หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลรุ่ง 3ปีเติบโตเฉลี่ย 8%

04 ธ.ค. 2567 | 03:29 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ธ.ค. 2567 | 04:03 น.

โบรกฯ คาดธุรกิจเฮลท์แคร์เติบโตต่อเนื่องปี 67-69 เฉลี่ย 8% ขานรับแผนรัฐดันไทยศูนย์กลางการแพทย์ หนุนท่องเที่ยวฟื้น-กระแสรักสุขภาพ เล็งรับอานิสงส์คนไข้คูเวต-ซาอุฯ

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2567 เริ่มมีสัญญาณการกลับมาฟื้นตัวในทิศทางที่ดีขึ้น หลังจากเกิดการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ในช่วงระหว่างปี 64-65 ทั้งภาครัฐฯ และเอกชน ได้พยายามนำเข้าวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 เข้ามาเพื่อให้บริการกับประชาชน ทั้ง Sinovac, AstraZeneca, Moderna และ Pfizer เป็นต้น ทำให้หุ้นกลุ่มหุ้นโรงพยาบาล (เฮลธ์แคร์) กลับมาได้รับความสนใจ มีผลการดำเนินงาน และ Market Cap ที่ดีขึ้นแซงหน้ากลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ

จากการตรวจสอบพบว่า หุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ ที่มีมาร์เก็ตแคปสูงสุด 10 อันดับแรก ณ วันที่ 28 พ.ย. 2567 ประกอบด้วย 1. บมจ. กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) มูลค่า. 409,219.05 ล้านบาท 2. บมจ. โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) มูลค่า 162,162.85 ล้านบาท 3. บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH) มูลค่า 41,396.22 ล้านบาท 4. บมจ.โรงพยาบาลจุฬารัตน์ (CHG) มูลค่า 28,380.00 ล้านบาท 5. บมจ. โรงพยาบาลรามคำแหง (RAM) มูลค่า27,960.00 ล้านบาท

6. บมจ. โรงพยาบาลวิภาวดี (VIBHA) มูลค่า 27,423.54 ล้านบาท 7. บมจ.โรงพยาบาลพระรามเก้า (PR9) มูลค่า 20,050.65 ล้านบาท 8. บมจ. ศิครินทร์ (SKR) มูลค่า 19,343.59 ล้านบาท 9. บมจ. ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) มูลค่า 14,491.69 ล้านบาท 10. บมจ. มาสเตอร์ สไตล์ (MASTER) มูลค่า 13,049.03 ล้านบาท

10 หุ้นเฮลท์แคร์มาร์เก็ตแคปสูงสุด

ขณะที่ราคาของกลุ่มหุ้นโรงพยาบาลช่วงระหว่างปี 2565-2566 พบว่า 5 อันดับที่มีการเปลี่ยนแปลง สูงสุด ได้แก่ 1. BH ราคาสูงสุดที่ 272.00 บาท เพิ่มขึ้น 57.45% 2. THG ราคาสูงสุดที่ 99.50 บาท เพิ่มขึ้น 45.64% 3. PR9 ราคาสูงสุดที่ 21.30 บาท เพิ่มขึ้น 45.45% 4. MASTER ราคาสูงสุดที่ 97.50 บาท เพิ่มขึ้น 26.09% และ 5. BDMS ราคาสูงสุดที่ 32.00 บาท เพิ่มขึ้น 20.65%

ในขณะที่ BCH มีการเปลี่ยนแปลง % ของราคาหุ้นน้อยที่สุด โดยมีราคาสูงสุดที่ 23.10 บาท เปลี่ยนแปลง 11.44% ส่วน 4 หลักทรัพย์ที่เหลือพบว่าราคาหุ้นมีการปรับตัวลดลง VIBHA เปลี่ยนเปลง -32.20%, SKR เปลี่ยนแปลง -21.54%, CHG เปลี่ยนแปลง -14.21% และ RAM เปลี่ยนแปลง -9.43%

แรงบวกท่องเที่ยว-รักสุขภาพ

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้มุมมองต่อกลุ่มหุ้นเฮลท์แคร์ ว่า ภาพรวมกลุ่มหุ้นเฮลท์แคร์ในปี 2568 ยังคงไปได้ดีอยู่ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกระแสการรักสุขภาพ ทำให้คนตระหนักให้ความสำคัญในการดูแลรักษาและตรวจสุขภาพกันมากขึ้น

อีกปัจจัยที่เข้ามาเป็นส่วนเสริม คือ การเติบโตของการท่องเที่ยว เพราะในแต่ละปีอัตราการขยายตัวของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพร้อมกับความต้องการดูแลสุขภาพมีมากขึ้น ทำให้มองว่านี่จะเป็นอีกส่วนสำคัญที่เข้ามาช่วยสร้างการเติบโตให้กับกลุ่มเฮลธท์แคร์ได้

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของคนไข้คูเวต ที่ล่าสุดรัฐบาลคูเวตเตรียมประกาศรายชื่อโรงพยาบาล 3 แห่งในไทย ที่จะอนุญาตส่งผู้ป่วยเข้ามารักษาทางการแพทย์อย่างเป็นทางการอีกครั้ง หลังก่อนหน้านี้ได้ประกาศระงับการส่งผู้ป่วยมาประเทศไทยเป็นการชั่วคราวเพื่อตรวจสอบมาตรฐานการให้บริการ ส่งผลให้รายได้ผู้ป่วยต่างชาติของโรงพยาบาลใหญ่ในไทยชะลอตัวลง ซึ่งยังไม่รู้ได้ว่าจะมีหุ้นโรงพยาบาลใดที่ได้รับสิทธิ์ดังกล่าวบ้าง

อย่างไรก็ตามนักลงทุนกังวลว่าอัตราการเติบโตของธุรกิจกับราคาหุ้นอาจไม่ได้ไปพร้อมกัน ด้วยมูลค่าหุ้น (valuation) ที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานที่มีการเติบโตที่ช้าลง เช่น ผลงานของ BH ในไตรมาส 3/67 มีรายได้อยู่ที่ 6,447 ล้านบาท และกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,955 ล้านบาทจะเห็นได้ว่าชะลอตัวลง จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน

ด้าน BDMS ผลงานไตรมาส 3/67 มีรายได้อยู่ที่ 28,536 ล้านบาท และกำไรสุทธิอยู่ที่ 4,246 ล้านบาท โดยเป็นการเติบโตแบบตัวเลขหลักเดียวที่ 7% และ 9% ตามลำดับ ในขณะที่ valuation อยู่ที่ 20% กลางๆ ไม่แพงเท่าในอดีตที่เคยขึ้นไปสูงราว 30-40% แต่ก็ไม่ได้ถูกเป็นพิเศษ ดังนั้น จึงมองว่ากลุ่มหุ้นเฮลท์แคร์เป็นภาพของการลงทุนในระยะยาวมากกว่าการเทรดแบบระยะสั้น

ทางฝ่ายมีมุมมองในเชิงบวกต่อหุ้น BDMS และ BCH ด้ายฐานลูกค้ากลุ่มบริษัทประกันที่มีอยู่หลากหลาย รวมถึงยังมีฐานคนไข้ต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสิทธิ์ประกันตน โดยประเมินกำไรสุทธิ BDMS ในปี 67 ไว้ที่ 17,052 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,676.73 ล้านบาท หรือราว 18.62% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อนที่ 14,375.27 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าในปี 68 กำไรสุทธิจะอยู่ที่ 18,085 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.05% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน ประเมินราคาเหมาะสมปี 68 ที่ 33.00 บาท

ส่วน BCH คาดการณ์กำไรสุทธิปี 67 ไว้ที่ 1,589 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 182.64 ล้านบาท หรือราว 12.98% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อนที่ 1,406.36 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าในปี 68 จะมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,819 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 230 ล้านบาท หรือประมาณ 14.47% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน ประเมินราคาเหมาะสมปี 68 ไว้ที่ 20.00 บาท

โบรกฯมองบวก PR9-BDMS

บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส ให้มุมมองในบทวิเคราะห์หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลว่า คาดกำไรสุทธิไตรมาส 4/67 ของกลุ่มโรงพยาบาลเติบโตจากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน แต่ลดลงจากไตรมาสก่อน โดยคาดว่า BDMS จะมีกำไรสุทธิไตรมาส 4/67 เติบโตเมื่อเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน จากรายได้คนไข้ต่างชาติเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากจีน สหรัฐฯ และตะวันออกกลาง ส่วน BH แม้ว่ารายได้จะอ่อนลง แต่ EBITDA margin ยังอยู่ในระดับสูง จากประสบความสำเร็จในการลดต้นทุน ด้าน MASTER และ PR9 คาดว่าไตรมาส 4/67 จะเป็นไตรมาสที่ทำกำไรสูงสุดในปี 67

สำหรับคาดกาณณ์กำไรสุทธิหุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์ เติบโตเฉลี่ย 8% ต่อปี ในช่วงปี 67-69 นำโดย BCH, MASTER, PR9, CHG และ BDMS ซึ่งคาดว่าจะมีกำไรสุทธิเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 13%, 12%, 11%, 11% และ 9% ตามลำดับ ปัจจัยหนุน คือการเพิ่ม Capacity รองรับคนไข้ที่จะเพิ่มขึ้น, รายได้คนไข้ประกันสังคมอยู่ในระดับสูง, การกลับมาของคนไข้คูเวต และมีคนไข้จากตลาดใหม่เข้ามาเพิ่ม เช่น ซาอุดิอาระเบีย และอินโดนีเซีย

อย่างไรก็ตามต้องติดตามการกลับมาของคนไข้คูเวตในปี 68 เพราะคนไข้คูเวตในช่วง 9 เดือนแรกปี 67 ลดลงมาก เพราะตั้งแต่ไตรมาส 4/66 รัฐบาลคูเวตยุติการให้เงินชดเชยคนคูเวตที่ออกมารับการรักษานอกประเทศชั่วคราว และยังไม่สรุปโควตาคนไข้คูเวตที่จะเข้ารับการรักษาในไทย รวมถึงรายชื่อโรงพยาบาลที่คนคูเวตจะเข้ามาใช้สวัสดิการรักษาได้ แต่คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปี 68 และจำนวนคนไข้คูเวตจะเพิ่มขึ้น จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน

ดังนั้น ทางฝ่ายจึงยกให้ PR9 และ BDMS เป็นหุ้น Top Picks ในกลุ่มโรงพยาบาล โดยมีมุมมองที่เป็นบวกต่อ PR9 (ราคาพื้นฐาน 29 บาท) เนื่องจากมีเทคโนโลยีในการรักษาพยาบาลขั้นสูง, กำไรสุทธิเติบโตแข็งแกร่งในปี 67-69, ผ่านช่วงลงทุนขนาดใหญ่ไปแล้ว และรายได้คนไข้ตะวันออกกลางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก

ส่วน BDMS (ราคาพื้นฐาน 36 บาท) มีความโดดเด่นเรื่องแบรนด์ รวมถึงมีร.พ.ในเครือจำนวนมาก, มีการกระจายรายได้ที่ดี (มีทั้งรายได้คนไข้ไทย คนไข้ต่างชาติ คนไข้ประกันสังคม) และความสามารถในการทำกำไรที่ดี

9 เดือนกลุ่มโรงพยาบาลแกร่ง

ด้านผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2567 ของกลุ่มโรงพยาบาลที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่าส่วนใหญ่มีการเติบโตที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะผู้นำตลาดอย่าง BDMS และ BH

บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ซึ่งมีมูลค่าตลาดสูงสุดในกลุ่มที่ 409,219 ล้านบาท รายงานรายได้รวม 81,711 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 11,654 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.8% พร้อมประกาศจ่ายปันผลที่ 0.70 บาทต่อหุ้น

ด้านโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) แม้จะมีมูลค่าตลาดรองลงมาที่ 162,162 ล้านบาท แต่โชว์อัตราการเติบโตที่โดดเด่น มีรายได้รวม 19,556 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.4% และกำไรสุทธิ 5,871 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 11.1% โดยประกาศจ่ายปันผลสูงสุดในกลุ่มที่ 5.15 บาทต่อหุ้น

สำหรับกลุ่มโรงพยาบาลขนาดกลาง BCH มีรายได้ 9,037 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% และกำไรสุทธิ 1,049 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.2% ขณะที่ CHG มีรายได้ 6,553 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.4% และกำไรสุทธิ 873 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.1%

อย่างไรก็ตาม มีบางรายที่ผลประกอบการชะลอตัว อาทิ RAM ที่แม้รายได้จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 7,755 ล้านบาท แต่กำไรสุทธิลดลง 21.2% เหลือ 962 ล้านบาท และ THG ที่มีผลขาดทุนสุทธิ 302 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีกำไร 649 ล้านบาท

ด้านผู้ประกอบการรายเล็ก MASTER แสดงศักยภาพการเติบโตที่น่าสนใจ โดยมีรายได้ 1,522 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.1% และกำไรสุทธิ 303 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.9%

นักวิเคราะห์มองว่าภาพรวมของกลุ่มโรงพยาบาลยังคงเติบโตได้ดี สะท้อนจากค่า P/E ที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะ BDMS และ BH ที่เป็นผู้นำตลาด ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติและกำลังซื้อในประเทศที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กต่างเร่งขยายฐานลูกค้าและพัฒนาบริการเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,050 วันที่ 5 - 7 ธันวาคม พ.ศ. 2567