สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีเป้าหมายในการส่งเสริมให้ผู้ลงทุนมีศักยภาพในการสร้างสุขภาพทางการเงินที่ดี โดยสนับสนุนให้ประชาชนใช้ตลาดทุนเป็นแหล่งสะสมความมั่งคั่งได้อย่างเหมาะสมและตอบโจทย์ความต้องการ
ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มทางเลือกการลงทุนให้กับผู้ลงทุนและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ก.ล.ต. จึงได้ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการและร่างประกาศในการปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกองทุนรวมอีทีเอฟ ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 โดยผู้แสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่เห็นด้วยกับหลักการและร่างประกาศตามที่ ก.ล.ต. เสนอ
ก.ล.ต. จึงออกประกาศปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ กองทุนรวมอีทีเอฟ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
(1) เพิ่มให้กองทุนรวมอีทีเอฟ สามารถลงทุนโดยใช้กลยุทธ์การบริหารจัดการในลักษณะเชิงรุกได้ เพื่อมุ่งหวังผลตอบแทนที่สูงกว่า benchmark (active ETF)
(2) ปรับปรุงแนวทางการพิจารณาของดัชนีอ้างอิงให้มีความชัดเจนและไม่เป็นอุปสรรคในทางปฏิบัติ ซึ่งการพิจารณาดัชนีอ้างอิงจะนำมาใช้บังคับกองทุนรวมทุกประเภทที่มีนโยบายสร้างผลตอบแทนอ้างอิงกับดัชนี เช่น กองทุนรวมอีทีเอฟที่อ้างอิงดัชนี (index fund) หรือกองทุนรวมที่ลงทุนในกองทุนรวมทุกประเภทที่มีนโยบายสร้างผลตอบแทนอ้างอิงดัชนี เป็นต้น
(3) ปรับปรุงให้กองทุนรวมอีทีเอฟ สามารถลงทุนในทรัพย์สินที่กองทุนรวมทั่วไปสามารถลงทุนได้ โดย บลจ. มีหน้าที่ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมและสภาพคล่องของทรัพย์สินที่ลงทุน
(4) ปรับปรุงการเปิดเผยหลักทรัพย์ที่กองทุนรวมลงทุนหรือมีไว้ (portfolio holding) โดยให้เปิดเผยข้อมูลรายวันต่อผู้ลงทุนผ่านช่องทางที่เข้าถึงได้ง่าย ยกเว้นกรณี active ETF ซึ่งอาจพิจารณาตามความเหมาะสมของทรัพย์สินที่ลงทุน แต่จะต้องเปิดเผยข้อมูล portfolio holding รายไตรมาสเป็นอย่างน้อย
(5) ปรับปรุงการพิจารณาดัชนีอ้างอิง กลยุทธ์การลงทุน และการเปิดเผยข้อมูลของ กองทุนรวมอีทีเอฟ ต่างประเทศ ที่นำมาเสนอขายในประเทศให้สอดคล้องกับกองทุนรวมอีทีเอฟที่จัดตั้งในไทย
ทั้งนี้ ประกาศปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ลงในราชกิจจานุเบกษาและมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป และสำหรับกองทุนรวมอีทีเอฟที่จัดตั้งก่อนวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ ต้องเปิดเผยข้อมูลตามหลักเกณฑ์ใหม่ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ