ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปิดที่ 38,905.66 จุด ลดลง 137.66 จุด หรือ -0.35%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,150.48 จุด ลดลง 14.83 จุด หรือ -0.29% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 16,128.53 จุด ลดลง 49.24 จุด หรือ -0.30%
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ปรับตัวขึ้น 1.6% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.1% หลังจากที่เพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือนม.ค.
ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน (Core PPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.0% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.9% หลังจากที่เพิ่มขึ้น 2.0% ในเดือนม.ค.
ทั้งนี้ ดัชนี PPI ที่ออกมาสูงเกินคาดทำให้นักลงทุนวิตกกังวลว่าเฟดอาจจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่คาดไว้ และยังส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นทะลุระดับ 4.2% ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้นเช่นกัน
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 62.9% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือนมิ.ย. ซึ่งลดลงจากระดับ 81.7% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนในการประชุมวันที่ 19-20 มี.ค.นี้ นักลงทุนคาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.25-5.50%
หุ้นกลุ่มสาธารณูปโภคและกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นหุ้นที่มีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย ปรับตัวลงมากที่สุด โดยดัชนีหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ร่วงลง 1.6% และดัชนีหุ้นกลุ่มสาธารณูปโภคปรับตัวลง 0.8%
หุ้นอินวิเดีย ร่วงลง 3.2% ขณะที่ดัชนีหุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ ร่วงลง 1.8% โดยดัชนีหุ้นกลุ่มดังกล่าวร่วงลงไปแล้ว 3.5% ในสัปดาห์นี้ เนื่องจากนักลงทุนเทขายทำกำไรหลังจากราคาหุ้นพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งในช่วงที่ผ่านมา
ไมเคิล เจมส์ นักวิเคราะห์จากบริษัท Wedbush Securities กล่าวว่า ความวิตกกังวลเกี่ยวกับดัชนี PPI ที่สูงเกินคาดยังส่งผลกระทบไปถึงหุ้นในดัชนี Russell 2000 Index ซึ่งเป็นหุ้นกลุ่มบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนต่ำ โดยดัชนี Russell 2000 Index ร่วงลง 2%
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 1,000 ราย สู่ระดับ 209,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 218,000 ราย
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายเดือน แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.8% หลังจากร่วงลง 1.1% ในเดือนม.ค. และเมื่อเทียบรายปี ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 1.5% ในเดือนก.พ.