บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัส ระบุในบทวิเคราะห์ล่าสุด ( 12 มี.ค.67 ) โดยชี้ถึง 4 ปัจจัยหนุนให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ที่จะประชุมครั้งหน้าในวันที่ 10 เมษายน 2567 มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง จาก 4 สัญญาณ
ตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวต่ำในช่วงที่ผ่านมา (โดยเฉพาะ Q4/66 โตพียง1.7% YOY และหดตัว-0.6% QOQ) ส่งผลให้การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินและการคลัง มีความจำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ
บอนด์ยีลด์ 10 ปีของไทยที่ลงมาต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบายแล้ว โดยบอนด์ยีลด์ 10 ปีของไทยล่าสุดวานนี้ ( 11 มี.ค.67 ) อยู่ที่ 2.49% ลงมาต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% เป็นครั้งแรก (ส่งผลให้ BOND YIELD 1 - 10 ปีต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบายทั้งหมด) บ่งบอกมุมมองตลาดการเงินที่คาดหวังว่า ดอกเบี้ยไทยเข้าใกล้ขาลง
เงินบาทแข็งค่าขึ้น ราว 1.36% นับตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 2567 (MTD) หลังดอลลาร์อ่อนค่าลง ซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกหนุนให้ฟันด์โฟลว์ชะลอการไหลออก และเชื่อว่าจะทำให้ กนง.พิจารณาตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยได้ง่ายขึ้น
หนี้สาธารณะไทยต่อจีดีพี ในเดือน ม.ค. 67 พุ่งขึ้นราว 62.23% แม้จะยังอยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลัง แต่หากว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปรับลดลง ก็มีแนวโน้มที่ระดับหนี้สาธารณะจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นได้ ดังนั้นจึงคาดหวังว่าการเดินกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังจะมีความเข้มขึ้นในช่วง Q2/67 หลังการเบิกจ่ายงบประมาณได้รับการอนุมัติ
ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยไทยไม่จำเป็นต้องเคลื่อนไหวตามอัตราดอกเบี้ยโลก จากข้อมูลในอดีต พบว่า แต่ละประเทศจะเน้นปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศนั้นๆ มากกว่าที่จะปรับไปใน ทิศทางเดียวกันตลอดเวลา อาทิ ช่วง ก.ค. 2553 - ส.ค. 2554 กนง. ขึ้นอัตรา ดอกเบี้ย เพราะอัตราเงินเฟ้อ ของไทยขยายตัวสูง จาก 2.8% ใน พ.ย. 2553 มาเป็น 4.3% ใน ส.ค. 2554 หากแต่สหรัฐยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะ เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นจาก SUBPRIME