นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ หรือ TISCO เปิดเผยว่า ในไตรมาสแรกของปี 2567 กลุ่มทิสโก้มีกำไรสุทธิ 1,733 ล้านบาท ลดลง 3.3% จากไตรมาส 1 ของปีก่อนหน้า สาเหตุจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในกลุ่มธุรกิจหลักชะลอตัวลง ทั้งรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจหลักทรัพย์ที่ถูกกดดันจากภาวะตลาดทุนที่ยังไม่ฟื้น และรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจนายหน้าประกันภัยที่อ่อนตัวลงตามปริมาณการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถใหม่ที่ชะลอตัวตามยอดขายรถยนต์ในประเทศ อีกทั้ง ต้นทุนทางการเงินยังเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยปรับลดลง และคาดว่าจะถูกกดดันต่อตลอดทั้งปี
ในส่วนของสินเชื่อรวมขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.2% จากปีก่อนหน้า ส่วนใหญ่มาจากการขยายตัวของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ สินเชื่อ SME และสินเชื่อรายย่อยในกลุ่มให้ผลตอบแทนสูง (High Yield) โดยเฉพาะสินเชื่อจำนำทะเบียน “สมหวัง เงินสั่งได้” โดยในช่วงที่ผ่านมา บริษัทเพิ่มความรอบคอบและระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อ รวมถึงติดตามและดูแลลูกหนี้อย่างใกล้ชิด ท่ามกลางปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังเปราะบาง และคุณภาพลูกหนี้ที่อ่อนตัวลง
บริษัทเพิ่มระดับการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss – ECL) มาอยู่ที่ 0.5% ของสินเชื่อเฉลี่ย เพื่อรองรับความเสี่ยงของลูกหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ยังคงรักษาอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 20.9%
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้น อนุมัติการจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานปี 2566 ในอัตราหุ้นละ 7.75 บาท ซึ่งบริษัทได้จ่ายปันผลระหว่างกาลไปแล้วเมื่อเดือนกันยายน 2566 ที่อัตรา 2 บาทต่อหุ้น จึงเสนอจ่ายปันผลงวดสุดท้ายในอัตราหุ้นละ 5.75 บาท พร้อมเตรียมขึ้น XD วันที่ 24 เมษายน 2567 และจ่ายปันผลในวันที่ 15 พฤษภาคม 2567
ในระยะข้างหน้า กลุ่มทิสโก้ ยังคงเดินหน้าขยายการเติบโตในธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญ บนเส้นทางการเติบโตอย่างรับผิดชอบและยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการรักษาความแข็งแกร่งในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้และภาระหนี้ของลูกค้า ตลอดจนการใช้ความเป็นมืออาชีพเข้าไปให้คำปรึกษาแนะนำลูกค้าอย่างใกล้ชิด พร้อมเดินหน้า “วางแผนอนาคต…เพื่อคุณ” เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินให้คนไทย ในฐานะ “Your Trusted Financial Advisor” สถาบันการเงินที่คุณเชื่อมั่นไว้วางใจได้
“ ในปีนี้กลุ่มทิสโก้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ที่ระดับ 3% ลดลงจากประมาณการในครั้งก่อนที่คาดว่าจะอยู่ที่ 3.5% โดยเป็นการทยอยฟื้นตัวแบบ “ต้นร้าย-ปลายดี” ปัจจัยหนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณที่คาดว่าจะทำได้ในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์เป็นต้นไป รวมถึงภาคการส่งออกสินค้าที่จะทยอยฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี
อย่างไรก็ดี แม้เศรษฐกิจไทยจะมีสัญญาณที่ดี แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ขณะที่คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย มีแนวโน้มปรับลดลงในครึ่งหลังของปี และจะช่วยลดภาระต้นทุนดอกเบี้ยได้ในที่สุด
ดังนั้น ในปี 2567 นี้ ทิสโก้ครบรอบ 55 ปี จะยังคงให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างมีคุณภาพ พร้อมส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้คนไทย ทั้งเรื่องการวางแผนการเงินให้เกษียณสุข (Social Well-being with Financial Freedom & Security) ควบคู่กับการให้ความรู้ทางการเงินเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแก่สังคม ขณะที่กลุ่มธุรกิจบรรษัท จะมุ่งให้บริการทางการเงินแก่ธุรกิจสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทน การสนับสนุนให้ลูกค้าปรับตัวไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เป็นต้น” นายศักดิ์ชัยกล่าว
สรุปผลประกอบการสำหรับงวดไตรมาส 1 ปี 2567
ผลการดำเนินงานของกลุ่มทิสโก้สำหรับงวดไตรมาส 1 ปี 2567 บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 1,733 ล้านบาท ลดลง 3.3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566 สาเหตุมาจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยชะลอตัวลง ประกอบกับการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ที่เพิ่มขึ้น ภาพรวมรายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 2.1% จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เติบโตได้ 5.4% ตามการขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ดี ต้นทุนทางการเงินยังคงปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามทิศทางของดอกเบี้ยในตลาด ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอ่อนตัวลง 5.5% เป็นผลมาจากรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่ยังไม่ฟื้นตัวท่ามกลางภาวะตลาดทุนที่ซบเซา ประกอบกับรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจนายหน้าประกันภัยที่อ่อนตัวลงตามปริมาณการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถใหม่ที่ชะลอตัว ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง 0.8% ในขณะที่สำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss – ECL) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.5% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย เพื่อรองรับความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) สำหรับงวดไตรมาส 1 ปี 2567 อยู่ที่ 16.0%
เงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 มีจำนวน 235,218 ล้านบาท เติบโตเล็กน้อย 0.2% จากสิ้นปี 2566 จากสินเชื่อบรรษัทขนาดใหญ่และสินเชื่อ SME เป็นหลัก ประกอบกับสินเชื่อจำนำทะเบียน “สมหวัง เงินสั่งได้” ที่ขยายตัวตามแผนการเปิดเครือข่ายสาขาทั่วประเทศ ในขณะที่บริษัทเพิ่มความระมัดระวังและรอบคอบในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องมาจากเศรษฐกิจไทยยังเปราะบางและคุณภาพลูกหนี้อ่อนแอลง สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) เพิ่มขึ้นจากงวดก่อนหน้ามาอยู่ที่ 2.27% ของสินเชื่อรวม อย่างไรก็ดี บริษัทยังคงดำเนินนโยบายการบริหารความเสี่ยงและตั้งสำรองอย่างรัดกุม มีระดับค่าเผื่อสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Coverage Ratio) อยู่ที่ 177.8%
ธนาคารทิสโก้ยังคงรักษาระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง โดยมีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 20.9% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 11.0% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 18.7% และ 2.1% ตามลำดับ