"ชลากร" สบโอกาสเทรนด์รักสุขภาพ ระดมทุนอัพแกร่งปลูกผักเพราะรักแม่

12 ก.ย. 2567 | 00:00 น.
อัพเดตล่าสุด :12 ก.ย. 2567 | 07:24 น.

บมจ. ปลูกผักเพราะรักแม่ (OKJ) ชี้เทรนด์รักสุขภาพหนุนความต้องการบริโภคผัก-ผลไม้ออร์แกนิกขยายตัวต่อเนื่อง เดินหน้าระดมทุนเสริมแกร่ง วางเป้าปี 71 ขยาย "โอ้กะจู๋" เป็น 71 สาขา เพิ่มพื้นที่ครัวกลางรองรับกำลังผลิตสินค้าวางจำหน่าย Café Amazon แย้มเตรียมโรดโชว์ 19 ก.ย.67 นี้

KEY

POINTS

  • OKJ รับอานิสงส์เทรนด์รักสุขภาพหนุนความต้องการบริโภคผักและผลไม้ออร์แกนิกขยายตัว
  • OKJ เดินหน้าระดมทุนเสริมแกร่ง คลอดสาขาใหม่ เพิ่ม New Business อัพกำลังการผลิตผักเป็น 2.55 ล้านตัน/ปี
  • OKJ เตรียมโรดโชว์ 19 ก.ย.67 นี้

นายชลากร เอกชัยพัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด (มหาชน) หรือ OKJ เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารยังคงมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่ในปัจจุบันเป็นที่นิยมมากขึ้น หลังจากพ้นวิกฤตโรคระบาดที่ผ่านมา พบว่าผู้บริโภคเลือกอาหารและเครื่องดื่มที่มีคุณภาพ และเสริมสุขภาพกันมากขึ้น

ชลากร เอกชัยพัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด (มหาชน) หรือ OKJ

อีกทั้งอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในปี 2567 ยังได้รับอานิสงส์ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการเติบโตของการท่องเที่ยว และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่หนุนให้ความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่เพิ่มขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าเป็นผลกระทบในเชิงบวกต่อธุรกิจ OKJ ด้วยเช่นเดียวกัน

มองว่าอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพไม่ได้เป็นเพียงเทรดชั่วครั้งชั่วคราวแต่เป็นเมกะเทรนด์ ไม่เพียงแค่คนไทยเท่านั้นที่สนใจสุขภาพแต่ชาวต่างชาติเองก็เช่นเดียวกัน สะท้อนต่อแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจ OKJ ได้เป็นอย่างดี แม้ว่าการแข่งขันในปัจจุบันจะค่อนข้างสูง แต่บริษัทก็มั่นใจในคุณภาพ และความหลากหลายของรายการเมนู สามารถตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคได้อย่างดี

โดยจุดเริ่มต้นของ “โอ้กะจู๋” เกิดขึ้นจากความหลงใหลและความทุ่มเทของผู้ร่วมก่อตั้งที่อยากปลูกผักแบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้ลูกค้าที่ใส่ใจสุขภาพได้รับประทานผลผลิตเกษตรอินทรีย์ที่ไม่มีสารพิษและสารเคมีตกค้าง ทำให้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภค ผ่านการบอกปากต่อปาก และการสื่อสารผ่านทางสังคมออนไลน์ (Social network) ถึงความสดใหม่ของวัตถุดิบ คุณภาพและรสชาติของอาหาร

ร้าน "โอ้กะจู๋"

จนส่งผลให้แบรนด์ “โอ้กะจู๋” เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ในฐานะร้านอาหารเพื่อสุขภาพ และเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มธุรกิจร้านอาหารที่เน้นใช้วัตถุดิบอินทรีย์ ซึ่งมีการปลูกผักแบบเกษตรอินทรีย์ด้วยตัวเอง จนทำให้ความนิยมของผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์โอ้กะจู๋เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

สะท้อนได้จากความสำเร็จในการขยายฐานลูกค้าจากเชียงใหม่มายังกรุงเทพฯ ชลบุรี และระยอง การขยายสาขาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ตอกย้ำศักยภาพการเป็น ‘King of Organic Salad’ ของประเทศไทย

อินโฟ OKJ

แผนการดำเนินงานในระยะ 5 ปี ต่อจากนี้ (2567-2571) บริษัทวางแผนจะเพิ่มสาขาแบรนด์ “โอ้กะจู๋” เป็นไม่น้อยกว่า 71 สาขา และเพิ่มในส่วนของ New Business ที่รวมถึงแบรนด์ “Ohkajhu Wrap & Roll” และ แบรนด์ “Oh Juice” ให้เป็นมากกว่า 90 สาขา

ซึ่งจะส่งผลให้โครงสร้างรายได้เปลี่ยนเปลงไป ทำให้ส่วนของ New Business จะมีสัดส่วนรายได้ที่เพิ่มเป็นกว่า 25% ของรายได้ทั้งหมด จากปัจจุบันที่ราว 5% และรายได้จาก แบรนด์ “โอ้กะจู๋” ที่เป็นรายได้หลักจะมีสัดส่วนที่ลดลงเหลือ 75% จากปัจจุบันที่กว่า 95%
 

ขณะที่แผนการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังปี 2567 บริษัทเตรียมขยายสาขา แบรนด์ “โอ้กะจู๋” อีก 6-7 สาขา และแบรนด์ “Oh Juice” ประมาณ 10-15 สาขา ในส่วนของแบรนด์ “Ohkajhu Wrap & Roll” ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาทำเลที่มีความเหมาะสม โดยคาดการณ์ว่าในปี 2568 จะมีการขยายสาขาใหม่อีกประมาณ 2-4 แห่ง ถ้าเป็นไปได้

สำหรับยอดขายต่อสาขาเดิม (SSSG) ในปี 2567 นั้น บริษัทจะพยายามรักษาระดับให้อยู่ที่ไม่น้อยกว่า 7-8% ซึ่งเติบโตใกล้เคียงเมื่อเทียบกับช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 

ทั้งนี้ บริษัทได้ขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจด้วยวิสัยทัศน์ “เรามุ่งมั่นเดินบนวิถีอินทรีย์ที่ดีต่อตัวเราและสังคม” ตอกย้ำการเป็น ‘The King of Organic Salad’ ของประเทศไทย ภายใต้ 3 ธุรกิจ ได้แก่
1. ธุรกิจบริการและจำหน่ายอาหาร ภายใต้แบรนด์ “โอ้กะจู๋” จัดจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพประเภทต่าง ๆ เช่น สลัด สเต็ก สปาเก็ตตี้ อาหารจานเดียว ขนมหวาน น้ำผักผลไม้ เบเกอรี่ รวมถึงนำผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์โอ้กะจู๋ เช่น ผัก ผลไม้สด เป็นต้น วางจำหน่ายในช่องทางต่างๆ โดยมีช่องทางจำหน่าย 4 ช่องทางหลัก คือ

  • ร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full-service Restaurant) เน้นให้บริการและจำหน่ายอาหารมื้อหลักที่ปรุงสดใหม่ รวมถึงการให้บริการแบบ Drive Thru บริการอาหารว่าง (Snack box) และการสั่งอาหารทางออนไลน์ Food Delivery Platform ต่างๆ ในปัจจุบัน มีร้านโอ้กะจู๋ ในรูปแบบ Full-service Restaurant จำนวนรวม 30 สาขา ในเชียงใหม่ กรุงเทพฯ ปริมณฑล ระยอง และชลบุรี
  • ร้านจำหน่ายอาหารเพื่อสุขภาพ (Delivery and Kiosk) เน้น Delivery และ Grab & Go ปัจจุบัน บริษัทเปิดดำเนินการร้านโอ้กะจู๋ ในรูปแบบ Delivery and Kiosk จำนวนรวม 4 สาขา ในกรุงเทพฯ
  • จำหน่ายอาหารว่างและอาหารเพื่อสุขภาพ ใน เช่น แซนวิช สลัดผัก แร็พ สลัด เป็นต้น รวมกว่า 8 รายการ (SKUs) ผ่านร้าน Café Amazon กว่า 450 สาขาในกรุงเทพฯ ปริมณฑล ภาคกลางและภาคตะวันออก
  • การวางจำหน่ายผลผลิตการเกษตรอินทรีย์ ภายใต้แบรนด์ “โอ้กะจู๋” เช่น ผัก ผลไม้ สลัดพร้อมทาน เป็นต้น ผ่าน Rimping Supermarket และ Gourmet Market จำนวน 9 สาขา ในเชียงใหม่ และกรุงเทพฯ

โอ้กะจู๋

2. ธุรกิจร้านอาหารประเภทจานด่วน (Quick Service Restaurant: QSR) ภายใต้แบรนด์ “Ohkajhu Wrap & Roll” จำหน่ายสลัด แร๊พสลัด แซนวิช เบอร์เกอร์ และเมนูสุขภาพพร้อมหยิบ (Grab & Go) ซึ่งเป็นการต่อยอดเมนูของร้านโอ้กะจู๋ เพื่อให้ตอบโจทย์ชีวิตที่เร่งรีบ ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 1 สาขา

3. ธุรกิจร้านน้ำผักผลไม้เพื่อสุขภาพ ภายใต้แบรนด์ “Oh Juice” ได้แก่ น้ำผักและผลไม้ออร์แกนิค ที่มีการจำหน่ายในร้านโอ้กะจู๋ มาพัฒนาสูตรเป็นเมนูเพื่อสุขภาพและเสริมคุณค่าทางโภชนาการให้มีความเหมาะกับคนทุกวัย ซึ่งในปัจจุบันได้เปิดดำเนินการแล้ว จำนวน 6 สาขา

บริษัทมีความเชี่ยวชาญในกระบวนการทำเกษตรอินทรีย์เชิงลึกแบบบูรณาการทุกกระบวนการ ตั้งแต่เพาะเมล็ด เตรียมดิน การดูแลระหว่างเพาะปลูก และเก็บเกี่ยว สามารถรักษาปริมาณและคุณภาพของผักผลไม้ ปลูกผักสลัด ผลไม้ และดอกไม้ทานได้ ด้วยกระบวนการเกษตรอินทรีย์จากสวน 5 แห่งในจังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่รวมกว่า 380 ไร่ คิดเป็นปริมาณราว 8.5 แสนตันต่อปี

แปลงผัก "โอ้กะจู๋"

วัตถุประสงค์การใช้เงินจากการระดมทุน สัดส่วนกว่า 75% ใช้รองรับการขยายสาขา ซึ่งในแต่ละสาขาก็จะใช้เงินลงทุนที่แต่ต่างกันตามโลเคชัน การมาของพันธมิตรอย่าง บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ก็เข้ามาช่วยในหลายด้าน ทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลการสัญจร (Traffic) ในการขยายสาขา และการเพิ่มผลิตภัณฑ์วางจำหน่ายในร้าน Café Amazon ที่ปัจจุบันมีมากกว่า 4,500 สาขา จากสาขาที่บริษัทมีการนำเอาสินค้าไปวางจำหน่ายในตอนนี้มีเพียง 450 สาขาเท่านั้น 

ในส่วนเหลือจะใช้รองรับการลงทุนด้านเครื่องจักร เทคโนโลยีในกระบวนการเพาะปลูก ซึ่งในปัจจุบันบริษัทมีการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในพื้นที่การเพาะปลูกแล้วกว่า 30% ของพื้นที่ทั้งหมด และเมื่อได้เงินจากการระดมทุนแล้วจะลงทุนเพิ่มการนำเอาเทคโนโลยีมาให้ในพื้นที่การเพาะปลูกเพิ่มเป็นไม่น้อยกว่า 70% ซึ่งช่วยเพิ่มผลผลิตให้กับบริษัทได้มากกว่าเดิมถึง 3 เท่า หรือมีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 2.55 ล้านตันต่อปี

แปลงผักสลัดออแกนิก "โอ้กะจู๋"

รวมไปถึงการขยายครัวกลางจากเดิมที่มีพื้นที่ราว 300 ตารางเมตร ให้เพิ่มเป็นกว่า 3,000 ตารางเมตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการจัดเตรียมวัตถุดิบ น้ำซอส น้ำสลัด เบเกอร์รี่ และเครื่องดื่มต่างๆ รองรับการขยายสาขาใหม่ๆ รวมถึงรองรับการจำหน่ายให้กับร้าน Café Amazon ที่เพิ่มมากขึ้น เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการในไตรมาส 3/2568

นอกจากนี้ ยังมองการนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปเพิ่มขีดความสามารถในการวิจัยและพัฒนา (R&D) รวมถึงการขยายธุรกิจใหม่ๆ ที่สามารถเข้ามาช่วยต่อยอดธุรกิจเดิมได้ เพิ่มเติม

การจัดสรรเงินที่ได้จากการระดมทุน

  • ขยายธุรกิจไม่จำกัดเพียงการขยายสาขาร้านโอ้กะจู๋ การขยายสาขาสำหรับธุรกิจหรือแบรนด์ใหม่ๆ การปรับปรุงสาขา และขยายช่องทางการจำหน่าย
  • ลงทุนสร้างครัวกลางแห่งใหม่ และพัฒนาเครื่องจักร อุปกรณ์ และเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ระบบการบริหารจัดการวัตถุดิบสินค้าคงเหลือ ระบบขนส่ง และสำนักงาน เป็นต้น
  • ลงทุนและพัฒนาเครื่องจักร อุปกรณ์ และระบบสาธารณูปโภคเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูก รวมถึงการสร้างสถานที่ตรวจสอบคุณภาพผลผลิต (In-House Lab) เป็นต้น
  • ลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และต่อยอดธุรกิจอย่างยั่งยืน รวมถึงการลงทุนในธุรกิจใหม่ การร่วมลงทุน การซื้อธุรกิจ การควบรวมกิจการ
  • ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน

"เรามองเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจ แต่ติดที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ทำให้การขยายสาขานั้นมีอุปสรรค ดังนั้น ในช่วงปี 60-61 เราจึงเริ่มวางแผนในการนำเอา OKJ เข้าระดมทุน เพื่อนำเงินที่ได้มาต่อยอดธุรกิจและเพิ่มศักยภาพในการเติบโตให้เพิ่มมากขึ้นและสร้างการเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว สามารถหามืออาชีพเข้ามาช่วยพัฒนาธุรกิจ ได้เป็นอีกแรงหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนชุมชน ครอบครัว เกษตรกร ลูกค้า ให้มีชีวิตที่ยืนยาว สุขภาพดี มีความสุขร่วมกันอย่างยาวนาน และให้ผลตอบแทนที่ดีกับผู้ถือหุ้น"

โครงสร้างผู้ถือหุ้น

รายชื่อผู้ถือหุ้น ก่อนเสนอขายหุ้น IPO และหลังเสนอขาย IPO ประกอบด้วย

  • ครอบครัวเอกชัยพัฒนกุล ถือหุ้น 208,800,000 หุ้น หรือ 46.40% หลัง IPO จะลดเหลือ 190,356,000 หุ้น หรือ 31.26%
  • นายจิรายุทธ ภูวพูนผล ถือหุ้น 100,800,000 หุ้น หรือ 22.40% หลัง IPO จะลดเหลือ 93,394,000 หุ้น หรือ 15.34%
  • ครอบครัวสุชัยบุญศิริ ถือหุ้น 50,400,000 หุ้น หรือ 11.20% หลัง IPO จะลดเหลือ 44,450,000 หุ้น หรือ 7.30%
  • บริษัท มอดูลัส เวนเจอร์ จำกัด (Modulus) (บริษัทย่อยที่ OR ถือหุ้นทางอ้อมผ่านบริษัท พีทีที โออาร์ โฮลดิงส์ จำกัด ในสัดส่วน 100.0%) ถือหุ้นใน OKJ จำนวน 90,000,000 หุ้น หรือ 20.00% หลัง IPO จะถือเพิ่มเป็น 121,800,000 หุ้น หรือ 20.00%

ผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 ราย และบริษัท มอดูลัส เวนเจอร์ จำกัด ได้เข้าทำหนังสือแสดงเจตจำนงแบบไม่มีภาระผูกพันตามกฎหมาย (Non-binding letter) โดย Modulus มีความประสงค์ที่จะซื้อหุ้นสามัญเดิมจากผู้ร่วมก่อตั้งจำนวนรวม 31,800,000 หุ้น คิดเป็น 5.2% ในราคาเดียวกับราคาเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนในครั้งนี้

ในวันแรกที่หุ้นสามัญของบริษัทเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ บนกระดานรายใหญ่ (Big Lot Board) ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งการซื้อหุ้นดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อคงสัดส่วนการถือหุ้นของ Modulus อย่างไรก็ดี บริษัทมีแผนจะจัดการพบปะและให้ข้อมูลกับนักลงทุน ในวันที่ 19 กันยายน 2567 นี้ ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ฐานะทางการเงินของ OKJ ช่วง 3 ปีย้อนหลัง (2564-2566) 

  • รายได้รวมอยู่ที่ระดับ 803.02 ล้านบาท 1,214.91 ล้านบาท และ 1,716.85 ล้านบาท
  • กำไรสุทธิในระยะเวลาดังกล่าวอยู่ที่ระดับ -84.55 ล้านบาท 38.32 ล้านบาท และ 140.65 ล้านบาท
  • สินทรัพย์รวมอยู่ที่ 914.95 ล้านบาท 1,003.61 ล้านบาท และ 1,349.93 ล้านบาท
  • หนี้สินรวม 3 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 506.95 ล้านบาท 557.30 ล้านบาท และ 772.01 ล้านบาท ตามลำดับ

อนึ่ง OKJ จะเสนอขายไม่เกิน 159 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 26.10% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำ ระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทในครั้งนี้ ราคาพาร์ (PAR) อยู่ที่ 0.50 บาท โดยมีที่ปรึกษาทางการเงิน คือ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) และสำนักงาน ก.ล.ต. ได้นับหนึ่งแบบไฟลิ่งแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่  31 กรกฎาคม 2567 ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเพื่อเสนอขายหุ้น IPO และคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปีนี้