ดาวโจนส์ปิดร่วง 524.63 จุด กังวล CPI สูงเกินคาดทำเฟดเมินลดดอกเบี้ย

14 ก.พ. 2567 | 00:00 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.พ. 2567 | 00:14 น.

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันอังคาร (13 ก.พ.) หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่สูงกว่าคาด ซึ่งทำให้ตลาดวิตกกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนพ.ค.ตามที่คาดการณ์ไว้

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 38,272.75 จุด ลดลง 524.63 จุด หรือ -1.35%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,953.17 จุด ลดลง 68.67 จุด หรือ -1.37% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,655.60 จุด ลดลง 286.95 จุด หรือ -1.80%

ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงในวันเดียวที่รุนแรงที่สุดในรอบเกือบ 11 เดือน ขณะที่ดัชนี CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2566 หลังจากสหรัฐเปิดเผยดัชนี CPI ที่สูงเกินคาด

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี CPI ทั่วไป (Headline CPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.1% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 2.9% จากระดับ 3.4% ในเดือนธ.ค. ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.9% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.7% จากระดับ 3.9% ในเดือนธ.ค.

ทั้งนี้ หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนี CPI ประจำเดือนม.ค. นักลงทุนได้เลื่อนการคาดการณ์ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยออกไปเป็นเดือนมิ.ย. จากเดิมที่คาดว่าจะปรับลดในเดือนพ.ค. โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักเพียง 36.1% ในการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนพ.ค. ซึ่งลดลงจากระดับ 58% ก่อนที่สหรัฐจะเปิดเผยดัชนี CPI พร้อมกับให้น้ำหนัก 74.3% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย.

บ็อบ อิลเลียต นักวิเคราะห์จากบริษัท Unlimited Funds กล่าวว่า "ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่เฟดหลายคนได้ออกมาส่งสัญญาณว่าอาจจะเร็วเกินไปที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้เนื่องจากเงินเฟ้อยังคงสูงกว่าระดับเป้าหมาย และการเปิดเผยดัชนี CPI ครั้งล่าสุดถือเป็นการยืนยันในสิ่งที่เจ้าหน้าที่เฟดได้แสดงความเห็นไว้"

ดัชนี CPI ที่สูงเกินคาดส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือน และสร้างแรงกดดันต่อหุ้นบริษัทเทคโนโลยีที่มีมาร์เก็ตแคปสูง โดยหุ้นไมโครซอฟท์ ดิ่งลง 2.1% หุ้นอัลฟาเบท ร่วงลง 1.6% หุ้นอะเมซอน ร่วงลง 2.1% หุ้นเมตา แพลตฟอร์มส์ ร่วงลง 1.8%

หุ้นบริษัทผลิตชิปร่วงลงเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งรวมถึงหุ้นไมครอน เทคโนโลยี, หุ้นควอลคอมม์ และหุ้นบรอดคอม ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเซมิคอนดักเตอร์ที่ตลาดหุ้นฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia SE Semiconductor Index) ดิ่งลง 2%

ดัชนี Russell 2000 Index ซึ่งเป็นดัชนีหุ้นกลุ่มบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนต่ำ ร่วงลง 4.3% ซึ่งเป็นการปรับตัวลงในวันเดียวที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย. 2565

ส่วนหุ้นรายตัวนั้น หุ้นแมริออท อินเตอร์เนชันแนล ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโรงแรมรายใหญ่ของสหรัฐ ร่วงลง 5.6% หลังจากบริษัทเปิดเผยตัวเลขคาดการณ์ผลกำไรปี 2567 ที่ต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ในวอลล์สตรีท ขณะที่หุ้นฮาสโบร ซึ่งเป็นบริษัทผลิตของเล่น เปิดเผยยอดขายและกำไรในไตรมาส 4/2566 ที่ต่ำกว่าคาด

หุ้นเจ็ตบลู แอร์เวย์ส ทะยานขึ้น 21.6% หลังจากนายคาร์ล ไอคาห์น มหาเศรษฐีนักลงทุนชื่อดังได้เข้าซื้อหุ้น 9.91% ในสายการบินเจ็ตบลู พร้อมกับแสดงความเห็นว่าหุ้นเจ็ตบลูมีมูลค่าต่ำเกินไป