สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักการการปรับปรุงหลักเกณฑ์การเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ (Takeover) เพื่อให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ข้อกฎหมาย และหลักการสากล รวมทั้งลดภาระและปัญหาอุปสรรคต่างๆ ให้กับภาคเอกชน
โดยยังคงหลักการกำกับดูแลการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการในปัจจุบันได้ใช้บังคับมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ซึ่งในทางปฏิบัติหลักเกณฑ์บางส่วนอาจมีความไม่ชัดเจนและบางส่วนยังไม่สอดคล้องกับหลักสากล จึงเกิดปัญหาอุปสรรคในทางปฏิบัติบางประการ
และเป็นภาระแก่ภาคเอกชนในการขอผ่อนผันการทำคำเสนอซื้อ ก.ล.ต. จึงเปิดรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์การเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ (Takeover) ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ในการประชุมครั้งที่ 9/2567
โดยมีหลักการสำคัญ ดังนี้
1) การกำหนดหน้าที่ทำคำเสนอซื้อกรณีมีการได้มาซึ่งหุ้นกิจการทางตรง และกรณีการได้มาซึ่งนิติบุคคลตามมาตรา 258 โดยปรับปรุงเพื่อให้การพิจารณาการมีหน้าที่ทำคำเสนอซื้อตามมาตรา 247 และหน้าที่รายงานการได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ตามมาตรา 246 มีความสอดคล้องกัน เนื่องจากในบางกรณีอาจยังมีความแตกต่างกัน และอาจสร้างความสับสนให้กับผู้ปฏิบัติ
2) การยกเว้นการมีหน้าที่ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์เป็นการทั่วไปเพิ่มเติม เช่น กรณีมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายอื่นซึ่งมิได้มีเจตนาครอบงำกิจการ กรณีเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูกิจการ และกรณีที่มีการปรับโครงสร้างการถือหุ้นภายใต้ผู้มีอำนาจควบคุมเบ็ดเสร็จเดียวกันโดยไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอำนาจควบคุมกิจการ และกรณีการใช้สิทธิ Preferential Public Offering (PPO) ตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ตนมีอยู่
3) การกำหนดราคาเสนอซื้อ กรณีการครอบงำกิจการผ่านนิติบุคคลอื่น (Chain principle) ให้สอดคล้องกับหลักการสากล และกรณีที่มีการได้หุ้นมาโดยไม่มีค่าตอบแทน เช่น การได้รับเงินปันผลเป็นหุ้นของบริษัทอื่น การให้โดยเสน่หา เป็นต้น
4) เรื่องอื่นๆ เช่น การกำหนดหน้าที่และเงื่อนไขของผู้ทำคำเสนอซื้อหรือผู้ขอผ่อนผันและการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์บางส่วน เป็นต้น เพื่อให้สามารถกำกับดูแลผู้ที่เกี่ยวข้องได้อย่างครบถ้วน รวมถึงการผ่อนผันการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของกิจการโดยใช้มติที่ประชุมผู้ถือหุ้นของกิจการ (whitewash) และการปรับปรุงแบบ 247-4 เพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์เกี่ยวเนื่องที่ได้มีการแก้ไขไปแล้ว