"รองรักษ์" ชี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมตีกรอบผู้บริหารตึ้งหุ้น ดักทางฟอสเซล

10 ก.ค. 2567 | 04:57 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ค. 2567 | 05:27 น.

"รองรักษ์ พนาปวุฒิกุล" เดินหน้าอุดช่องโหว่ผู้บริหารนำหุ้นไปวางค้ำประกันบัญชีมาร์จิ้น เร่งปรึกษาร่วมกับหน่วยงานที่กำกับ พิจารณาปรับเกณฑ์ใหม่ให้ครอบคลุมการรายงานของสถาบันการเงินต่างประเทศ

นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกฎหมายและบริหารกิจกรรมเพื่อสังคมหัวหน้ากลุ่มงานกฎหมายและวินัยและหัวหน้ากลุ่มงานเลขานุการองค์กรและกำกับองค์กร และในฐานะโฆษก ตลท. เปิดเผยว่า จากกรณีที่ผู้บริหาร หรือ ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งโดนบังคับขายหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Forced Sell) เนื่องจากมีการนำหุ้นไปวางค้ำประกันบัญชีมาร์จิ้นในระดับสูง เป็นเรื่องที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ และหน่วยงานที่กำกับดูแล กำลังพิจารณาปรับปรุงเกณฑ์ดูแลใหม่

โดยเฉพาะในเรื่องของการเปิดเผยข้อมูลหลักทรัพย์ที่วางเป็นประกัน การชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิ้น ให้มีความรวดเร็วและโปร่งใสมากขึ้น จากปัจจุบันที่เป็นการข้อมูลสรุปย้อนหลัง 1 เดือน ซึ่งตลาดหลักทรัพย์จะนำข้อมูลที่บริษัทหลักทรัพย์รายงานต่อสำนักงาน ก.ล.ต. มารายงานให้กับนักลงทุนบนเว็บไซต์ โดยข้อมูลทั้งหมดที่ได้จะมาจากการรายงานของบริษัทหลักทรัพย์ ทั้ง 38 แห่งในประเทศ 

นอกเหนือจากข้อมูลหลักทรัพย์ที่ถูกนำไปวางค้ำประกันบัญชีมาร์จิ้นที่ต้องการให้มีการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้นแล้ว ตลาดหลักทรัพย์ ยังพบการทำธุรกรรมอีกรูปแบบ คือ การนำหุ้นไปวางคำประกันกับสถาบันการเงินในต่างประเทศเพื่อกู้ยืมเงิน ซึ่งสิทธิการถือครองหุ้นยังคงเป็นของผู้บริหารอยู่ ทำให้ธุรกรรมดังกล่าวไม่เข้าข่ายการรายงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงอยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงาน ก.ล.ต. ว่ากฎเกณฑ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันจะสามารถขยายครอบคลุมธุรกรรมเหล่านี้ได้หรือไม่

หากไม่ครอบคลุมต้องมีการแก้ไขกฎเกณฑ์เดิมหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาร่วมกัน เบื้องต้นอาจยังไม่สามารถระบุกรอบเวลาที่ชัดเจนได้ว่าจะได้ข้อสรุปเมื่อไหร่ แต่แน่นอนว่าเป็นอีกเรื่องที่ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสำคัญ เพราะมองเห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงตามภาวะตลาดอาจไม่ได้เป็นปัญหามากนัก แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลงจนถึงเกณฑ์ที่ต้องถูก Forced Sell จะยิ่งเป็นแรงกดดันที่รุนแรงต่อผู้ถือหุ้นรายย่อย

"กรณีของการถูก Forced Sell เรามองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายมิติ ซึ่งช่องโหว่ของการรนำหุ้นไปวางค้ำประกันบัญชีมาร์จิ้นกับสถาบันการเงินต่างประเทศ ไม่ได้เข้าข่ายการรายงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทางตลาดหลักทรัพย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ กำลังอยู่ระหว่างเร่งพิจารณาว่ากฎเกณฑ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันจะสามารถขยายครอบคลุมธุรกรรมเหล่านี้ได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้แล้วจะมีการปรับเกณฑ์ใหม่ได้มากน้อยแค่ไหน แต่แน่นอนว่าเป็นอีกเรื่องที่ต้องเร่งทำให้เกิดความโปร่งใส นักลงทุนต้องมีข้อมูลไว้ประกอบการพิจารณาลงทุน"นายรองรักษ์ กล่าว