10 หุ้นแบงก์ ปี 66 กวาดกำไร 2.32 แสนล้าน พุ่ง 24.09%

22 ม.ค. 2567 | 06:37 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ม.ค. 2567 | 07:12 น.

เปิดงบ 10 หุ้นแบงก์ กำไรสุทธิพุ่ง 24.09% แตะระดับ 2.32 แสนล้านบาท จากปีก่อนที่ 1.86 แสนล้านบาท ด้านโบรกยอมรับผิดหวัง BBL ประกาศกำไรสุทธิไตรมาส 4/66 ที่ 8.9 พันล้านบาท ต่ำกว่าคาดการณ์ 7-16%

KEY

POINTS

  • เปิดงบ 10 แบงก์ ทำกำไรสุทธิรวมเติบโต กว่า 232,016.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.09% จากปีก่อน
  • ด้านกำไรสุทธิ BBL ในไตรมาส 4/66 ที่ 8.9 พันล้านบาท 3 โบรกลงเสียงผิดหวัง ลดลงจากที่คาดการณ์กันไว้ 7-16%

ประเดิมประกาศผลการดำเนินงานกลุ่มแรก ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ทยอยแจ้งผลประกอบการปี 2566 กันออกมาแล้ว โดยพบว่า แบงก์ทั้ง 10 แห่ง มีกำไรสุทธิรวมกันอยู่ที่ระดับ 232,016.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.09% จากปีก่อนที่ระดับ 186,964.15 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • BBL กำไรสุทธิในปี 2566 อยู่ที่ 41,636 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.1% จากปี 2566 ที่ 29,305.59 ล้านบาท
  • LHFG กำไรสุทธิในปี 2566 อยู่ที่ 2,096.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.8% จากปีก่อนที่ 1,578.76 ล้านบาท
  • TTB กำไรสุทธิในปี 2566 อยู่ที่ 18,462 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จากปี 2565 ที่ 14,195.19 ล้านบาท
  • KBANK กำไรสุทธิในปี 2566 อยู่ที่ 42,405.04 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.55% จากปี 2565 ที่ 35,769.49 ล้านบาท
  • SCB กำไรสุทธิในปี 2566 อยู่ที่ 43,521 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.9% จากปี 2565 ที่ 37,546.01 ล้านบาท
  • KTB กำไรสุทธิ 36,616 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.7% จากปี 2565 ที่ 33,698 ล้านบาท
  • BAY กำไรสุทธิในปี 2566 อยู่ที่ 32,929 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,216.01 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7.2% จากปี 2565 อยู่ที่ 30,712.99 ล้านบาท
  • TISCO กำไรสุทธิ อยู่ที่ 7,302.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 78.54 ล้านบาท หรือเพิ่ม 1.1% จากปี 2565 อยู่ที่ 7,224.08 ล้านบาท

2 แบงก์ที่มีกำไรลดลง 

  • KKP กำไรสุทธิในปี 2566 อยู่ที่ 5,443 ล้านบาท ลดลง 2,159 ล้านบาท หรือ -28.4% จากปี 2565 ที่ 7,602 ล้านบาท
  • CIMBT  กำไรสุทธิในปี 2566 อยู่ที่ 1,605.3 ล้านบาท ลดลง 1,305.5 ล้านบาท หรือ -44.9% จากปี 2565 ที่ 2,910.8 ล้านบาท

10 หุ้นแบงก์ ปี 66 กวาดกำไร 2.32 แสนล้าน พุ่ง 24.09%

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เปิดเผยว่า ในภาวะเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการเข้าสู่ยุคดิจิทัล (Digitalization) การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในภูมิภาค (Regionalization) และการขยายตัวของสังคมเมืองและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ธนาคารกรุงเทพเห็นความสำคัญที่จะสนับสนุนลูกค้าในการปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง ต่างๆ

ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของธนาคาร ที่มุ่งสนับสนุนภาคธุรกิจไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นและพร้อมที่จะขยายกิจการออกไปในตลาดต่างประเทศเพื่อรับประโยชน์จากการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานระดับโลก (Global Supply Chain) ธนาคารจึงออกโครงการสินเชื่อพิเศษ คือ สินเชื่อบัวหลวงเพื่อการปรับตัวธุรกิจ (Bualuang Transformation Loan) วงเงิน 20,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 5 ต่อปี ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 5 ปี สำหรับลูกค้าเอสเอ็มอี 2 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ประสบปัญหาต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และต้องการการดูแลช่วยเหลือให้ฟื้นตัวและประกอบกิจการต่อไปได้ และกลุ่มที่ต้องการเงินทุนเพื่อลงทุนปรับกิจการให้ทันโลกในยุคดิจิทัลและภาวะปกติใหม่ (Next Normal) ให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ราคาพลังงานที่สูงขึ้น ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ (Disruption) จากปัจจัยอื่นๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างการเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาวให้กับธุรกิจ

บล.บัวหลวง ระบุว่า กำไรต่ำกว่าคาด! รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยต่ำกว่าคาดและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่มากกว่าคาด โดย BBL รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 4/66 ที่ 8.9 พันล้านบาท ต่ำกว่าที่คาด 7% และต่ำกว่าที่ตลาดคาด 18% หลักๆ มาจากผลขาดทุนจากเครื่องมือทางการเงินและค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่สูงกว่าคาด

โดยกำไรสุทธิไตรมาส 4/66 เติบโต 19% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน (NIM ขยายตัว และ credit cost ลดลง) แต่ลดลง 22% จากไตรมาสก่อน (ผลขาดทุนจากเครื่องมือทางการเงินและค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล)

ทางฝ่ายคาดกำไรสุทธิไตรมาส 1/67 โต 13% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน (NIM ขยายตัว) และ 29% จากไตรมาสก่อน (ค่าใช้จ่ายดำเนินงานลดลง) ขณะที่คาดกำไรสุทธิปี 67 จะเติบโต 8% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน จากสินเชื่อและ NIM ขยายตัวดีขึ้น ยังคงคำแนะนำ "ซื้อ" ราคาเป้าหมาย 195 บาท

บล.ทรีนีตี้ เผยว่า กําไร BBL ในไตรมาส 4/66 อยู่ที่ 8,863 ล้านบาท อ่อนตัว 22% จากไตรมาสก่อน แต่ยังเติบโต 17% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน ตํ่ากว่าที่คาดไว้ก่อนหน้าราว 11% แต่กําไรปี 66 เติบโตสูงถึง 42% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน จาก NIM ที่ปรับตัวเพิ่มต่อเนื่องตลอดปี สินเชื่อไตรมาส 4/66 อ่อนตัว จากไตรมาสก่อน แต่ NIM ยังเพิ่มขึ้นต่อ ซึ่งมองว่าเป็นจุด Peak

ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอ่อนตัว เนื่องจากมีขาดทุนจากเงินลงทุนตามภาวะตลาด ด้านค่าใช้จ่ายในการดําเนินงานเพิ่มขึ้นมากกว่าคาด แต่สํารองหนี้ลดลง ตามแนวโน้มของ NPL ที่ลดลงเช่นกัน ทั้งนี้ ปี 67 คาด NIM จะอ่อนตัวลง แต่สํารองหนี้อาจลดลงได้บ้าง ทําให้กําไรยังโตได้ ทางฝ่ายให้ราคาเป้าหมาย 197 บาท แม้กําไรไตรมาส 4/66 จะตํ่ากว่าคาด แต่คุณภาพสินทรัพย์ดีกว่าคาดและยังแข็งแกร่ง คงคําแนะนํา “ซื้อ”

บล.เอเซียพลัส มอง BBL ปิดจบกำไรสุทธิไตรมาส 4/66 ไม่สวยที่ 8.9 พันล้านบาท (-22% จากไตรมาสก่อน, โต 17% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน) ต่ำกว่าฝ่ายวิจัย คาด 16% และ BLOOMBERG CONSENSUS ราว 19% มาจากค่าใช้จ่าย ดำเนินงาน (OPEX) มากกว่าประเมิน 10% มาที่ 2.4 หมื่นล้านบาท (+23% จากไตรมาสก่อน, +24% จากปีก่อน) หลักๆ เป็นเพราะค่าใช้จ่ายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร

ส่วน คุณภาพสินทรัพย์งวดนี้ทำได้ดีจาก NPL / LOAN ลดลงเหลือ 3.2% เทียบกับที่ คาดไว้ 3.5% (ไตรมาส 3/66 ที่ 3.5% และไตรมาส 4/65 ที่ 3.6%) และ COVERAGE RATIO ขยับ มาที่ 315% จาก 283% ณ สิ้นงวดก่อน และ 261% ณ สิ้นปี 2565

ภายหลังปรับลดกำไรปี 2567-2568 ราว 3% ซึ่งยังขยายตัวราว 3% ต่อปี และสมมติฐาน GGM ให้ PBV ที่ 0.6 เท่า (เดิม 0.65 เท่า) ให้ FV ใหม่ที่ 175 บาท (เดิม 199 บาท) โดยแม้ราคาหุ้นมีโอกาสตอบสนองเชิงลบจาก OPEX สูงกว่าคาด แต่ ราคาหุ้น YTD ปรับฐาน 7% VS SET ลบ 3% ทำให้ PBV ซื้อขาย 0.5 เท่า

พร้อม คาดปันผลต่อหุ้นปี 2566 ที่ 6 บาท (ครึ่งแรกปี 66 จ่าย 2 บาท เหลือจ่ายครึ่งหลังปี 66 ที่ 4 บาท) ประเมิน LIMIT DOWNSIDE ต่อราคาหุ้น คงคำแนะนำ OUTPERFORM