ดร.นิเวศน์ : กำเนิดเซียนหุ้นเวียดนาม-จีน

12 พ.ค. 2567 | 00:59 น.

ตั้งแต่ต้นปี 2567 ดัชนีตลาดหุ้นเวียดนามปรับตัวขึ้นไปประมาณ 10% แล้วนับถึงวันที่ 10 พฤษภาคม นับเป็นการฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 2566 ที่ดัชนีปรับตัวขึ้นไปประมาณ 12%

โดยเหตุผลของการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นนั้นมาจากการฟื้นตัวของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวมาตั้งแต่ปี 2566 หลังจากสถานการณ์วิกฤติโควิด 19 “จบลง”

ตัวเลขการนำเข้าและส่งออกที่เคยซบเซาเพราะภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่เอื้ออำนวยนั้น เดือนเมษายนที่ผ่านมาเติบโตขึ้น 19.9% และ 10.6% ตามลำดับ ซึ่งทำให้ประเทศได้เปรียบดุลการค้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 8.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ  ตัวเลขการบริโภคของประชาชนคือการค้าปลีกเพิ่มขึ้น 9%  รายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 58% และ 4 เดือนที่ผ่านมานั้นแซงช่วงก่อนโควิดไปแล้ว การลงทุนทางตรงของต่างชาติตั้งแต่ต้นปีเพิ่มขึ้น 7.4% แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเศรษฐกิจที่จะเติบโตต่อไปอย่างมั่นคง  เช่นเดียวกับค่าเงินด่องที่อ่อนค่าลงน้อยกว่าหลาย ๆ ประเทศรวมถึงไทยนับตั้งแต่ต้นปี

ดูเหมือนว่าเวียดนามกำลัง “ตั้งหลัก” ได้  และกำลัง “ฟื้นตัว” จากภาวะวิกฤติเนื่องจากโควิด 19 ซึ่งช่วงหนึ่งดัชนีหุ้นตกลงมาอย่างรุนแรงประมาณ 45% จนเหลือประมาณ 650 จุด เมื่อประมาณ 4 ปีก่อน  ถึงวันนี้ เศรษฐกิจของเวียดนามแข็งแกร่งและโตขึ้นมาก  ตัวเลขและดัชนีทางเศรษฐกิจทุกตัวปรับขึ้นอย่างโดดเด่นซึ่งส่งผลให้สถานะทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองในระดับโลกของเวียดนามสูงขึ้นมาก และแม้ว่าในช่วงเร็ว ๆ นี้จะมีประเด็นทางการเมืองที่ผู้นำหลายคนต้องถูกปรับให้ออกไปเนื่องจากประเด็นการคอร์รัปชั่น  ก็ดูเหมือนจะไม่กระทบกับเศรษฐกิจแต่อย่างใด

ตลาดหุ้นจีนที่ฮ่องกง นับตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 10 พฤษภาคม ปรับตัวขึ้นไปประมาณ  13% แล้วทั้ง ๆ ที่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ดัชนีตกลงมาประมาณ 11% และเป็นจุดที่ต่ำมากคือต่ำกว่าจุดสูงสุดในช่วงไม่น้อยกว่า 10 ปีที่ผ่านมา  ทำให้ราคาหุ้นถูกมากคือมีค่า PE ต่ำกว่า 10 เท่าทั้ง ๆ ที่บริษัทจดทะเบียนเป็นบริษัทใหญ่และเป็นบริษัททางเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่มีความสามารถในการแข่งขันระดับโลก   

นั่นทำให้รัฐบาลจีนต้องออกมาประกาศที่จะเข้ามาดูแลและพยุงหุ้นด้วยเม็ดเงินมหาศาล  ซึ่งก็ส่งผลให้หุ้นฮ่องกงเริ่มปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นถึงประมาณ 27% ภายในเวลาเพียง 4 เดือนแม้ว่ารัฐบาลดูเหมือนว่าจะยังไม่ได้ทำอะไรมากตามที่ประกาศไว้  อาจจะเป็นเพราะนักลงทุนเริ่มเห็นว่า  ด้วยราคาหุ้นที่ถูกมากและรัฐบาลเริ่มที่จะเปลี่ยนมุมมองต่อตลาดหุ้นในทางที่ดีขึ้นแทนที่จะ “ทุบ” บริษัทขนาดใหญ่โดยเฉพาะหุ้นเท็คในช่วงหลายปีที่ผ่านมาซึ่งทำให้หุ้นแย่มาหลายปี

การเพิ่มขึ้นของดัชนีหุ้นจีนรอบนี้แม้ว่าจะแรง  แต่ถ้ามองยาวออกไปซึ่งจะต้องอาศัยการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศมารองรับก็อาจจะมีคำถามสำคัญที่ตามมา  จริงอยู่  ตัวเลขทางเศรษฐกิจล่าสุดในเดือนเมษายนแสดงให้เห็นว่าการส่งออกเริ่มจะฟื้นตัวที่บวก 1.5% เทียบกับปีก่อนจากเดือนก่อนที่การส่งออกติดลบ 7.5%  ในขณะที่การนำเข้าก็เพิ่มขึ้น 8.4% 

ซึ่งเป็นสัญญาณว่าการเติบโตของ GDP จะดีขึ้น  แต่ปัญหาก็คือ  ประเทศผู้ส่งออกที่เป็นคู่แข่งหลายประเทศเช่นเกาหลีใต้และใต้หวันต่างก็ส่งออกเพิ่มขึ้นมากกว่า 10%  ซึ่งนั่นอาจจะเป็นสัญญาณว่าจีนอาจจะกำลังถดถอยลงในด้านของการแข่งขัน  ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งอาจจะมาจากสงครามการค้าที่เกิดขึ้นกับสหรัฐ  ซึ่งนับวันจะยิ่งรุนแรงขึ้น
 

ดังนั้น  การปรับเพิ่มขึ้นของหุ้นในระยะยาวก็อาจจะไม่โดดเด่นตามการเติบโตของเศรษฐกิจที่อาจจะเติบโตช้าลง  พูดง่าย ๆ  หลังจากการปรับตัวรอบนี้แล้ว  อนาคตก็อาจไปต่อไม่ได้มากโดยเฉพาะเมื่อค่า PE ของหุ้นสูงขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร  การปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นของตลาดหุ้นจีนและเวียดนามในช่วงเร็ว ๆ นี้  ได้ทำให้นักลงทุนไทยหลาย ๆ  คนที่เข้าไปลงทุนก่อนหน้านี้ได้กำไรหรือทำผลตอบแทนที่ดีมาก  เพราะไม่ใช่เป็นเพราะตัวดัชนีหุ้นอย่างเดียว  แต่ “หุ้นรายตัว” หลายตัวที่นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนนั้น  มีการปรับตัวขึ้นไปสูงมาก  

หุ้นเวียดนามที่ทำกำไรให้ VI หลายคนกำไรเป็นกอบเป็นกำมักจะเป็นหุ้นแนว “ซุปเปอร์สต็อก” นั่นคือ  เป็นหุ้นที่โตเร็วและราคาถูกหรือไม่แพงซึ่งก็หาได้ไม่ยาก  เพราะเศรษฐกิจเวียดนามโตเร็วมาก  แทบทุกอุตสาหกรรมยังเติบโต  ในขณะที่ราคาหุ้นยังถูก ค่า PE ไม่เกิน 10 เท่า เช่นในอุตสาหกรรมการเงินและอสังหาริมทรัพย์  ส่วนในอุตสาหกรรมที่เริ่มเห็นผู้ชนะชัดเจนเช่น ผู้ค้าปลีก อุตสาหกรรมเทคโนโลยี  และสนามบินและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องก็มักมีค่า PE ระดับแค่ 20 เท่าบวกลบ  หุ้นเหล่านี้ต่างก็ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำให้ VI หลายคนรวมถึงผู้บริหารกองทุนเวียดนามหลายรายกลายเป็น  “เซียนหุ้นเวียดนาม”  ไปแล้ว

หุ้นจีนนั้น  ก่อนหน้านี้ประมาณแค่ 6-7 เดือนก็ยังหาคนที่ลงทุนแล้วทำกำไรดียากมาก  เพราะดัชนีหุ้นลดลงมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา  อย่างไรก็ตาม  การตกลงมาของหุ้นอย่างแรงครั้งสุดท้ายได้ก่อให้เกิด  “หุ้นถูกสุด ๆ” จำนวนมาก  บางบริษัทที่ถูกรัฐบาล “ทุบ” อย่างรุนแรงเช่นที่เกี่ยวกับการศึกษาที่รัฐประกาศนโยบาย “ไม่ให้เป็นธุรกิจที่ค้ากำไร” ซึ่งทำให้บริษัทจดทะเบียนที่เป็นโรงเรียนทุกประเภทแทบจะหมดค่า  ราคาหุ้นตกลงมา 80-90% ค่า PE เหลือแค่ 2-3 เท่าก็มี

นั่นยังไม่รวมถึงหุ้นเท็คโนโลยีชั้นนำที่ถูก  “ทุบ”  ไปก่อนหน้านั้นแล้วที่ค่า PE ลดลงมามากและก็ต่ำมากเทียบกับหุ้นเทคระดับโลกอื่น ๆ 

VI ที่กล้าเข้าไปลงทุนในช่วงที่ “มืดมน” มากของหุ้นจีน เพราะทั้งถูกสหรัฐแซงชั่นและข่มขู่ว่าจะยังทำต่อไป  และถูกรัฐบาลจีนกดดันอย่างหนักเนื่องจากไป  “ท้าทาย”  นโยบาย “Common Prosperity” หรือการทำให้เกิด “ความเท่าเทียมของประชาชน” ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ  ต่างก็ได้รับผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมในระยะเวลาที่สั้นมาก  ซึ่งก็ทำให้กลายเป็น  “เซียนหุ้นจีน” ไป

บางคนอาจจะยังไม่แน่ใจว่าอะไรคือ “เซียนหุ้น” เพราะไม่มีนิยามที่ชัดเจน  ผมเองจึงลองกำหนดลักษณะของคนที่จะได้รับฉายา “เซียนหุ้น” แบบหยาบ ๆ  ดังต่อไปนี้

ข้อแรกคือ  ต้องทำกำไรจากหุ้นเวียดนามและจีน “เยอะมาก” ในระยะเวลาค่อนข้างสั้น  เช่น  หุ้นบางตัวกำไรเป็นเท่าตัวหรือหลายเท่าตัวในเวลาเพียงไม่กี่เดือนหรือแค่ปีสองปี  เม็ดเงินที่ได้ก็ต้องเป็นหลักล้านหรือหลาย ๆ  ล้านบาทขึ้นไป  

ข้อสองคือ ถ้าจะเป็นเซียนได้  พอร์ตส่วนตัวโดยรวมก็ต้องใหญ่หรือใหญ่มาก  เป็นหลัก 10 หรือ 100 บางคนก็อาจจะเป็นพันล้านบาท  ซึ่งพอร์ตนี้ก็อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับหุ้นที่ทำกำไรได้ในตลาดเวียดนามหรือจีนมากนัก  พูดง่าย ๆ  นักลงทุนพอร์ตเล็กแม้ว่าจะทำผลตอบแทนดีแค่ไหน  คนก็ไม่เรียกว่าเซียน

ข้อสามก็คือ  สาธารณชน “รับรู้” หรือ “เข้าใจ” ว่าเขาทำอะไรและอย่างไรที่ทำให้รวยหรือได้รับผลตอบแทนจากหุ้นที่สูงลิ่ว  อาจจะเนื่องจากมีสื่อที่นำเรื่องราวมาบอกแก่สาธารณชน  มีการเปิดเผยข้อมูลจากหน่วยงานและเวบไซ้ต์สาธารณะถึงจำนวนและราคาของหุ้นที่ “เซียน” ถือ  และสุดท้ายที่มักจะเกิดขึ้นก็คือ  มีการออกรายการและให้สัมภาษณ์กับสื่อทางการเงินต่าง ๆ  ถึงรายละเอียดของกลยุทธ์การลงทุนที่ทำ

อีกประเด็นหนึ่งที่ผมคิดว่ากำลังจะเกิดขึ้นในตลาดหุ้นไทยก็คือ  จะมี “เซียนหุ้นจีน-เวียดนาม”  ที่ไม่ได้บริหารเงินตนเอง แต่เป็นคนที่ “บริหารกองทุนรวม” หุ้นจีนและ/หรือเวียดนาม ที่เป็นกองทุน  “Active Fund” แนวเฮดจ์ฟันด์ที่เลือกหุ้นลงทุนเป็นรายตัวและมีข้อจำกัดในการลงทุนน้อย  ในขณะที่ผู้ลงทุนก็มักจะเป็น “รายใหญ่” ที่ต้องถือหน่วยลงทุนในระดับอย่างน้อยเป็นแสนหรือหลักล้านบาทขึ้นไป  อานิสงส์ส่วนหนึ่งจากประเด็นเรื่องภาษีการลงทุนหุ้นต่างประเทศที่ทำให้นักลงทุนส่วนบุคคลจะต้องเสียภาษีบุคคลธรรมดาที่สูงสุด 35% หากมีกำไรจากการลงทุนและนำเงินกลับไทย

การ “กำเนิด” เซียนหุ้นเวียดนาม-จีน นี้  แน่นอนว่าอาจจะมีโอกาสที่จะ  “ดับ” ได้ในอนาคต  ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกับตลาดหุ้นไทยที่เคยมี “เซียนหุ้น” เกิดขึ้นมากมายแบบไม่น่าเชื่อในยุคที่ตลาดหุ้นบูมและเอื้ออำนวย  ในช่วงนั้นเรามี “เซียนหุ้น” เกิดขึ้นมากจนแทบจะ “เดินชนกัน” แต่ละเซียนต่างก็มีสไตล์ที่แตกต่างกันออกไป  ตั้งแต่แนวซุปเปอร์สต็อก  แนวเทรดเดอร์ทั้งแบบ VI และโมเมนตัม  แนวหุ้น Turnaround หรือหุ้นฟื้นตัว  มีทั้งแบบที่เสี่ยงมากเพราะใช้เงินกู้มหาศาลและแนวที่เสี่ยงน้อยกว่าแต่ก็ยังลงทุนในหุ้นเต็มร้อย  แต่เมื่อภาวะตลาดตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องและยาวนาน  เซียนจำนวนมากก็ “ล้มหายตายจาก” ไป

คงต้องดูกันต่อไปว่าพัฒนาการของ “เซียนหุ้นจีน-เวียดนาม” จะไปได้ไกลแค่ไหน