นายต่อตระกูล สัตยาประเสริฐ Head of Structuring and Products Development ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนา หัวข้อ Discover new opportunities : ลงทุนสินทรัพย์ทางเลือก ซึ่งจัดโดย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ณ หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ถึงแนวโน้มและทางเลือกในการลงทุน ตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ หรือ DR (Depositary Receipt ) ว่า ปัจจุบันมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือมาร์เก็ตแคปในตลาด DR กับ DRx ( DRx : DR อ้างอิงหลักทรัพย์ในโซนตลาดหุ้นสหรัฐ ฯ ) รวมกันมีมูลค่า 26,307 ล้านบาท เทียบจากสิ้นปี 2566 ที่มีมูลค่าตลาดราว 17,083 ล้านบาท โดยมูลค่าหลักทรัพย์โตกว่า 54% จากผู้ออก 4 บริษัท ในตลาด ได้แก่ธนาคารกรุงไทย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง , บล.หยวนต้า และบล.เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์กลุ่ม DR ในตลาด ณ ต้นเดือนมิถุนายน 2567 จำนวน 36 หลักทรัพย์ และวันนี้ ( 17 มิ.ย.67 ) เพิ่มอีก 6 หลักทรัพย์ใหม่ ออกโดยธนาคารกรุงไทยโดยเปิดซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นวันแรก เป็น DR 3 หลักทรัพย์ใหม่อ้างอิงหุ้นญี่ปุ่น ได้แก่ Sony, Toyota และ Uniqlo และ DRx 3 หลักทรัพย์ใหม่ อ้างอิงหุ้นสหรัฐอเมริกา ได้แก่ Berkshire Hathaway, Coca-Cola และ Pepsi
โดยรวมทั้ง 42 หลักทรัพย์ ครอบคลุมทั้งหุ้นในสหรัฐอเมริกา ยุโรป เวียดนาม ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฮ่องกง เทียบจากปี 2564 ที่ตลาดมี DR เพียง 1 หลักทรัพย์ จำนวนนี้เป็นการออกโดยธนาคารกรุงไทยทั้งสิ้น 24 หลักทรัพย์ และในครึ่งหลังปี 67 ธนาคาร ฯ มีแผนจะมี DR อีก 10 หลักทรัพย์
นายต่อตระกูล มองแนวโน้มการลงทุนใน DR ว่า ยังเป็นทางเลือกเพื่อกระจายการลงทุน ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเลือกลงในหุ้นชั้นนำของต่างประเทศ ได้หลากหลายตรงตามความต้องการ ข้อดีของการลงทุนใน DR ไม่เพียงได้รับสิทธิผลตอบแทนเสมือนเป็นการลงทุนในหุ้นต่างประเทศโดยตรง และเลือกหุ้นรายตัวได้โดยไม่ต้องโอนเงินไปต่างประเทศ เสมือนการซื้อหุ้นไทยตัวหนึ่ง โดยซื้อขายผ่านโปรแกรมสตรีมมิ่ง ( Streaming) และจากการที่เป็นหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย การลงทุนใน DR จึงไม่ต้องเสียภาษีภาษีเงินได้จากการลงทุนหุ้นต่างประเทศ