หลังจากวานนี้ (23 ม.ค.67) บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป หรือ JKN" แจ้ง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า JKN Global Content Pte. Ltd. (“JKN Global Content”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้น 100% ของจํานวนหุ้นทั้งหมด ได้ดําเนินการขายหุ้นสามัญใน JKN Legacy, Inc. (“JKN Legacy”) บริษัทย่อยที่ดําเนินธุรกิจองค์กรนางงามจักรวาล (Miss Universe Organization : MUO) และครอบครองลิขสิทธิ์นางงามจักรวาล (Miss Universe)
ให้แก่ Legacy Holding Group USA Inc. (“LHG”) ผู้ซื้อ จํานวน 500 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.0001 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมดใน JKN Legacy โดยมีราคาซื้อขายทั้งหมดเท่ากับ 16,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 581,920,000 บาท ) คาดจะปิดการซื้อขายภายในเดือนกันยายน 2567
จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN เปิดเผยในเวลาต่อมาว่า "JKN Legacy" บริษัทย่อยของกลุ่ม JKN Group ได้บรรลุข้อตกลงการเป็น Strategic Partnership กับ “มิสเตอร์ราอูล โรชา คานตู” (Raul Rocha Cantu) ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Legacy Holding Group มหาเศรษฐีชาวลาตินอเมริกา ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจบ่อน้ำมัน ธุรกิจโรงแรม อสังหาริมทรัพย์และสนามบินเจ็ทส่วนตัว โดยเข้ามาลงทุนถือหุ้น 50% ใน JKN Legacy ด้วยมูลค่าลงทุน 16 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 581.92 ล้านบาท
“มิสเตอร์ราอูล โรชา คานตู” จะนำประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในการบริหารธุรกิจมายาวนาน เข้ามาสนับสนุนธุรกิจ MUO โดยการให้สิทธิผลิตสินค้าหรือบริการหรือเครื่องหมายการค้า ภายใต้แบรนด์ Miss Universe แก่กลุ่มผู้ประกอบการในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา ที่มีความสนใจเข้ามาร่วมกันพัฒนาธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ภายใต้แบรนด์ Miss Universe โดยจะตั้งสำนักงานใหญ่ที่ประเทศเม็กซิโก ซึ่งเป็นแห่งที่ 3 เพื่อรับผิดชอบดูแลธุรกิจในเขตพื้นที่อเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ และสำนักงานใหญ่ที่ประเทศไทยจะรับผิดชอบกิจการ Miss Universe ในประเทศไทยและประเทศในแถบเอเชียและประเทศอื่นๆ ทั้งหมด ส่วนสำนักงานที่นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐ รับผิดชอบด้านการบริหารแบรนด์ MUO (Brand Management) และพัฒนาทักษะและความสามารถของศิลปินและนางงาม (Talent Development)
บริษัทฯ วางกลยุทธ์ผลักดันให้ธุรกิจองค์กรนางงามจักรวาล หรือ Miss Universe organization (MUO) ที่ดำเนินงานภายใต้บริษัท JKN Legacy ที่จดทะเบียนในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจองค์กรนางงามจักรวาลและครอบครองลิขสิทธิ์นางงามจักรวาล หรือ มิสยูนิเวิร์ส แบรนด์ที่มีอายุยืนยาวและทรงพลังมากว่า 72 ปี เป็นที่ยอมรับจากคนทั่วโลก เพื่อนำแบรนด์ต่อยอดธุรกิจผ่านโมเดลความร่วมมือกับพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ระดับโลก นำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญมาร่วมกันขับเคลื่อนธุรกิจด้วยการต่อยอดแบรนด์ Miss Universe ไปสู่ผลิตภัณฑ์และบริการในระดับพรีเมียม เพื่อทำตลาดไปทั่วทุกภูมิภาคของโลกอย่างเต็มรูปแบบ
"การเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ระดับโลกกับ ‘มิสเตอร์ราอูล โรชา คานตู’ นักบริหารธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและเป็นเจ้าของธุรกิจมากมายในประเทศเม็กซิโก มาร่วมกันทำงานและเชื่อมั่นให้เราสามารถตัดสินใจทางธุรกิจเป็นขั้นสุดท้าย เพื่อผลักดันให้ MUO มีความแข็งแกร่งและผลักดันกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจได้อย่างเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น โดยจะร่วมกำหนดวิสัยทัศน์และกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่มุ่งยกระดับความยิ่งใหญ่ของแบรนด์ Miss Universe ด้วยโมเดลการสร้างรายได้ Basic 10 ซึ่งจะทำให้ Miss Universe มูลค่าทางธุรกิจเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวจากปัจจุบัน และเพื่อให้มีการดำเนินงานที่ครอบคลุมมากกว่าการจัดการประกวดสาวงาม จึงมีการต่อยอดขยายขอบเขตของแบรนด์ Miss Universe ไปสู่ผลิตภัณฑ์และบริการทั้ง 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.สปาและสกินแคร์ 2.คอสเมติก 3.น้ำหอม 4.ชุดว่ายน้ำและชุดชั้นใน และ 5.เครื่องดื่ม ไปสู่ผู้บริโภคทั่วโลก ” แอน จักรพงษ์ กล่าว
มิสเตอร์ราอูล โรชา คานตู ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ "Legacy Holding Group : LHG "มหาเศรษฐีชาวลาตินอเมริกา นอกจากเป็นเจ้าของธุรกิจบ่อน้ำมัน ธุรกิจโรงแรม อสังหาริมทรัพย์และสนามบินเจ็ทส่วนตัวแล้ว กลุ่มธุรกิจ LHG ยังมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย มายาวนานกว่า 35 ปี ใน 5 ภูมิภาคของโลก ทั้งในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจอุตสาหกรรม ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจการแพทย์ นิคมอุตสาหกรรม ธุรกิจการตลาด ธุรกิจด้านการบริการ ธุรกิจการบิน ธุรกิจยานยนต์ ธุรกิจบันเทิง เป็นต้น
สำหรับ JKN คว้าธุรกิจ Miss Universe Organization (MUO) มาจาก IMG Worldwide, LLC เป็นบริษัทย่อยของ Endeavor Group Holdings, Inc. เมื่อช่วงเดือนตุลาคมปี 2565 มูลค่าทั้งสิ้นไม่เกิน 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไม่เกิน 550 ล้านบาท) และสัญญาลิขสิทธิ์อีก 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไม่เกิน 250 ล้านบาท) รวมเป็นมูลค่าไม่เกิน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยใช้เงินลงทุนราว 800 ล้านบาท