ครม.วานนี้ ( 9 เม.ย. 2567) มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ 2 รายการ คือลดค่าธรรมเนียมโอนฯ จากเดิม 2% และค่าจดจำนองจากเดิม 1% เหลืออย่างละ 0.01% สำหรับบ้านมือ 1 และมือ 2 ที่มีราคาที่อยู่อาศัยไม่เกิน 7 ล้านบาท โดยมีผลถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2567 และการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับสร้างบ้านใหม่สูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาท
ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัส มองมาตรการดังกล่าว ถือเป็นสัญญาณบวกต่อกลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัย เนื่องจากธุรกิจอสังหาฯ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจในประเทศ และสร้าง Multiplier Effect ต่อหลายธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่น เช่น รับเหมาก่อสร้าง, วัสดุก่อสร้าง และของใช้ในครัวเรือน (เฟอร์นิเจอร์) ฯลฯ ดังนั้นการเห็นชอบมาตรการกระตุ้นอสังหาฯข้างต้น คาดช่วยหนุนต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ซึ่งทางกระทรวงการคลังคาดผลักดัน GDP ปีนี้โตอีก 1.7-1.8% สู่เป้าหมายทั้งปีโตเกิน 4%
ภายใต้ 2 มาตรการข้างต้น ฝ่ายวิจัยให้น้ำหนักไปที่การขยายเพดานมาตรการลดค่าโอนฯ-จดจำนองเพิ่มสู่ระดับราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท เนื่องจากครอบคลุมสินค้าในวงกว้างมากขึ้น จากเดิมที่กำหนดสิทธิให้เฉพาะบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทนั้น เพราะในระดับบ้านกลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนน้อยระดับ 15-20% ของมูลค่าทั้งตลาดอสังหาฯ ทำให้กลุ่มที่ได้รับประโยชน์มีไม่มากนัก ขณะที่บ้านระดับ 7 ล้านบาท ซึ่งเจาะกลุ่มระดับกลาง คิดเป็นประมาณ 50-70% ของตลาดรวม ดังนั้นเมื่อสามารถขยายเพดานราคาบ้านได้สูงขึ้น ย่อมเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มคนซื้อมากขึ้นเช่นกัน
โดยภายใต้การลดค่าธรรมเนียมโอนฯ-จดจำนอง เหลืออย่างละ 0.01% ทำให้คนซื้อประหยัดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 19,850 บาท สำหรับบ้านมูลค่า 1 ล้านบาท
( ปกติค่าธรรมเนียมโอนฯ อยู่ในอัตรา 2% หรือ 2 หมื่นบาท โดยแบ่งคนละครึ่ง หรือ 1 หมื่นบาทสำหรับผู้ซื้อและผู้ขาย เมื่อมีการปรับลดเหลือ 0.01% หรือฝั่งละ 0.005% ทำให้ผู้ซื้อประหยัดไป 9,950 บาท ส่วนค่าจดจำนองปกติเป็นภาระของผู้ซื้ออย่างเดียว หากลดเหลือ 0.01% จากเดิม 1% ของวงเงินกู้ ดังนั้นหากกู้เต็ม 100% ทำให้เกิดการประหยัดไปอีก 9,900 บาท)
ดังนั้น กรณีซื้อบ้านมูลค่าราคา 5 ล้านบาท และกู้เต็ม 100% (บ้านหลังแรก)จะทำให้ผู้ซื้อประหยัดค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 99,250 บาท และประหยัดเพิ่มเป็น 138,950 บาท สำหรับบ้านราคา 7 ล้านบาท จากปกติต้องเสีย140,000 บาท
ขณะที่ฝั่งผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทจดทะเบียน(บจ.) ใน SET จะได้อานิสงส์มากขึ้น เมื่อมีการขยายเพดานบ้านเป็น 7 ล้านบาทเช่นกัน เนื่องจากพอร์ตสินค้าส่วนใหญ่มีราคาครอบคลุมระดับดังกล่าวอยู่แล้ว ทั้งนี้การมีมาตรการดังกล่าว จะช่วยให้ Backlog รวมสิ้นไตรมาส 4/66 ระดับ 2.05 แสนล้านบาท (รวม JV 7.3 หมื่นล้านบาท) เป็นส่วนที่พร้อมส่งมอบปีนี้ราว 1.13 แสนล้านบาท และที่เข้าข่ายเกณฑ์ราคาตามมาตรการสามารถโอนฯ ได้ง่ายขึ้น รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการระบายสต๊อกคงค้างของผู้ประกอบการที่มีอยู่รวมเกือบ 8 แสนล้านบาท (เป็นสต๊อกคอนโดฯ สร้างเสร็จ 1.26 แสนล้านบาท)
อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามต่อไปว่าภาครัฐจะมีนำเสนอมาตรการเพิ่มเติมในอนาคตหรือไม่ เนื่องจากมาตรการข้างต้น ถือเป็น 2 ข้อเสนอจากทั้งหมด 8 ข้อเสนอที่ภาคเอกชนยื่นต่อนายกรัฐมนตรี โดยยังคงมีข้อเสนอสำคัญ เช่น ยกเลิก
LTV (การตัดสินใจขึ้นอยู่กับ ธปท. ซึ่งล่าสุดมีท่าทีปฏิเสธการผ่อนคลาย) , ลดหย่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 50% เป็นเวลา 1 ปี และทบทวนหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการถือครองที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติ โดยขยายเวลาเช่าจาก 30 ปีเป็น 60 ปี ฯลฯ รวมถึงการแก้ไขปัญหา ในเรื่องกำลังซื้อและการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของแบงก์นำสู่การถูกปฎิเสธสินเชื่อในอัตราที่สูงขึ้น ถือเป็นต้นตอสำคัญที่สร้างแรงกดดันต่อภาคอสังหาฯ
บล.เอเซียพลัส คงแนะนำลงทุนเท่าตลาดสำหรับกลุ่มอสังหา ฯ เลือกหุ้นเด่นที่ได้ประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว, มีพอร์ตสินค้าหลากหลาย, และปันผลเกิน 6% ได้แก่
ด้าน บล.กรุงศรี พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ว่า มีมุมมองเชิงบวกต่อหลักทรัพย์ที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นอสังหา(Property Stimulus) จากที่ประชุมครม.ที่เห็นชอบมาตรการลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์จาก 2% เหลือ 0.01 และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ จาก 1 เหลือ 0.01 มีผลถึง 31 ธ.ค. 67 และมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรดาสำหรับสร้างบ้านใหม่สูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาท
โดยฝ่ายนักวิเคราะห์มองเป็นจิตวิทยาบวกต่อกลุ่มอสังหาฯ ช่วยให้ผู้ที่มีแผนซื้อบ้านและสร้างบ้านตัดสินใจเร็วขึ้น โดยเฉพาะ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หรือ SPALI, บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AP และ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน ) หรือ SIRI
รวมถึงมองบวกต่อกลุ่มสินค้าปรับปรุงบ้าน อาทิ บริษัท ดูโฮม จำกัด (มหาชน) หรือ DOHOME , บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ HMPRO และโดยเฉพาะ บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ
GLOBAL