แม้ภาพรวมการลงทุนในตลาดทุนไทยจะฟื้นตัวขึ้น แต่ตลาดทุนไทยยังคงเผชิญความท้าทายหลากหลาย ทั้งความเชื่อมั่น เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีสินทรัพย์ใหม่ๆ เกิดขึ้น รวมถึงนโยบายสำคัญของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ
หลังคณะรัฐมนตรี(ครม.)สัญจร จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้งนายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) เป็นประธานคณะกรรมการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) แทนนายพิชิต อัคราทิตย์ ที่ดำรงตำแหน่งครบวาระ 4 ปี
ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ประธานกรรมการก.ล.ต.เปิดเผยว่า ราว 4 เดือนครึ่งของการรับตำแหน่ง จะเห็นว่าการทำงานร่วมกันระหว่างก.ล.ต.กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)มีความจำเป็นอย่างมาก โดยมุ่งเน้นด้านกำกับดูแลให้มีความชัดเจน ลดความซ้ำซ้อน สอดรับกับระบบนิเวศ และ การเปลี่ยนแปลงของตลาดทุน
ดังนั้นในวันที่ 9 ธ.ค.นี้จะมีการประชุมหารือแนวทางในการกำกับดูแลและส่งเสริมพัฒนาผู้มีส่วนร่วมในตลาดทุนไทย เพื่อยกระดับการกำกับดูแลตลาดทุนร่วมกันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ภายใต้กรอบกฎหมายและกฎเกณฑ์ของแต่ละองค์กร
"เป็นการเน้นย้ำความมุ่งมั่นของ 2 องค์กรในการกำกับดูแล เพื่อให้ตลาดทุนมีความเป็นระเบียบเป็นธรรม น่าเชื่อถือ และสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ลงทุน รวมทั้งพัฒนาตลาดทุนให้เติบโตอย่างยั่งยืน เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจประเทศ"
อย่างไรก็ตาม ภารกิจเร่งด่วนช่วง 3-6 เดือนคือ สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน และส่งเสริมตลาดทุนไทย” โดยจะเน้นปฏิรูปกระบวนการบังคับใช้กฎหมายของ ก.ล.ต. ให้เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากยิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นนักลงทุนในตลาดทุนไทย
และทำให้ตลาดทุนไทยเป็นไปตามกลไกตลาดและตามปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริง โดยจะแยกระดับการดำเนินคดีต่างๆเช่น การแยกตามคดีที่มีผลกระทบรุนแรง(High Impact) ผลกระทบปานกลาง(medium Impact ) และผลกระทบน้อย (Low Impact)
ส่วนภารกิจที่สองวางโครงสร้างพื้นฐานตลาดทุนไทย แบบดิจิทัล เตรียมใช้AI มาช่วยวิเคราะห์หาหลักฐาน ตรวจจับความผิดปกติที่เกิดขึ้น รวมถึงนำส่งข้อมูลต่างๆ เชื่อมโยงระบบกับตลท. เพื่อลดความซ้ำซ้อน สอดรับระบบนิเวศและการเปลี่ยนแปลงของตลาดทุนรวมถึงสนับสนุนกระบวนการตรวจสอบ ป้องกัน ป้องปรามติดตามดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนและการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างรวดเร็ว
ภารกิจต่อมาคือ มุ่งส่งเสริมลงทุนในสินทรัพย์ใหม่ โดยเฉพาะ“โทเคนดิจิทัล” ประเภทอินเวสท์เมนต์โทเคน (Investment Token) ที่มีระบบเข้าช่วยขยายการระดมทุน เพื่อการลงทุนสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศไทย เช่น เรื่องคาร์บอนเครดิต ที่อาจส่งเสริมให้มีระบบการสร้างมูลค่า และการซื้อขายในวงกว้างมากขึ้น
“หาก ก.ล.ต. มีการให้ไลเซนส์ที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น และมีมาตรการต่างๆ ในเชิงส่งเสริม มองตลาดอินเวสท์เมนต์โทเคน ยังสามารถขยายตัวได้อีกมาก จากปัจจุบันตลาดคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency)มูลค่าสูงถึง 3 ล้านล้านบาท”
ภารกิจเร่งด่วนต่างๆ ในปีหน้าจะมีความชัดเจนยิ่งขึ้น เชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกันใน ตลาดทุนไทย ให้มี“ความลึกขึ้นและชัดเจนขึ้น” ควบคู่กันแล้วด้วยการเดินหน้า วางโครงสร้างพื้นฐานระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของตลาดทุนไทย และสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุนไทยในหลายเรื่องๆ
“โอกาสของตลาดทุนไทยไปสู่เป้าหมายมูลค่าตลาดเติบโตได้มากกว่า“2 เท่าของจีดีพี” ประเทศไทยในปัจจุบัน และสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์เศรษฐกิจดิจิทัล และทำให้คนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน”
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,046 วันที่ 21 - 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567