ตลาดหุ้นกู้ไทยยังสร้างความกังวลใจให้นักลงทุนและทางการต่อเนื่องจากปีก่อน หลังจากปีที่ผ่านมา มีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ประสบปัญหาสภาพคล่อง จนไม่สามารถชำระคืนหนี้ตามระยะเวลา อย่างบริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) หรือ (JKN) หรือแม้แต่ยักษ์ใหญ่อย่างบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์จำกัด (มหาชน)หรือ ITD ที่มีกระแสข่าวว่า เฉียดที่จะไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ได้ หากไม่สามารถเจรจากับธนาคารพาณิชย์ 5 แห่งให้ลงขันปล่อยสินเชื่อเติมทุนให้ได้ทันกำหนด
ก่อนหน้านั้นยังมีบจ. 4 แห่งที่เคยผิดนัดชำระหุ้นกู้มาแล้ว อย่างบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ STARK บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) หรือ ALL และบริษัท คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) หรือ CGD ที่ขอยืดเวลาไถ่ถอนเพิ่มอีก 1 ปีและแบ่งชำระเงินต้น รวมถึงบริษัท ช.ทวี จำกัด(มหาชน) หรือ CHO ที่ผู้ถือหุ้นกู้อนุมัติยกเลิก Call Default
ตั้งบอร์ดดูแลเฉพาะ
ล่าสุดคณะกรรมการ ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลัง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)และกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีการหารือกับสมาคมตราสารหนี้ไทยและสมาคมจัดการลงทุน (บลจ.) เพื่อหาแนวทางดูแลหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2567
โดยมี 2 แนวคิดที่จะดูแล เพื่อไม่ให้มีปัญหาต่อสภาพคล่องและเกิดการเบี้ยวหนี้ จนกระทบต่อตลาดเงิน ตลาดหุ้นและระบบเศรษฐกิจโดยรวม โดยแนวทางแรกคือ ตั้งกองทุนดูแลหุ้นกู้ เฉพาะที่มีเครดิต เรทติ้ง ส่วนหุ้นกู้อื่นๆ และที่ไม่มีเรทติ้งจะต้องปล่อยให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ไป และอีกแนวทางคือ จะให้กองทุนดูแลทั้งระบบ เพื่อไม่ให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ เพราะไม่เช่นนั้น จะพังทั้งตลาดหุ้นกู้ โดยจะมีการระดมเงินเข้ามาแล้วให้ผลตอบแทน สำหรับคนที่นำเงินมาลงทุนด้วย
ปี 67 ครบดีล 8.9 แสนล้าน
อย่างไรก็ตาม ปี 2567 มีหุ้นกู้เอกชนระยะยาว ที่จะครบกำหนดชำระคืนทั้งสิ้น 890,249.15 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีสัดส่วนประมาณ 10% หรือจำนวน 99,600 ล้านบาทที่เป็นหุ้นกู้ในกลุ่ม High Yield (อันดับเครดิตตํ่ากว่า BBB-)และหุ้นกู้ที่ไม่ได้จัดอันดับเครดิต(Non Rating) ซึ่งขายได้น้อยกว่าที่จดทะเบียนไว้ ทำให้เกิดความไม่แน่นอนในการจะ Rollover Bond ที่จะครบกำหนด (Rollover Risk) และกระทบกับสภาพคล่องของบริษัท หากไม่สามารถหาแหล่งเงินได้ ก็เสี่ยงสูงที่จะผิดนัดชำระหนี้ กระทบต่อผู้ถือหุ้นกู้ ซึ่งมีจำนวนมาก
ในจำนวนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปี 2567 จำนวน 890,249.15 ล้านบาทนั้น มีหุ้นกู้ของเครือซีพีสูงถึง 160,484.5 ล้านบาท เฉพาะเดือนมกราคม มีครบกำหนดสูงถึง 24,559.4 ล้านบาท โดยเป็นหุ้นกู้ของบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัดหรือ DTN 3,781.9 ล้านบาท จากทั้งปี 5,052.2 ล้านบาท บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ MQDC รวม 9,703.6 ล้านบาท และบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัดหรือ TUC อีก 11,073.9 ล้านบาท
รายงานจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ระบุว่า วันที่ 2 มกราคม 2567 พบว่า มีอย่างน้อย 16 บริษัท เสนอขายหุ้นกู้รวมกัน 32 รุ่น อัตราผลตอบแทน 3.10- 7.50% ต่อปี ที่จะเปิดขายช่วงเดือนมกราคม 2567
จ่อตั้งกองทุนอุ้มหุ้นกู้
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ติดตามสถานการณ์หุ้นกู้ภาคเอกชนที่มีกำหนดครบชำระจำนวนมากในปี 2567 อย่างใกล้ชิด พร้อมกับศึกษาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ตามนโยบายของรัฐบาล
ทั้งนี้ในอดีตที่ผ่านมา ช่วงที่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ธปท.ก็ได้มีการออกกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) เพื่อดูแลให้กลไกตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนทำงานได้ในภาวะที่ตลาดการเงินมีความกังวลจากผลกระทบของโควิด-19 คาดว่ามาตรการที่จะดูแลก็จะเป็นลักษณะเช่นนั้นด้วย
อย่างไรก็ตามเชื่อว่า จะไม่มีบริษัทใดที่อยากขาดความเชื่อมั่นในระบบ และท้ายที่สุดแล้วบริษัทจะมีสภาพคล่อง เพื่อนำมาชำระหุ้นกู้ได้ตามกำหนด เพราะหากพิจารณาจากที่ผ่านมาหลังจากที่ธปท.ได้มีการจัดตั้งกองทุน BSF ขึ้นมาดูแลภาคเอกชน สุดท้ายแล้ว ภาคเอกชนก็ไม่ได้เข้ามาขอใช้บริการกองทุนดังกล่าวเลย
นายสงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่าย Investment market Research สายธุรกิจตลาดเงินตลาดทุนธนาคาร กรุงไทยให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า สิ้นปี 2566 ยอดคงค้างหุ้นกู้โดยรวม 4.5 ล้านล้านบาท โดยจะครบกำหนดไถ่ถอนและต้อง rollover ในปี 2567 ราว 1 ล้านล้านบาท
ส่วนสัญญาณการจะผิดนัดชำระ (Default) นั้น ภาพรวมหุ้นกู้ ถ้าเป็นเรทติ้งดี ๆ Investment grade ยังไม่เห็นว่า มีความเสี่ยงอะไรเป็นพิเศษ และอาจได้ประโยชน์จากการลดดอกเบี้ยนโยบาย (ถ้ามี) หรือได้ประโยชน์จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับลดลง ซึ่งก็ได้เห็นบ้างแล้วในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา
“MQDC ก็เห็นข่าว มีการเพิ่มทุน ซึ่งก็เป็นสัญญานที่ดีแต่ก็เห็นด้วยว่าห้ามประมาท นายกฯ ก็ยํ้าหลายครั้ง ให้กลต. ธปท. สมาคมตลาดตราสารหนี้ และอื่น ๆ จับตา และหามาตรการ ไม่ให้เกิดปัญหา default อีก
ดังนั้นสิ่งที่กังวลน่าจะพุ่งเป้าในส่วน High yield และ non-rated มากกว่า ซึ่งก็ต้องดูไปเป็นรายบริษัท เพราะหลายบริษัทก็มีการปรับนโยบาย ทำให้งบดุลมีความเสี่ยงน้อยลง เตรียมสภาพคล่องและเงินสดไว้รองรับการจ่ายคืนหุ้นกู้ เช่น อนันดา ได้ประกาศออกมาเลยว่าเตรียมเงินสดรองรับไว้แล้ว ยอมลด margin ขายราคาตํ่า เปิดโครงการใหม่น้อยลง เพื่อสำรองเงินสด
“การที่ทางการตั้งกรรมการเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะทางการต้องเข้าดับไฟทีละราย เห็นควันตรงไหน เข้าพูดคุย ดับไฟทันที ไม่ให้ลุกลาม เอาแบงก์เอาผู้ถือหุ้นมานั่งคุยกัน ถ้าทำแบบนี้ ก็จะลดและปิดความเสี่ยงได้ เป็นการใช้อำนาจที่ถูกต้องชอบธรรม เพราะถือว่าช่วยเหลือนักลงทุนและตลาดทุนโดยรวม”นายสงวนกล่าว
MQDC ขายหุ้นกู้ 9.7 พันล้าน
สำหรับบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) อยู่ระหว่างรวบรวมความต้องการจองซื้อหุ้นกู้ โดยเตรียมออกหุ้นกู้ 2 รุ่นๆ 1ปี 11เดือน 30 วัน ดอกเบี้ย 6.7% ต่อปี และรุ่น2 อายุ 2 ปี 11 เดือน 29 วัน ดอกเบี้ย 7.10% ต่อปี ซึ่งเป็นหุ้นล่าสุดในรอบ เดือนมกราคม 2567 โดยกำหนดจะชำระเงินในวันที่ 12-16 มกราคม 2567
“ตอนนี้เริ่มสำรวจความต้องการ ทุกบริษัทหลักทรัพย์ที่ร่วมเสนอขายในครั้งนี้ ในส่วนของมูลค่าหุ้นกู้ที่กำหนดออกครั้งนี้ บริษัทยังไม่ได้ระบุ โดยอาจจะสรุปอีกทีช่วงใกล้วันใบจองซื้อออก"
สำหรับเม็ดเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้รอบนี้ลำดับแรก เพื่อชำระหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในรอบเดือนมกราคม ซึ่งมีหลายรุ่น ตั้งแต่ MQDC241A-MQDC241C โดยรวม 7 รุ่นด้วยกัน มูลค่ารวมกว่า 9,700 ล้านบาทคือวันที่ 20 มกราคม หุ้นกู้ครบกำหนด 4,100 ล้านบาท และวันที่ 28 มกราคมอีก 6 รุ่น รวม 5,603.6 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หากดูจากการMQDCแจ้งไว้การออกหุ้นกู้จะมี 2วัตถุประสงค์คือ เพื่อคืนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดภายในเดือนม.ค.2567 และส่วนที่เหลือเพื่อใช้ในโครงการ Cloud 11 (คลาวด์ อีเลฟเว่น)
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,955 วันที่ 7 - 10 มกราคม พ.ศ. 2567