นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ประเด็นที่ทางประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 มีมติเป็นเอกฉันท์ ปรับขึ้น “ค่าจ้างขั้นต่ำ” หรือค่าแรงขั้นต่ำ รอบใหม่ ซึ่งจะปรับขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ของปี 2567 เป็นเงินวันละ 400 บาท และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2567 เป็นต้นไป โดยกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
โดยเฉพาะการบริการโรงแรมและที่พัก ที่เป็นสถานประกอบการประเภทกิจการโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป และมีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ในพื้นที่ 10 จังหวัด ประกอบด้วย
มองว่าประเด็นการปรับขึ้น "ค่าแรงขั้นต่ำ" ในกิจการโรงแรมนั้น แม้ว่าจะเป็นผลกระทบทำให้กลุ่มโรงแรมอาจมีต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น แต่เชื่อว่าจะมีผลกระทบที่ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากพนักงานในโรงแรมส่วนใหญ่ได้รับผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว เพราะเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะทางภาษา ดังนั้น จึงมองว่าแม้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบใหม่นี้ก็อาจไม่มีผลกระทบรุนแรงอย่างที่หลายคนกังวลกันอยู่ ในส่วนของผู้ประกอบการโรงแรมขนาดกลางและเล็ก อาจมีต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้นบ้าง
ทั้งนี้ มองว่าหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวยังคงมีความน่าสนใจในการลงทุนมากกว่ากลุ่มอื่น ซึ่งในช่วงไตรมาส 1/2567 ที่ผ่านมา ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 9.3 ล้านคน สูงกว่าเมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน 44% สะท้อนต่อผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของกลุ่มท่องเที่ยวในไตรมาสแรกของปีนี้ โดยทางฝ่ายแนะนำซื้อ ERW (ราคาเป้าหมาย 6.50 บาท) เพราะมีสัดส่วนรายได้จากโรงแรมในประเทศสูงกว่าหุ้นตัวอื่นๆ ในอัตสาหกรรมเดียวกัน และ VRANDA (ราคาเป้าหมาย 9.70 บาท)
นอกจากนี้ จากการเติบโตของการท่องเที่ยวที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากช่วงปลายปีก่อน และการออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยใหม่ๆ ของภาครัฐ ทำให้กลุ่มหุ้นที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว อย่างสนามบิน AOT (ราคาเป้าหมาย 76.00 บาท) สายการบิน BA (ราคาเป้าหมาย 20.00 บาท) และ AAV (ราคาเป้าหมาย 2.90 บาท) และภาคบริการ SPA (อยู่ระหว่างประเมินราคาใหม่) ก็มีความน่าสนใจในการเช่นเดียวกัน โดยคาดว่าผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาสแรกปีนี้จะออกมาดี