Liberator คาดตลาดหุ้นไทยวันนี้ Sideways ในกรอบ 1,450-1,480 จุด

01 พ.ย. 2567 | 02:42 น.
อัปเดตล่าสุด :01 พ.ย. 2567 | 02:42 น.

บล.ลิเบอเรเตอร์ คาด SET วันนี้ Sideways ในกรอบ 1,450-1,480 จุด สัญญาณแรงงานสหรัฐฯ ยังแกร่ง แต่ยังผันผวนตามภาพงบ ภาพระยะถัดไปเริ่มมีแรงเก็งกำไร คาดหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของปี กลยุทธ์ยังแนะสะสมหุ้นที่กำไรฟื้นตัว และ Valuation ไม่แพง วันนี้ แนะนำ AP

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐาน บริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัด (Liberator) ประเมินภาพรวมตลาดหุ้นไทยวันนี้ 1 พ.ย. 67 มองว่า SET Index แกว่งตัว Sideways ในกรอบ 1,450-1,480 จุด โดยวานนี้ (31 ต.ค.67) สหรัฐฯ รายงานตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ที่ระดับ 2.16 แสนราย ลดลงจากสัปดาห์ก่อนที่ 2.28 แสนราย และต่ำกว่าคาดที่ 2.3 แสนราย บ่งชี้ภาคแรงงานสหรัฐฯยังแข็งแกร่ง

สอดคล้องกับตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ที่รายงานในวันก่อนหน้า โดยสำหรับวันนี้ยังคงต้องติดตามตัวเลขแรงงานที่สำคัญเพิ่มเติม คือ การจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน ต.ค. ซึ่งตลาดคาดขยายตัวเพียง 1 แสนราย ต่ำกว่าเดือน ก.ย. ที่เพิ่ม 2.54 แสนราย และติดตามอัตราการว่างงาน ซึ่งคาดทรงตัวที่ 4.1%

ด้านการประชุมธนาคารกลางญีปุ่น (BOJ) วานนี้ (31 ต.ค.67) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25% โดยนายคาซูโอดะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอีก หากเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสอดคล้องคาดการณ์ หลังการประชุมค่าเงินเยนแข็งค่าเล็กน้อย

ส่วนปัจจัยในประเทศ ระยะสั้นตลาดเริ่มมีความหวังมากขึ้นต่อการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากรัฐฯ ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี โดยคาดหวังต่อ การกระตุ้นการบริโภค จับจ่ายใช้สอย การท่องเที่ยว รวมไปถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งถือเป็นแรงหนุนเชิงบวกมากขึ้นต่อ SET

ดังนั้น ทางฝ่ายจึงยังคงมองกลยุทธ์การลงทุน ว่า การย่อตัวลงจะเป็นโอกาสทยอยสะสมหุ้นพื้นฐานดี ที่แนวโน้มผลประกอบการฟื้นตัว มีปันผลดี และ Valuation อยู่ในระดับที่ไม่แพงเกินไป โดยกลุ่มที่น่าสะสม เช่น ค้าปลีก, ไฟแนนซ์, ท่องเที่ยว, นิคมฯ, อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

ปัจจัยที่ต้องจับตา

01 พ.ย.

  • PMI ภาคการผลิตของไทย & สหรัฐฯ & ญี่ปุ่น, 
  • การจ้างงานนอกภาคเกษตร สหรัฐฯ,
  • อัตราการว่างงาน สหรัฐฯ, ISM ภาคการผลิต สหรัฐฯ


05 พ.ย.

  • การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

หุ้นเด่นแนะนำ

  • AP ราคาเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 11.50 บาท คาดกำไรไตรมาส 3/67 ขยายตัวจากไตรมาสก่อน แต่ลดลงจากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน แต่จะกลับมาฟื้นตัวทั้งจากไตรมาสก่อน และจากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน ในช่วงไตรมาส 4/67 โดย Backlog ในมือยังแข็งแกร่ง ผสานโอกาสที่ภาครัฐฯ จะออกมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติมในช่วงโค้งสุดท้ายของปี ขณะที่ Valuation ยังเทรดเพียง PE 5 เท่า และปันผลสูงราว 6% ต่อปี
  • WHA ยังมีมุมมองเชิงบวกจากการลงทุนในไทยปี 67 ที่มีทิศทางที่ดีขึ้น สอดคล้องกับมูลค่า FDI ปี 66 ที่เติบโตกว่า 73% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยนักลงทุนจีนเข้ามาสูงสุด จากอุตสาหกรรม EV ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าปีนี้ธุรกิจโลจิสติกเพิ่มอีก 2 แสน ตร.ม. ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม จะขยายเพิ่มอีก 2,070 ไร่ รวมทั้งจะมีการขยายสินทรัพย์เข้ากองทรัสต์รวม 2.13 แสน ตร.ม.
  • SGC ราคาเป้าหมาย 1.96 บาท คาดกำไรครึ่งหลังปี 67 จะเร่งตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการเติบโตของโครงการ SG Finance+ ซึ่งเป็นการปล่อยสินเชื่อมือถือที่สามารถล็อกได้หากผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะทำให้ NPL Ratio อยู่ในระดับต่ำ ผสานกับการปลดล็อกการเพิ่มทุน จะหนุนให้ SGC ผ่อนคลายดอกเบี้ยจ่าย และมีเม็ดเงินเพิ่มเติมในการปล่อยสินเชื่อ หนุนปี 68 กำไรจะเติบโตแบบก้าวกระโดด 
  • BH คาดกำไรไตรมาส 3/67 ยังคงเติบโตโดดเด่น จากการเข้าสู่ช่วง High Season โดยคาดผู้ป่วยจากตะวันออกกลางยังปรับตัวขึ้นดี ขณะที่ประเด็นของคูเวต คาด BH มีโอกาสถูกเลือกเป็น 1 ใน 3 โรงพยาบาลในไทยที่รัฐบาลคูเวตสนับสนุน ส่วนภาพในระยะกลาง คาดได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากการเปิดโรงพยาบาลแห่งใหม่ในภูเก็ตในช่วงปี 69
  • AOT คาดกำไรในช่วง ก.ค.-ก.ย. 67 จะขยายตัวได้จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน ตามรายได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ในฝั่งรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการบินอาจลดลงเล็กน้อย จากการยกเลิกร้าน Duty Free ขาเข้าตั้งแต่ ส.ค. 67 ในระยะสั้นคาดมีปัจจัยบวกจาก Golden week หนุนนักท่องเที่ยวจีนสูงขึ้น และการเดินหน้าต่อในช่วงปลายปีคาดนักท่องเที่ยวจะเร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการเข้าสู่ช่วงฤดูกาล สำหรับ Upside อาจมาจากมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐฯ
  • CPALL คาดแนวโน้มไตรมาส 3/67 เติบโตจากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน แต่ลดลงจากไตรมาสก่อน ตามฤดูกาล โดย SSSG ของ CPALL ในช่วงไตรมาส 3/67 คาดยังคงเติบโต 2.5% แข็งแกร่งกว่ากลุ่มค้าปลีก โดยได้แรงหนุนจากการบริโภคที่ขยายตัว ผสานกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐฯ ที่เป็นแรงขับเคลื่อนเพิ่มเติม ซึ่งจะส่งต่อไปยังแนวโน้มไตรมาส 4/67 ที่จะกลับมาเร่งขึ้นทั้งจากไตรมาสก่อน และจากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน
  • ITC คาดกำไรไตรมาส 3/67 ที่ 1,019 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน และโต 1% จากไตรมาสก่อน ยังขยายตัวจากราคาวัตถุดิบที่ลดลง แม้ว่าค่าเงินบาทในช่วงไตรมาส 3/67 จะอ่อนแอกว่าคาดก็ตาม (แต่มีการล็อกค่าเงินบาทไว้แล้ว) ภาพรวมการดำเนินงานยังขยายตัวได้ต่อเนื่องตามการขยายตลาดใหม่ๆ และการส่งออกที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งยังคงรักษาอัตรากำไรขั้นต้นไว้ได้