วันนี้ (26 ธ.ค.66 ) นายวิษณุ เทพเจริญ ประธานกรรมการบริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) หรือ NUSA แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 ฝ่ายบริหารของบริษัทฯ ได้รับหมายเรียกและสําเนาคําฟ้อง จากนายประเดช กิตติอิสรานนท์ กับพวกรวม 6 คน โจทก์ฟ้อง NUSA และกรรมการ รวม 8 คน เป็นจําเลย ในคดีแพ่ง เลขคดีดําที่ พ 6055/2566 ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2566 โดยวิธีปิดหมาย ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2566
โดยวัตถุประสงค์ขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 12/2566 ลงวันที่ 7 ธันวาคม 2566 วาระ 5.1 เรื่องการขายหรือจําหน่ายทรัพย์สิน 6 รายการ และห้ามจําหน่ายนั้น
ฝ่ายบริหารของบริษัทฯ ขอเรียนให้ทราบ ดังนี้
ทั้งนี้การเสนอวาระพิจารณาการจําหน่ายทรัพย์สินเป็นเพียงการเสนอเพื่อขออนุมัติหลักการ มิใช่การจําหน่ายในทางปฏิบัติเพราะฝ่ายบริหารฯ ต้องทําการสํารวจความต้องการของผู้ซื้อ จากนั้นจะคัดเลือกสินทรัพย์ประมาณ 1 หรือ 2 รายการเพื่อทําการขายโดยเปิดเผย ตามขั้นตอน ระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นการขายสินทรัพย์ที่ยังไม่ได้ดําเนินการในการขาย ย่อมไม่เป็นการลิดรอนสิทธิของโจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ แต่อย่างใด คดีฟ้องของโจทก์จึงไม่มีมูล
วันเดียวกัน ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อย NUSA ได้รวมตัวเพื่อยื่นหนังสือต่อ DSI ขอให้ตรวจสอบกรรมการบริษัทเนื่องจากเชื่อว่าดำเนินการไม่โปร่งใสในการอนุมัติให้ผู้บริหารขายทรัพย์สินของบริษัทออกไป 6 รายการ เป็นมูลค่ากว่า 1.1 หมื่นล้านบาท หรือเกือบ 70% ของทรัพย์สินทั้งหมดของบริษัท ซึ่งกรรมการฝั่งของนายประเดช กิตติอิสรานนท์ หนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ได้ยื่นฟ้องร้องดำเนินคดีกับกรรมการที่ดำเนินการดังกล่าวไปแล้ว
นายเสรี หัตถะรัชต์ ตัวแทนกลุ่ม กล่าวว่า ผู้ถือหุ้นรายย่อยได้รับความเสียหายจากการลงทุนใน NUSA เพราะการอนุมัติขายสินทรัพย์ครั้งใหญ่นี้จะกระทบต่อบริษัทอย่างมหาศาล โดยยังไม่ได้แจ้ง หรือจัดการประชุมให้ผู้ถือหุ้นได้รับทราบ หรืออนุมัติ เชื่อว่าเป็นการปกปิดธุรกรรมอันมีสาระสำคัญ อาจเข้าข่ายหลอกลวงนักลงทุน ละเมิดสิทธิผู้ถือหุ้น และยังเข้าข่ายผิดพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
"หากหน่วยงานรัฐไม่ช่วยยับยั้งการกระทำดังกล่าวโดยเร็ว หากเกิดความเสียหาย จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เพราะมีผู้ถือหุ้นรายย่อยใน NUSA เกือบ 1 หมื่นราย ในจำนวนนี้มีผู้ถือหุ้นมากมายที่เข้ามาลงทุนใน NUSA เพราะเชื่อตามที่ฝ่ายบริหารนำเสนอว่าบริษัทจะเข้าสู่ธุรกิจพลังงาน จะมีรายได้ที่มั่นคง นักลงทุนก็คล้อยตาม เพราะช่วงไวรัสโควิด-19 ธุรกิจพลังงานแทบไม่ได้รับผลกระทบ จึงพากันเข้ามาลงทุน แต่มาวันนี้กลับมีมติขายธุรกิจพลังงานทิ้งทั้งหมด โดยไม่แจ้งผู้ถือหุ้น แบบนี้เข้าข่ายหลอกลวงนักลงทุนหรือไม่" นายเสรี กล่าวและว่าต่อ
"นักลงทุนรายย่อยไม่เชื่อมั่นในกระบวนการขายทรัพย์สินว่าจะเป็นไปอย่างโปร่งใส เพราะจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาผู้บริหาร NUSA มักถูกหน่วยงานกำกับดูแลทั้งผู้ตรวจสอบบัญชี สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เรียกชี้แจงบ่อยครั้ง กรณีล่าสุดที่ผู้บริหาร NUSA นำโครงการอสังหาฯ ของบริษัทไปขายให้กับบริษัทที่มีญาติเป็นกรรมการในราคาต่ำกว่าตลาด ,เรื่องการเข้าซื้อธุรกิจโรงแรม Panacee Grand Hotel Roemerbad ในประเทศเยอรมนี จ่ายเงินไปแล้ว 711 ล้านบาท จากทั้งหมด 740 ล้านบาท แต่ผู้รับเงินไม่ใช่เจ้าของโรงแรม มีความผิดปกติหรือไม่ และภายหลังมาประกาศเปลี่ยนจากซื้อธุรกิจโรงแรมเป็นการซื้อหุ้นบริษัทที่เป็นเจ้าของโรงแรมแทน ทั้งที่จ่ายเงินไปแล้ว ผลลัพธ์ตอนนี้ NUSA เลยได้หุ้นบริษัทเยอรมันที่มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน 407 ล้านบาท ขณะที่โรงแรมยังเปิดบริการไม่ได้ จึงไม่มีรายได้"
นายเสรี กล่าวอีกว่า เชื่อว่าการดำเนินธุรกรรมหลายรายการที่ผ่านมาอาจเข้าข่ายไม่โปร่งใส จนถูกเรียกชี้แจงบ่อยครั้ง และเชื่อว่าเหตุการณ์เหล่านั้นอาจมีส่วนทำให้ NUSA ขาดทุนติดต่อกันยาวนานถึง 8 ปี มีผลขาดทุนสะสมมากกว่า 3 พันล้านบาท
ผู้ถือหุ้น 10 รายแรกของ NUSA (ณ วันที่ 18 ต.ค.2566)