Liberator ชี้ตลาดหุ้นไทยผันผวน กรอบ 1,430-1,460 จุด

18 พ.ย. 2567 | 03:14 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ย. 2567 | 03:14 น.

บล.ลิเบอเรเตอร์ คาด SET วันนี้ 18 พ.ย.67 แกว่ง Sideways ในกรอบ 1,430-1,460 จุด เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังเด่นกว่าคาด กดดันโอกาสในการลดดอกเบี้ยสหรัฐฯ ปัจจัยในประเทศแนะติดตามรายงาน GDP ไตรมาส 3/67 ไทย คาดโต 2.4% จากปีก่อน กลยุทธ์ใช้จังหวะย่อสะสมหุ้นที่แนวโน้มกำไรดี วันนี้แนะ CPALL

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐาน บริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัด (Liberator) ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยวันนี้ 18 พ.ย.67 คาด SET Index แกว่ง Sideways ในกรอบ 1,430-1,460 จุด โดยปัจจัยต่างประเทศที่มีผลต่อการลงทุน ได้แก่ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังเด่นกว่าคาด กดดันโอกาสในการลดดอกเบี้ยสหรัฐฯ

โดยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่รายงานในวันศุกร์ที่ผ่านมายังคงสะท้อนความแข็งแกร่งกว่าคาด นำโดย ยอดค้าปลีก เดือน ต.ค. ที่ขยายตัว 0.4% จากเดือนก่อน ดีกว่าคาดที่ 0.3% จากเดือนก่อน และผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. ที่ -0.3% จากเดือนก่อน หดตัวน้อยกว่าคาดที่ -0.4% จากเดือนก่อน

ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าว ส่งผลให้ตลาดประเมินโอกาสที่ธนาคารกลางหสรัฐฯ (FED) อาจลดดอกเบี้ยนโยบายในอัตราที่ช้าลงกว่าที่เคยมองไว้ จุดนี้ถือเป็นแรงกดดันต่อการขายทำกำไรในตลาดสินทรัพย์เสี่ยงในระยะสั้น

ส่วนสัปดาห์นี้ ประเด็นสำคัญส่วนใหญ่คาดจะอยู่ที่ปัจจัยในประเทศ นำโดย วันนี้แนะติดตามการรายงานดัชนี GDP ไตรมาส 3/67 ของไทย โดยคาดขยายตัว 2.4% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/67 ที่ขยายตัว 2.3% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน

นอกจากนี้ วันอังคารที่ 19 พ.ย. แนะติดตามการประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยคาดคลังจะเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระยะสั้น กลาง และยาว โดยในช่วงที่ผ่านมามีการแจกเงินให้กับกลุ่มเปราะบางไปแล้ว ซึ่งทางคลังฯ คาดจะกระตุ้น GDP ไตรมาส 4/67 อยู่ที่ระดับ 4.3-4.4%%

ขณะที่รอบนี้คาดจะมีการแจกเงินให้กลุ่มผู้สูงอายุเพิ่มเติม, การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยอาจใช้แหล่งเงินทุนจากการลดเงินส่งเข้า FIDF ของธนาคารพาณิชย์, ส่งเสริมการมีบ้าน และการปรับค่าแรง ส่วน 22 พ.ย. เกาะประเด็นศาลรัฐธรรมนูญจะรับหรือไม่รับคำร้อง ตามมาตรา 49 กล่าวอ้าง คุณทักษิณ และพรรคเพื่อไทย กระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการประครอง ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่กระทบต่อการผันผวนของ SET ได้

ปัจจัยที่ต้องจับตา

15 พ.ย.67

  • ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ & จีน, 
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ & จีน & ญี่ปุ่น
  • ดัชนี GDP ไตรมาส 3/67 ญี่ปุ่น

18 พ.ย.67

  • GDP ไตรมาส 3/67 ของไทย

19 พ.ย.67

  • ประชุมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

หุ้นเด่นแนะนำ 

  • CPALL ราคาเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 80.00 บาท คาดแนวโน้มกำไรไตรมาส 4/67 ขยายตัวได้ทั้ง จากไตรมาสก่อน และจากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน จากการเข้าสู่ช่วงฤดูกาลจับจ่ายใช้สอย และฤดูท่องเที่ยว โดยล่าสุดพบว่า SSSG ในเดือน ต.ค. ของร้านสะดวดซื้อ 7-Eleven เติบโต 2-4% และ SSSG ของ CPAXT ยังเติบโต 1-3% รวมถึงอัตรากำไรขั้นต้นก็ยังคงขยายตัว
  • WHA ยังมีมุมมองเชิงบวกจากการลงทุนในไทยปี 67 ที่มีทิศทางที่ดีขึ้น สอดคล้องกับมูลค่า FDI ปี 66 ที่เติบโตกว่า 73% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยนักลงทุนจีนเข้ามาสูงสุด จากอุตสาหกรรม EV อีกทั้งบริษัทตั้งเป้าปีนี้ธุรกิจโลจิสติกเพิ่มอีก 2 แสน ตร.ม. ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม จะขยายเพิ่มอีก 2,070 ไร่ รวมทั้งจะมีการขยายสินทรัพย์เข้ากองทรัสต์รวม 2.13 แสน ตร.ม.
  • SGC ราคาเป้าหมาย 1.96 บาท คาดกำไรคาดครึ่งหลังปี 67 จะเร่งตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการเติบโตของโครงการ SG Finance+ ซึ่งเป็นการปล่อยสินเชื่อมือถือที่สามารถล็อกได้หากผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะทำให้ NPL Ratio อยู่ในระดับต่ำ ผสานกับการปลดล็อกการเพิ่มทุน จะหนุนให้ SGC ผ่อนคลายดอกเบี้ยจ่าย และมีเม็ดเงินเพิ่มเติมในการปล่อยสินเชื่อ หนุนปี 68 กำไรจะเติบโตแบบก้าวกระโดด 
  • BH คาดกำไรไตรมาส 3/67 ยังคงเติบโตโดดเด่น จากการเข้าสู่ช่วง High Season โดยคาดผู้ป่วยจากตะวันออกกลางยังปรับตัวขึ้นดี ขณะที่ประเด็นของคูเวต คาด BH มีโอกาสถูกเลือกเป็น 1 ใน 3 โรงพยาบาลในไทยที่รัฐบาลคูเวตสนับสนุน ส่วนภาพระยะกลาง คาดได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากการเปิดโรงพยาบาลแห่งใหม่ในภูเก็ตในช่วงปี 69
  • AOT คาดกำไรในช่วง ก.ค.-ก.ย. 67 จะขยายตัวได้จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน ตามรายได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ในฝั่งรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการบินอาจลดลงเล็กน้อย จากการยกเลิกร้าน Duty Free ขาเข้าตั้งแต่ ส.ค. 67 ในระยะสั้นคาดมีปัจจัยบวกจาก Golden week หนุนนักท่องเที่ยวจีนสูงขึ้น และการเดินหน้าต่อในช่วงปลายปีคาดนักท่องเที่ยวจะเร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการเข้าสู่ช่วงฤดูกาล ขณะที่ Upside อาจมาจากมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐฯ
  • CPALL คาดแนวโน้มไตรมาส 3/67 เติบโตจากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน แต่ลดลงจากไตรมาสก่อน ตามฤดูกาล โดย SSSG ของ CPALL ในช่วงไตรมาส 3/67 คาดยังคงเติบโต 2.5% แข็งแกร่งกว่ากลุ่มค้าปลีก โดยได้แรงหนุนจากการบริโภคที่ขยายตัว ผสานกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐฯ ที่เป็นแรงขับเคลื่อนเพิ่มเติม ซึ่งจะส่งต่อไปยังแนวโน้มไตรมาส 4/67 ที่จะกลับมาเร่งขึ้นทั้งจากไตรมาสก่อน และจากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน 
  • ITC คาดกำไรไตรมาส 3/67 ที่ 1,019 ล้านบาท ชยายตัว 58% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน เพิ่มขึ้น 1% จากไตรมาสก่อน ยังขยายตัวจากราคาวัตถุดิบที่ลดลง แม้ว่าค่าเงินบาทในช่วงไตรมาส 3/67 จะอ่อนแอกว่าคาดก็ตาม (แต่มีการล็อกค่าเงินบาทไว้แล้ว) ภาพรวมการดำเนินงานยังขยายตัวได้ต่อเนื่องตามการขยายตลาดใหม่ๆ และการส่งออกที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งยังคงรักษาอัตรากำไรขั้นต้นไว้ได้
  • MTC รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 3/67 ที่ 1,491 ล้านบาท ขยายตัว 16% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน และเติบโต 3% จากไตรมาสก่อน ทำจุดสูงสุดใหม่ แรงหนุนจากพอร์ตสินเชื่อที่ขยายตัว 3% จากไตรมาสก่อน และ 15% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน ผสานกับคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยหนี้ Stage 2 ลดลงสู่ระดับ 8% ของสินเชื่อรวม จาก 9% ในไตรมาส 2/67 และอัตราส่วน NPL ลดลงสู่ระดับ 2.82% จาก 2.88%