จากปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่ปรับตัวเพิ่มสูงในปัจจุบัน ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าในเมื่อเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวได้ไม่ทั่วถึงเช่นนี้ ความสามารถในการชำระหนี้ก็อาจไม่ได้ดีนัก เนื่องจากประชาชนมีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย ต้นทุนในการดำเนินชีวิตเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ราคาน้ำมัน ไปจนถึงราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค มีราคาที่สูงขึ้น
อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชนลดลง และเมื่อมันเรื้อรังเกินต้านไหว ก็ถูกปล่อยให้กลายเป็นหนี้เสีย (NPLs) ซึ่งในระหว่างนี้ทางธนาคารหรือสถาบันการเงินจะมีการพยายามติดต่อและเจรจากับลูกหนี้ หรืออาจมีการช่วยปรับโครงสร้างให้กับลูกหนี้
กรณีที่ไม่มีการตอบรับ ไม่เจรจา หรืออาจเจรจาต่อรองไปแล้วแต่ก็ยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ ก็อาจไปถึงดำเนินการฟ้องศาล ทั้งนี้ การค้างชำระหนี้เกินระยะเวลา 90 วัน ธนาคารและสถาบันการเงินจะต้องมีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ (ECL) หลังจากนั้นภายในระยะเวลาไม่เกิน 91 วัน จะมีการตัดจำหน่ายหนี้เสียออกไป
แน่นอนว่าผู้ที่มารับไม้ต่อ คือ บริษัทบริหารสินทรัพย์ (Asset Management Comp any : AMC) โดยธุรกิจบริหารสินทรัพย์ คือ ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPLs) ด้วยการซื้อ NPLs จากธนาคารและสถาบันการเงินอื่น แล้วนำมาบริหารจัดการด้วยการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ เพื่อให้ได้ข้อตกลงที่เป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่ายเท่าที่เป็นไปได้
เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้และแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน โดยบริษัทบริหารสินทรัพย์จะทำหน้าที่รับซื้อ หรือ รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงิน เพื่อช่วยให้สถาบันการเงินมีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจหลักของตนเอง ในช่วงเริ่มต้นบริษัทบริหารสินทรัพย์จะเป็นบริษัทที่อยู่ในกลุ่มภาครัฐและธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก
ต่อมามีบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่อยู่ในกลุ่มภาคเอกชนเพิ่มขึ้น เนื่องจากเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจในช่วงเวลาต่อมา ความโดดเด่นของธุรกิจบริหารสินทรัพย์ คือ ความสามารถในการปรับกลยุทธ์เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจได้ในทุกภาวะเศรษฐกิจ
ในช่วงภาวะเศรษฐกิจดี ลูกหนี้มีศักยภาพในการชำระหนี้ และลูกค้าของ AMC ที่มีกำลังซื้อ NPAs (คือ ทรัพย์สินรอการขาย ที่มาจากลูกหนี้ของสถาบันการเงินที่นำมาเป็นหลักประกันในการกู้เงิน หรือการค้ำประกัน) ก็จะเป็นการสร้างรายได้ให้กับ AMC อีกทางหนึ่ง
และในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว AMC สามารถเลือกซื้อ NPLs และ NPAs ได้ในต้นทุนที่เหมาะสม สามารถซื้อสินทรัพย์ต่างๆ เข้ามาบริหารจัดการได้มากขึ้น เพราะสถาบันการเงินจะขาย NPLs ออกมามากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการกันเงินสำรองตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย อีกทั้งลูกค้ายังได้โอกาสในการซื้อ NPAs ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีคุณภาพ ราคาที่เหมาะสมกับกำลังซื้อในทำเลที่มีศักยภาพ
นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO ได้ให้ข้อมูลกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า หลังจากที่ AMC ซื้อหนี้มาแล้ว สิ่งแรกที่ต้องทำเลย คือ การแจ้งข้อมูลให้ลูกหนี้ทราบว่าในตอนนี้สินทรัพย์หนี้ของท่านได้ถูกย้ายมาอยู่ภายใต้การบริหารของบริษัทบริหารสินทรัพย์
โดยจำเป็นต้องแจ้งรายละเอียดเพื่อให้ลูกหนี้ติดต่อบริษัท AMC กลับภายในระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน เพื่อรับทราบเงื่อนไข และเจรจาต่อรองการชำระหนี้ เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ประเมินความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อให้ง่ายต่อการวางกรอบระยะเวลา ซึ่งจะช่วยให้ลูกหนี้สามารถลดได้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย
ที่ผ่านมาสถิติในอดีตของการรับซื้อหนี้มา เมื่อมีการแจ้งจดหมายเพื่อรับทราบไปแล้วมากกว่า 70-80% มีการติดต่อกลับ และกว่า 7% มีความต้องการปิดบัญชีหนี้ทันที ซึ่งสำหรับลูกค้าที่ต้องการปิดบัญชีหนี้ ทางบริษัทก็มีส่วนลดดอกเบี้ยให้สูงสุด 30% อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงมีผลต่อความสามารถในการชำระหนี้คือที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเช่นเดียวกัน
"เรามองว่าลูกหนี้ทุกคนมีความเดือนร้อนทางการเงิน ไม่มีใครที่อยากเป็นหนี้ หรือถูกฟ้องขึ้นศาลแน่นอน เมื่อเราได้หนี้มาแล้วก็จะมีการแจ้งรายละเอียดให้ลูกหนี้ทราบ พยายามที่จะเจรจาช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในส่วนนี้ โดยค่าเฉลี่ยลูกหนี้ 7 แสนราย จะมีเพียงราว 5 หมื่นรายเท่านั้นที่ถูกดำเนินการทางกฎหมายในชั้นศาล ซึ่งในจำนวนนั้นกว่า 10% ถูกดำเนินคดีจากสถาบันการเงินของธนาคารมาแล้วก่อนถึงมือเรา"
จากการเปรียบเทียบสถิติยอดรวมการปล่อยสินเชื่อใหม่ของประเทศไทยอยู่ที่เฉลี่ยราว 18 ล้านล้านบาท/ปี โดยคิดเป็นสัดส่วนหนี้ด้อยคุณภาพหรือหนี้เสียจะอยู่ที่ประมาณ 5.4 แสนล้านบาท/ปี แม้ว่าจะมี AMC เข้ามาช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ได้ แต่ NPL ของรอบปีใหม่ก็จะมีเข้ามาทบเพิ่มทุกๆ ปี
และแม้ว่า AMC ในประเทศไทยจะมีจำนวนกว่า 70 บริษัท แต่ด้วยความสามารถในด้านเงินทุนจะพบว่ามีไม่เกิน 7-12 แห่ง ที่ทำได้ รวมมูลค่าหนี้ที่ช่วยกันดึงมาบริหารจัดการได้จริงก็ทำได้เพียงเฉลี่ย 1-1.5 แสนล้านบาท/ปี เท่านั้น จะเห็นได้ว่าก็ยังไม่ครอบคลุมหนี้เสียใหม่ที่เกิดขึ้นในแต่ละปี
หากถามว่าในสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง หนี้ในระบบมีมากขึ้น จะดีต่อธุรกิจ AMC ที่สามารถซื้อมูลหนี้มาได้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้นในขณะที่ราคาต้นทุนไม่สูง เมื่อเทียบกับช่วงที่เศรษฐกิจดี แต่มองในมุมกลับกันนี้อาจเป็นการสะท้อนต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่กำลังโคม่า แน่นอนว่าต้นทุนในการซื้อหนี้ที่ลดลงเป็นผลดีต่อธุรกิจ
แต่คงไม่ดีแน่ถ้ามีหนี้เสียในระบบที่เพิ่มมากขึ้น เพราะอีกจุดสำคัญเลย คือ เมื่อได้หนี้มาแล้วแต่ลูกหนี้ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ ต้นทุนการติดตามทวงถามก็ขยายตัวเพิ่มขึ้น การดำเนินการฟ้องศาลก็ทำให้บริษัทมีต้นทุนที่มากขึ้น รวมถึงยังต้องมีการตั้ง ECL ที่สูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อธุรกิจ AMC แน่นอน
ตามปกติแล้วการรับรู้รายได้จากการจัดเก็บหนี้ ถ้าเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน ระยะเวลาเฉลี่ยจะอยู่ที่ 3-6 เดือน ก็จะรับรู้เข้ามาเป็นรายได้ ในขณะที่หนี้ที่มีหลักประกัน ก็จะใช้ระยะเวลามากหน่อย น้อยสุด 1 ปี และมากที่สุดไม่เกิน 5 ปี