โบรก คาดกำไรแบงก์Q4/66 โต 2 หลัก ดอกเบี้ยขาขึ้นหนุน KBANK- SCB โดดเด่นสุด

15 ม.ค. 2567 | 02:09 น.
อัพเดตล่าสุด :15 ม.ค. 2567 | 02:21 น.

โบรก ประเมินกำไรแบงก์ Q4/66 ลด QoQ แต่เติบโต YoY แรงหนุนจากดอกเบี้ยขาขึ้น - การขยายสินเชื่อ ASPS คาด 8 แบงก์ฟันกำไร 5.5 หมื่นล้าน โตพุ่ง 36% มอง KBANK โดดเด่นสุด เหตุตั้งสำรองหนี้สูงในงวดQ4/65 แล้ว ด้าน KS ประเมินกำไร Q4/66โต 18% ฟันธง SCB กำไรโดดเด่นที่สุด

เข้าสู่การประกาศงบกลุ่มแบงก์งวดไตรมาส 4/2566 ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค.67 นำโดย บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป ( TISCO) ก่อนปิดท้ายด้วยธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ในวันที่ 19 ม.ค.67 คือธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และบมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCB) 

ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัส ( ASPS) คาดกำไรสุทธิกลุ่มแบงก์ 8 ธนาคารใหญ่ที่อยู่ภายใต้การวิเคราะห์ของบริษัทฯ ( BBL, BAY, KBANK, KKP, KTB, SCB,TISCO, TTB) จะอยู่ที่ 5.5 หมื่นล้านบาท (-5.7% QoQ, +36.5% YoY) ซึ่งการลดลง QoQ มีผลมาจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน  ตามฤดูกาล และการตั้งสำรองหนี้สูญ (ECL) ที่ประเมินไว้ใกล้เคียงงวดก่อน หักล้างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NII) ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ที่รับประโยชน์จากวัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้นเป็นครั้งสุดท้าย (YoY มาจากวัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้น)

โดยภาพรวมมองงบไม่ได้เด่นมากเชิง QoQ แต่หากพิจารณา YoY คาด KBANK มีอัตราการเติบโตสูงสุด เพราะฐานการตั้ง ECL สูงในงวด 4Q65
 

อนึ่ง 9 เดือนแรกปี 2566 ธนาคารพาณิชย์ไทย 10 แห่ง ได้แก่ 1.ธนาคารกรุงเทพ(BBL) 2.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) 3.เอสซีบี เอกซ์ (SCB) 4.ธ นาคารกรุงไทย (KTB) 5.ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา (BAY) 6.ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) 7.ทิสโก๋ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO)8.ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) 9.ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) และ 10.แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHFG)   มีกำไรสุทธิรวมกัน 181,392ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21,781 ล้านบาท หรือ 13.65% จากช่วงเดียวกันของปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 159,611ล้านบาท 

ASPS ระบุว่า สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามหลังประกาศงบ คือ เป้าหมายทางการเงินปี 2567 ของแต่ละธนาคาร โดยเฉพาะมุมมองต่อ NIM ของธนาคารขนาดใหญ่ และแนวโน้ม Credit Cost ด้านคุณภาพสินทรัพย์ คาดที่ 3.6% จาก 3.5% ณ สิ้นงวดก่อน (สิ้นปี 2565 ที่ 3.5%) แม้ประเมินมีการจัดการเชิงรุกก่อนหมดมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว แต่ฐานสินเชื่อกลุ่มฯ ที่มีแนวโน้ม ลดลง 1.5% QoQ เป็น 1 ในปัจจัยที่ส่งผลให้ NPL / Loan กระตุกตัวขึ้น ผสานกับการฟื้นตัวช้าของเศรษฐกิจไทย ยังคงกดดันรายย่อย และSME ด้าน Coverage Ratio กลุ่มฯ คาดไว้ทรงตัวจากสิ้นงวดก่อนที่ 181% (สิ้นปี 2565 ที่ 177%)

ให้น้ำหนักการลงทุน "ธ.พ.เล็ก" เลือก TISCO-แบงก์ใหญ่ เลือก KBANK

ASPS คงน้ำหนัก เท่าตลาด SETBANK ลบ 2.3% YTD VS SET INDEX ลบ 0.54% YTD ท่ามกลางแรงกดดันจากกระแสดอกเบี้ยกลับทิศ และความกังวลด้านคุณภาพสินทรัพย์ แต่คาดหวัง PBV ในระดับต่ำของ ธ.พ. ใหญ่ที่ 0.5 – 0.7 เท่า และการใกล้ฤดูปันผล ช่วย LIMIT DOWNSIDE ของราคาหุ้น โดยให้น้ำหนักการลงทุนไปยัง ธ.พ.เล็ก ที่ได้เปรียบหากดอกเบี้ยนโยบายปรับลง เลือก TISCO (FV@B109) คาด DIV YIELD 8% ต่อปี ด้าน ธ.พ. ใหญ่ เลือก KBANK(FV@B150) จาก COVERAGE RATIO เริ่มมีพัฒนาการดีขึ้น และ VALUATION น่าสนใจมี PBV 0.6 เท่า, DIV YIELD 3.5% ต่อปี

ด้านนักวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย หรือ KS คาดการณ์กำไรไตรมาส 4/66 ชะลอตัว QoQ แต่จะเติบโต YoY โดยคาดว่าธนาคาร 7 แห่งภายใต้การวิเคราะห์ของเราจะรายงานกำไรรวมไตรมาส 4/2566 ที่ 4.39 หมื่นล้าน ลดลง 7% QoQ แต่เพิ่มขึ้น 18% YoY กำไรจะลดลง QoQ เนื่องจากอัตราส่วนต้นทุน/รายได้ที่สูงขึ้นจากค่าการตลาด ไอที และค่าใช้จ่ายด้านพนักงาน ในขณะที่เราคาดว่าอัตราส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) และการเติบโตของสินเชื่อในไตรมาส 4/2566 จะขยายตัวเล็กน้อย 

คาดกำไรกลุ่มธนาคารจะมีการเติบโตแข็งแกร่ง YoY โดยได้แรงหนุนจาก NIM ที่สูงขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มาตรฐานที่เพิ่มขึ้น การเติบโตของสินเชื่อที่ 3% YoY และอัตราส่วนต้นทุน/รายได้ที่ลดลงเล็กน้อย YoY เราคาดว่า SCB จะรายงานกำไรที่โดดเด่นที่สุดในไตรมาส 4/2566 เนื่องจากเราคาดว่ากำไรของ SCB จะเติบโตแข็งแกร่ง YoY ที่ 33% เราคาดว่า KKP จะมีกำไรอ่อนแอที่สุดในไตรมาส 4/2566 เมื่อเทียบกับคู่แข่ง เนื่องจากเราคาดว่ากำไรจะลดลง QoQ, YoY เนื่องจากขาดทุนจำนวนมากจากรถยนต์ยึดคืน

กำไรก่อนหักสำรองฯ ลดลง แต่เติบโตแข็งแกร่ง YoY 

กำไรก่อนตั้งสำรอง (PPOP) ไตรมาส 4/2566 จะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับกำไรไตรมาส 4/2566 เนื่องจากเราคาดว่า PPOP จะลดลง QoQ แต่จะเติบโตแข็งแกร่ง YoY เราคาดว่าสินเชื่อจะเติบโตเล็กน้อยที่ 0.8% QoQ จากสินเชื่อเพื่อธุรกิจและสินเชื่อเช่าซื้อ อัตราส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย QoQ และจะเป็นไตรมาสสุดท้ายที่จะเห็นการปรับตัวดีขึ้น QoQ 

สำหรับ NIM เราคาดว่ารายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิจะยังคงทรงตัว QoQ เนื่องจากค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อที่ดีขึ้น แต่ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจตลาดทุนจะยังคงอ่อนแอในไตรมาส 4/2566 อัตราส่วนต้นทุน/รายได้จะเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4/2566 QoQ จากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับด้านไอที การตลาด และพนักงานที่สูงขึ้น

คาด NPL จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เราคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL ratio) จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย QoQ โดยส่วนใหญ่มาจากธุรกิจสินเชื่อรายย่อยและ SME ในขณะที่ NPL ของสินเชื่อธุรกิจจะทรงตัว QoQ 

ทั้งนี้ คาดว่าธนาคารส่วนใหญ่จะตัดจำหน่ายหนี้เสียและขาย NPL ในระดับสูงในไตรมาส 4/2566 โดยคาดว่าค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญ (credit cost) ในไตรมาส 4/2566 จะยังคงสูงที่ 150bps ทรงตัว QoQ และส่งผลให้อัตราสำรองต่อหนี้สูญ (coverage ratio) ทรงตัวที่ 186% ในไตรมาส 4/2566

บล.กสิกรไทย คงมุมมองที่เป็นกลางต่อภาคธุรกิจนี้ คาดอัตราตอบแทนเงินปันผลสูงในปี 2566-67 แต่ NIM จะถึงจุดสูงสุดในไตรมาส 4/66 หุ้นเด่นของเรา ได้แก่ BBL และ KTB