ส่วนต่างดอกเบี้ยสหรัฐฯ-ไทย ฉุดบาทอ่อนทะลุ 37 บาท หุ้นส่งออกรับอานิสงส์

30 เม.ย. 2567 | 09:35 น.

โบรกคาดเงินบาทอ่อนค่าทะลุ 37 บาท ยังไม่สุด มีโอกาสแตะกรอบ 38-40 บาท สาเหตุจากส่วนต่างดอกเบี้ยสหรัฐฯ-ไทย ที่กว้าง ผลตอบแทนตราสารหนี้สหรัฐฯสูง หนุนการเคลื่อนย้ายเงินทุน มองบาทอ่อนเป็นบวกต่อหุ้นส่งออกอาหาร และการท่องเที่ยว

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์เงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปลายปี 2566 เป็นต้นมานั้น ส่งผลให้ตอนนี้เงินบาท่อนตัวลงทะลุ 37 บาทแล้ว ทางฝ่ายคาดว่าบาทอาจอ่อนค่าไปได้ถึง 38-40 บาท หลักๆ เป็นผลมาจากส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาและไทย โดยยิลด์พรีเมี่ยม เรตติ้งของสหรัฐฯ ในตราสารหนี้มีความจูงใจมากกว่า ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุน

ส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์แข็งค่ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่เพียงแค่เงินบาทที่อ่อนค่าเท่านั้น สกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคก็อ่อนค่าลงเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ทางฝ่ายคาดการณ์ว่าการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์อาจยังคงเป็นไปเช่นนี้ต่อไปจนกว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะมีการปรับลดดอกเบี้ยลง 3-4 ครั้ง ซึ่งอาจไม่ได้เกิดขึ้นทั้งหมดภายในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยสถานการณ์เงินบาทที่อ่อนค่าในปัจจุบันไปคลายคลึงกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 24 ปีก่อน ขณะเดียวกันการเคลื่อนย้ายเงินทุนก็มีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนด้วยเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ มองว่าจากการอ่อนลงของค่าเงินบาท ก็ยังส่งอานิสงส์เชิงบวกทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อกลุ่มหุ้นที่มีธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการส่งออก โดยอานิสงส์ทางตรงจะมีผลเชิงบวกต่อหุ้นในกลุ่มที่ส่งออกอาหาร อาหารสัตว์เลี้ยง กลุ่มเครื่องดื่ม และกลุ่มเครื่องสำอาง ทางฝ่ายค่อนข้างชอบกลุ่มส่งออกอาหาร ได้แก่ BTG GFPT TFG และ TU ส่วนส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง ชอบ AAI และ ITC ในขณะที่กลุ่มรับอานิสงส์เงินบาทอ่อนค่าทางอ้อม ได้แก่ กลุ่มการท่องเที่ยว กลุ่มการบริการ และกลุ่มการแพทย์และสุขภาพ แนะนำ ERW AOT SPA และ BDMS เป็นต้น

นายประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการด้านกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด กล่าวว่า นับตั้งแต่ตั้นปี 2567 จนถึงปัจจุบัน เงินบาทอ่อนค่าลงมากว่า 98% แล้ว และคาดว่าอาจใกล้จุด Buttom แล้ว โอกาสที่จะลงไปลึกกว่านี้อีกคงมีน้อย

โดยจากเงินบาทที่อ่อนค่าวงมองว่าจะส่งอานิสงส์เชิงบวกต่อกลุ่มหุ้นที่ทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการส่งออก เน้นที่กลุ่มส่งออกอาหาร เนื่องจากราคา หมู ไก่ และพืชผักต่างๆ มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีจนถึงปัจจุบัน โดยกลุ่มหุ้นที่ได้รับประโยชน์ดังกล่าว ได้แก่ CPF TU AAI ITC RBF และ XO เป็นต้น