โบรกมองตลาดหุ้นไทย 22 ส.ค.67 เด้งต่อ หลังรัฐฯเคาะข้อสรุปแจกเงินดิจิทัลต่อ

22 ส.ค. 2567 | 00:41 น.
อัพเดตล่าสุด :22 ส.ค. 2567 | 00:41 น.

"กิจพณ ไพรไพศาลกิจ" มองตลาดหุ้นไทยวันที่ 22 ส.ค.67 แกว่งแดนบวก รับปัจจัยบวกดิจิทัลวอลเลตได้ไปต่อ มองการปรับเงื่อนไขแบ่งเงินช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางเป็นผลดี คาดบางส่วนลงกองทุนหมู่บ้าน กระตุ้นการบริโภคในประเทศขยายตัว มองกรอบดัชนี 1,332-1,346 จุด

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ รองกรรมการณผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยวันที่ 22 ส.ค.2567 ประเมินว่ายังคงอยู่ในทิศทางที่เป็นบวกอย่างต่อเนื่อว จากที่วานนี้ (21 ส.ค.2567) ตลาดปิดตัวยืนแดนบวกที่ระดับ 1,337.83 จุด

โดยปัจจัยเชิงบวกมาจากโครงการดิจิทัลวอลเลตได้ไปต่อ แม้ว่าจะมีการปรับเงื่อนไขใหม่เป็นให้กลุ่มเปราะบางที่ลงทะเบียนไว้ก่อนเป็นอันดับแรก ในวงเงิน 1.22 แสนล้าน เป็นเงินสด โดยจ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) แจกครั้งเดียว 10,000 บาท เพื่อเป็นการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐก่อน

เชื่อว่ารัฐบาลมองเห็นว่าความต้องการในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประชาชนนั้นไม่เท่ากัน และที่ผ่านมากลุ่มเปราะบางประสบปัญหาที่ค่อนข้างหนักกว่า สังเกตได้จากตัวเลข NPL สินเชื่อเช่าซื้อที่อยู่อาศัยในกลุ่มระดับล่างที่มีปัญหาสูงในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง เป็นตัวสะท้อนถึงปัญหาของกลุ่มเปราะบางได้อย่างชัดเจน

มองว่าการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในครั้งนี้เป็นผลที่ดี เพราะนอกจากจะช่วยกระตุ้นภาคการบริโภคในประเทศให้ขยายตัวได้เพิ่มขึ้น ยังช่วยเพิ่มคุณภาพลูกหนี้ให้กลับมามีทิศทางที่ดียิ่งขึ้นอีกด้วย ในขณะเดียวกันมองว่าการแบ่งเงินกระตุ้นเศรษฐกิจก้อน 5 แสนล้านบาทย่อยออกมาเป็นโปรเจ็กต์ต่างๆ จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีกว่าเป็นดิจิทัลวอลเลตในก้อนเดียว

และมีโอกาสที่จะนำเงินบางส่วนแบ่งออกไปลงยังกองทุนหมู่บ้าน ที่ปัจจุบันมีกว่า 80,000 แห่ง เพื่อปล่อยกู้ ซึ่งจะเป็นการนำเงินส่งตรงไปยังกลุ่มรากหญ้าได้อย่างเข้าถึงมากกว่า ทำให้เงินที่ปล่อยกู้ไปนั้น ไปช่วยเหลือในการลงทุนทำธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ช่วยเหลือในการเพิ่มสภาพคล่องให้กับประชาชน

เชื่อว่าด้วยรอยต่อทางการเมืองที่ปิดจ๊อบได้ในระยะเวลาที่รวดเร็ว ทำให้เราได้ผ่านจุดที่แย่ที่สุดไปแล้ว พร้อมกันนี้มองว่าในช่วงครึ่งหลังปี 2567 ตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นกว่าเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกปี โดยแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 3/2567 ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) คาดว่าจะออกมาดี

และไตรมาส 4/2567 เข้าสู่ช่วงไฮซีซันของหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการท่องเที่ยว และภาคการเกษตร เพราะเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต อีกทั้งยังได้รับอานิสงส์จากการเร่งเบิกจ่างงบประมาณของภาครัฐที่ถูกแช่แข็งไว้นาน โดยเมื่อผ่านช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน 2567 ไปแล้ว จะเห็นภาพการฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทยและเศรษฐกิจที่ชัดเจนมากขึ้น

ส่วนกระแสเงินลงทุนต่างชาติ (Fund flow) นั้น มองว่าแรงขายจะลดลง ส่วนต่างดอกเบี้ยงระหว่างเงินบาทและดอลลาร์ที่มีแนวโน้มแคบลง จากการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเมืองโดยเฉพาะฝั่งสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนเริ่มกระจายการลงทุนออกไปยังตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ซึ่งไทยเองก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายดังกล่าวด้วย

โดยในช่วงที่เหลือของปี 2567 นี้ ทางฝ่ายคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงประมาณ 1-2 ครั้ง ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ส่วนต่างระหว่างเงินบาทและดอลลาร์แคบลง แต่อย่างไรก็ดี การไหลกลับเข้ามาของ Fund flow ในช่วงปลายปีนี้อาจยังสูงมากนัก แต่เชื่อว่าในปี 2568 จะเห็นการกลับมาที่ชัดเจนมากขึ้น

ด้วยโมเมนตัมทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวระดับหนึ่ง แต่หุ้นเทคโนโลยีและที่เกี่ยวเนื่องกับ AI ดันเพิ่มสูงสวนทางตลาด เพราะความเชื่อว่าเป็นอนาคตใหม่ ทำให้หุ้นหลายตัวมูลค่าสูงเกินกว่าความเป็นจริง ทำให้คาดว่าจากนี้ไปเงินทุนจะเริ่มปรับน้ำหนักการลงทุนให้มาสู่สภาวะความเป็นจริงมากขึ้น

สำหรับกลยุทการลงทุนนั้น ทางฝ่ายยังคงชอบกลุ่มธุรกิจที่ยังคงยืนอยู่ได้แม้ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัว และเป็นธุรกิจที่ยังรับมือได้ โดยกุล่มหุ้นเด่นๆ ได้แก่ หุ้นกลุ่มอาหาร CPF BTG GFPT TU TFG เน้นหุ้นที่มีเนื้อหมู และเนื้อสัตว์อื่นๆ

เพราะราคาเนื้อสัตว์ที่ปรับตัวดีขึ้น หนุนผลการดำเนินงานให้มีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงต้นทุนอาหารสัตว์ที่ปรับตัวลดลง สะท้อนถึงมาร์จิ้นที่ดีขึ้น ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรคนก็ยังต้องกินอยู่ สำหรับหุ้นค้าปลีก แนะนำ CPALL

นอกจากนี้ ยังมองบวกต่อหุ้นกลุ่มสื่อสาร ADVANC TRUE ส่วน SAMART SYNEX คาดจะได้รับอานิสงส์จากการลงทุนของภาครัฐ รวมถึงหุ้นที่มีความมั่นคงของกระแสเงินสด หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า EGCO RATCH ตลอดจนด้วยบอนด์ยิลด์ (Bond Yield) ที่ลดลงจะส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของกลุ่มธนาคารปรับตัวลดลงด้วยเช่นเดียวกัน แนะนำ KBANK และ BBL

ทั้งนี้ ทางฝ่ายประเมินกรอบดัชนีตลาดหุ้นไทยวันที่ 22 ส.ค.2567 ไว้ที่แนวรับระดับ 1,332 จุด และแนวต้านที่ระดับ 1,346 จุด