"กิติพงศ์" เร่งเพิ่มเกณฑ์เผยข้อมูลผู้บริหารตึ้งหุ้น ดักทางฟอร์ซเซล

02 ส.ค. 2567 | 04:23 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ส.ค. 2567 | 04:23 น.

"กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์" เร่งเดินเรื่องเพิ่มเกณฑ์ ผู้บริหารรายงานนำหุ้นไปค้ำประกันบัญชีมาร์จิน ต้องเผยข้อมูลต่อนักลงทุน หลังพบ บจ. หลายแห่งถูกฟอร์ซเซลจำนวนมาก พร้อมเดินหน้าแก้ไขพ.ร.บ.หลักทรัพย์ ให้ก.ล.ต. มีอำนาจในการสั่งฟ้องได้

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันทางตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างศึกษาหลักเกณฑ์การให้ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่นำหุ้นไปค้ำประกันบัญชีมาร์จิน จำเป็นต้องมีการเปิดเผยข้อมูลว่ามีการนำหุ้นไปวางค้ำประกันจำนวนเท่าไร

เพื่อให้นักลงทุนทราบและมีข้อมูลในการตัดสินใจการลงทุน หลังช่วงที่ผ่านมาผู้บริหารของบจ.หลายแห่งถูกบังคับขายหุ้น (Forced Sell) จำนวนมาก ซึ่งเกิดจากนำหุ้นที่ตัวเองถือไปวางบัญชีมาร์จิ้น ส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ถือหุ้นรายย่อย

โดยหากคณะกรรมการ (บอร์ด) ตลาดหลักทรัพย์เห็นชอบ ก็จะดำเนินการออกเป็นหลักเกณฑ์หรือกฎระเบียบ หลังจากนั้นก็จะเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป

ทั้งนี้ ผลการศึกษาการเปิดเผยข้อมูลธุรกรรมต่างๆ ต้องนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ (บอร์ดตลาด) เพื่อพิจารณาก่อน ถ้าอนุมัติต้องส่งเรื่องไปให้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เห็นชอบในหลักการต่อไป จากนั้นต้อง เปิดรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบริษัทหลักทรัพย์ด้วย เบื้องต้นคาดว่าจะเห็นการประกาศใช้ภายในปี 2567 นี้

"การให้ทางผู้บริหารของบจ. เปิดเผยข้อมูลการนำหุ้นไปวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในบัญชีมาร์จิ้น เพื่อต้องการให้นักลงทุนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนหุ้นบริษัทนั้นๆ ว่าของบริษัทไหนบ้างมีการนำหุ้นวางในบัญชีมาร์จิ้น และสัดส่วนเท่าไร โดยการรายงานก็ต้องรายงานทุกครั้งที่นำหุ้นไปวางในบัญชีมาร์จิ้น โดยไม่ได้กำหนดขั้นต่ำในการรายงาน ซึ่งปัญหาที่ผ่านมาผู้บริหารบจ.มีการถูกฟอร์ซเซล  สะท้อนว่าเจ้าของธุรกิจไม่จริงจังทำธุรกิจ นำหุ้นไปวางมาร์จิ้นเพื่อซื้อขายหุ้น แทนที่จะโฟกัสการทำธุรกิจ"

ในเรื่องการเร่งรัดดำเนินคดีต่างๆ ที่เกิดในตลาดหุ้นไทยให้เร็วมากยิ่งขึ้นนั้น ทุกหน่วยงานอยู่ระหว่างการหารือกันที่จะทำงานร่วมกัน เช่น ตลท.เป็นด่านหน้าเมื่อพบกรณีที่มีการกระทำที่เข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์ ก็จะมีการดำเนินการส่งเรื่องให้ก.ล.ต. ซึ่งหากก.ล.ต.อยากได้ข้อมูลอะไรเพิ่ม เพื่อให้ดำเนินการทางคดีได้เร็วขึ้น เพื่อลดระยะเวลาการดำเนินการของก.ล.ต.

รวมถึงหารือในเรื่องให้ก.ล.ต.มีอำนาจในการสั่งฟ้องได้ โดยเรื่องดังกล่าวต้องมีการแก้ไขพ.ร.บ.หลักทรัพย์ ให้สามารถออกมาเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เฉพาะเรื่องออกมาได้ หากเป็นกรณีการกระทำผิดที่กระทบต่อนักลงทุนเป็นวงกว้าง ซึ่งอย่างในประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอเมริกานั้น ก.ล.ต.มีอำนาจในการสั่งฟ้องได้

โดยในช่วงที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ไปศึกษาดูงานที่ตลาดหลักทรัพย์เกาหลีใต้ มองเห็นว่ากระบวนการในการทำเรื่องดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำความผิดนั้น สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วมาก และใช้ระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน ก็สามารถสั่งฟ้องได้แล้ว เป็นอีกหนึ่งโมเดลที่ดี เพราะทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการ่วมกันทำงานทำให้ระยะเวลาในการดำเนินการทำได้เร็ว

ในตอนนี้ตลาดทุนไทยก็อยู่ระหว่างการร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะเร่งรัดการดำเนินคดีต่างๆ ให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เพราะจากการศึกษาดูงานตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่างประเทศหลายแห่งพบว่า การดำเนินคดีต่างๆ เพื่อลงโทษผู้กระทำผิดทำได้ค่อนข้างเร็ว ส่วนใหญ่ใช่ระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือนก็สั่งฟ้องได้