การประชุม FOMC วันที่ 19-20 มี.ค.นี้ คาดเฟดจะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.25-5.50% อย่างต่อเนื่อง และคงส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งในปีนี้ สะท้อนผ่านคาดการณ์แนวโน้มดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า (Dot Plot) ที่มีแนวโน้มไม่แตกต่างจาก Dot Plot ในการประชุมรอบเดือนธ.ค. 2566 ท่ามกลางเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่แม้จะชะลอลงอย่างต่อเนื่องแต่ยังทรงตัวอยู่ระดับสูงกว่า 3.0% เกินเป้าหมาย 2.0% ของเฟด ขณะที่ ตลาดแรงงานแม้จะชะลอตัวลงและกลับเข้าสู่จุดสมดุลมากขึ้น แต่ยังคงสะท้อนภาพที่ค่อนข้างแข็งแกร่งอยู่
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เฟดน่าจะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยนโยบายได้ในการประชุมเดือนมิ.ย. 2567 และจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายทั้งหมด 3 ครั้งในปีนี้ สอดคล้องกับที่ตลาดส่วนใหญ่คาด (จากข้อมูลของ CME FedWatch Tool ณ วันที่ 15 มี.ค. 2567) โดยเฟดคงต้องการเห็นเงินเฟ้อชะลอลงมาใกล้เป้าหมาย 2.0% มากขึ้นกว่านี้ เพื่อให้มั่นใจว่าเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่เป้าหมายของเฟดอย่างยั่งยืนและไม่กลับมาเร่งตัวขึ้นอีกครั้ง ขณะเดียวกันเฟดคงไม่ต้องการดำเนินนโยบายช้าเกินไปท่ามกลางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เริ่มชะลอตัวลง เนื่องจากนโยบายการเงินมีความล่าช้า (policy lag) กว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ถ้อยแถลงของสมาชิกเฟดล่าสุดเริ่มส่งสัญญาณแตกต่างกันออกไป โดยจากถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด วันที่ 7 มี.ค. 2567 นายเจอโรม พาวเวลได้ส่งสัญญาณว่าการเริ่มปรับลดดอกเบี้ยของเฟดนั้นใกล้เข้ามาแล้ว อย่างไรก็ดี นายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์กระบุว่าแม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะปรับเข้าสู่จุดสมดุลมากขึ้นและเข้าใกล้เป้าหมายเงินเฟ้อมากขึ้น แต่ยังคงไม่ถึงจุดในการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าจังหวะและจำนวนครั้งในการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายยังขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ออกมาเป็นสำคัญ โดยหากเงินเฟ้อปรับลดเร็วกว่าคาดและตลาดแรงงานชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญในระยะข้างหน้า มีโอกาสที่เฟดอาจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายมากกว่า 3 ครั้งในปีนี้ ในทางตรงกันข้าม หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดและเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังคงไม่ชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ เฟดอาจเลื่อนการเริ่มปรับลดดอกเบี้ยออกไปจากการประชุมเดือนมิ.ย. 2567