี่ยวกับเหตุแห่งการยกเลิกสิทธิสัมปทาน เพื่อชี้แจงกลับไปยังคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โดยเห็นว่า การกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมนั้น ทางกลุ่มบริษัทผู้รับสัมปทานไม่ได้เห็นชอบด้วย เพราะเป็นการกำหนดขึ้นเพียงฝ่ายเดียวของคู่สัญญา ซึ่งกลุ่มบริษัทผู้รับสัมปทานได้เสนอไปยังคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เพื่อขอเจรจาหารือในประเด็นดังกล่าว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรอหน่วยงานดังกล่าวพิจารณาหารือร่วมกัน

ผู้ตรวจสอบบัญชีให้ความเห็นว่า แม้ผลกระทบจากการแจ้งยกเลิกสิทธิสัมปทานทุกโครงการในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายระยะเริ่มแรก ยังไม่สามารถสรุปได้ อีกทั้งสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจภายในของเมียนมา ยังมีความไม่แน่นอนที่อาจกระทบต่อการพัฒนาโครงการดังกล่าวในอนาคต จึงไม่สามารถประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อยอดคงเหลือของต้นทุนระหว่างพัฒนาสำหรับสิทธิในสัมปทาน-โครงการทวาย ในงบการเงินรวมและเฉพาะของบริษัทและต่อมูลค่าเงินลงทุนในบริษัทย่อยและเงินให้กู้ยืมระยะยาวแก่กลุ่มบริษัทย่อยในงบการเงินเฉพาะของบริษัท

ส่วนโครงการเหมืองแร่โปแตช บริษัทได้ยื่นคำขอประทานบัตรการทำเหมืองใต้ดินประเภทแร่โปแตชในปี 2547 และได้รับอนุญาตประทานบัตรการทำเหมืองดังกล่าวเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565 ทั้งนี้เพื่อให้สามารถเริ่มดำเนินธุรกิจเหมืองแร่ บริษัทย่อยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในการออกประทานบัตรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง บริษัทย่อยมีต้นทุนในการได้มาซึ่งสิทธิในเหมืองแร่โปแตชจำนวน 2,293.49 ล้านบาทและมีรายจ่ายในการสำรวจและพัฒนาแหล่งแร่ตั้งพัก 2,987.73 ล้านบาท ซึ่งฝ่ายบริหารประเมินว่า บริษัทย่อยจะสามารถดำเนินการได้ตามเงื่อนไขและสามารถเริ่มดำเนินธุรกิจเหมืองแร่ได้ตามกำหนดเวลาและไม่มีข้อบ่งชี้ของการด้อยค่าเงินลงทุนดังกล่าว

ขณะที่ค่าใช้จ่ายสัมปทานรอตัดบัญชี ต้นทุนโครงการระหว่างพัฒนาโครงการในสาธารณรัฐโมซัมบิก 2,679.36 ล้านบาท เป็นต้นทุนการได้มา ซึ่งสิทธิสัมปทานและต้นทุนพัฒนาโครงการก่อสร้างทางรถไฟสำหรับลำเลียงของหนักและก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก โดยบริษัทได้ลงทุนผ่านบริษัทย่อยแห่งหนึ่งในต่างประเทศ ซึ่งได้รับสิทธิสัมปทานจากหน่วยงานรัฐบาลของโมซัมบิก และตั้งบริษัทย่อยในต่างประเทศอีกแห่งหนึ่ง เพื่อดำเนินการรับเหมาก่อสร้างโครงการดังกล่าว บริษัทมีเงินลงทุนในบริษัทย่อย 58.16 ล้านบาท และเงินให้กู้ยืมระยะยาวแก่กลุ่มบริษัทย่อยดังกล่าว 282.08  ล้านบาท

สำหรับความคืบหน้าของโครงการระหว่างพัฒนาดังกล่าว ขึ้นอยู่กับการหาผู้ร่วมลงทุนเพื่อร่วมดำเนินธุรกิจในอนาคต ซึ่งปัจจุบันผู้ร่วมลงทุนกลุ่มหนึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ เพื่อร่วมลงทุนในโครงการต่อไปและการได้รับอนุมัติเงินสนับสนุนโครงการจากสถาบันการเงิน เนื่องจากบริษัทย่อยต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากในการพัฒนา

 

หน้า 1  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,948 วันที่ 14 - 16 ธันวาคม พ.ศ. 2566