พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุน INVESTORY ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้จัดกิจกรรมเสวนา PLearn Talk&TOUR ตอน จาก “เคาะกระดาน” สู่ “คอมพิวเตอร์” เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา เนื่องในโอกาสตลาดหลักทรัพย์ฯ ก้าวสู่ปีที่ 50 โดยมีวิทยากร ได้แก่ นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคินภัทร อดีตโบรกเกอร์ยุคเคาะกระดาน และ นายสมคิด จิรานันตรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และอดีตประธาน Kasikorn Business Technology Group (KBTG) ซึ่งในสมัยนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายระบบงานภายใน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนผ่านการซื้อขายหลักทรัพย์สู่ระบบคอมพิวเตอร์
วิทยากรทั้ง 2 ท่านได้ร่วมกันเล่าเรื่องราวพัฒนาการระบบนิเวศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตลอด 50 ปี ที่เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง จากบทบาทของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เป็นทั้งคนจัดการและผู้กำกับดูแล (regulator) ในตัวเอง จนมีองค์กรมาทำหน้าที่กำกับดูแล คือ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งจัดตั้งขึ้นภายหลังอีก 15 ปีถัดมาในปี 2535
จากยุคที่มีตลาดการเงินเพียง 2 ตลาด คือ ธนาคารพาณิชย์และตลาดพันธบัตร โดยพันธบัตรส่วนใหญ่ขายให้ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมี 16 แห่งที่ได้รับใบอนุญาต ธุรกรรมการเงินส่วนใหญ่จึงอยู่ในระบบธนาคารพาณิชย์
ในขณะที่ปี 2515 ประเทศไทยเริ่มมีแนวคิดที่ต้องการให้มีตลาดทุนในประเทศ โดยเฉพาะตลาดหุ้น ซึ่งมาจากแนวคิดของกลุ่มเทคโนแครต (technocrat) ยุคนั้น อาทิ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ คุณบุญมา วงศ์สวรรค์ ดร.เสนาะ อูนากูล ดร.อำนวย วีรวรรณ ฯลฯ และได้มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญจากโคลอมเบียเป็นที่ปรึกษาเพื่อวางรากฐานตลาดหุ้น นำไปสู่การออกพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 และเปิดการซื้อขายครั้งแรกในวันที่ 30 เมษายน 2518 เพื่อทำหน้าที่เป็นตลาดรองที่มีบทบาทสำคัญในการรวบรวมและจัดสรรทรัพยากร ด้วยบทบาทของผู้เล่น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย 1) กลุ่มเจ้าของเงินหรือนักลงทุน ซึ่งมีทั้งนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนบุคคล 2) บริษัทจดทะเบียนในตลาดฯ 3) บริษัทหลักทรัพย์ หรือตัวกลาง 4) กลุ่มผู้จัดสรรและดำเนินการ หรือ facilitator และ 5) กลุ่มผู้กำกับดูแล หรือ regulator
“มีพัฒนาการดี แม้จะไม่เพอร์เฟค” มุมมองของนายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ต่อภาพรวมและผู้เล่นของตลาดหุ้นไทย
แต่พัฒนาการที่นับว่าโดดเด่นและประสบความสำเร็จคือ ‘ระบบซื้อขาย’ ซึ่งปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ใช้ระบบซื้อขายแบบ ‘คอมพิวเตอร์’ เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่มีฟังก์ชันหลากหลาย ทว่า น้อยคนนักจะรู้ลึกเบื้องหลังความเป็นมาและพัฒนาการดังกล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปลี่ยนผ่านจากระบบ ‘อัตโนมือ’ สู่ ‘อัตโนมัติ’ หรือที่เรียกว่า ‘เคาะกระดาน’ สู่ ‘คอมพิวเตอร์’ ได้อย่างไร
บรรยากาศ ‘เคาะกระดาน’ ความชุลมุนตลาดหุ้นยุคตั้งไข่
โดยยุคเริ่มแรกของการซื้อขายหลักทรัพย์หรือ ‘หุ้น’ ใช้ ‘ระบบเคาะกระดาน’ มีโบรกเกอร์ 30 ราย และในห้องค้าหลักทรัพย์หรือ Trading Floor มีเจ้าหน้าที่ได้ไม่เกิน 6 คนต่อโบรกเกอร์ รวมกับเจ้าหน้าที่ประจำตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว ทำให้มีคนเกือบ 200 ที่อยู่ใน Trading Floor
“ตอนนั้นออฟฟิศตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่อาคารศูนย์การค้าสยาม เป็นห้องเทรดใหญ่ ต่อมาย้ายไปอาคารสินธร ในช่วงเริ่มต้นยังไม่มีเลขประจำโบรกเกอร์ ใช้จำกันเอง หลังจากนั้นก็มีเสื้อปักเบอร์ว่าใครเบอร์ไหนตั้งแต่ 1 ถึง 30…ของผมภัทรธนกิจ เบอร์ 6 ใครอยู่เบอร์ต้นจะได้เปรียบ” นายบรรยง เล่า
นายบรรยงสะท้อนภาพว่ายุคนั้นแต่ละโบรกเกอร์จะมีโทรศัพท์ 2 สายประจำห้องค้า ได้แก่ สายที่รับออเดอร์กับสายที่โทรคอนเฟิร์มกลับ และมีความชุลมุนวุ่นวายของเหล่าโบรกเกอร์ รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกว่า 200 ชีวิตที่ต้องวิ่งวุ่นและตะโกนโหวกเหวก แย่งกันไปเขียนซื้อขายหุ้นเป็นคิวแรกๆ พร้อมเคาะกระดานปิดดีลให้เสียงดัง ฉะนั้น คนตัวใหญ่ย่อมได้เปรียบ พร้อมเล่าถึงการมีโอกาสได้เข้าทำงานในฐานะโบรกเกอร์เคาะกระดานในยุคนั้นว่า “ผมโชคดีได้งานทำ เพราะเรียนหนังสือจบ เกรด 2.03 หางานไม่ได้เกือบปี พอดีเขาต้องการคนเคาะกระดานใน Trading Floor เขาบอกคุณตัวใหญ่ เพราะผมเป็นนักรักบี้ทีมชาติด้วย พร้อมกระแทก ชนเก่ง” นายบรรยง กล่าว
ระบบ ‘เคาะกระดาน’ ทำกันอย่างไร
นายบรรยง กล่าวถึงรูปแบบการเคาะกระดานโดยยกตัวอย่างว่า “ถ้าหุ้นมีราคาปิดเมื่อวานคือ 80 บาท และราคาสูงสุดคือ 100 บาท วันถัดมาเมื่อเปิดตลาด โบรกเกอร์จะไปแย่งกันเขียนราคา 80 บาท เป็นคิวต้นๆ บนกระดาน เช่น บริษัทผมเป็นโบรกเกอร์เบอร์ 6 ก็เขียนเบอร์ 6 พร้อมราคาเสนอซื้อหุ้น 80 บาท (bid) บนกระดาน จากนั้น โบรกเกอร์คนถัดไปก็จะเขียนเบอร์ของบริษัทตัวเองต่อจากผม ไล่บรรทัดกันลงมาเรื่อยๆ นั่นหมายความว่า ถ้ามีคนเสนอขายที่ 80 บาท โบรกเกอร์เบอร์ 6 ก็จะได้ซื้อก่อน ในขณะเดียวกัน สมมุติโบรกเกอร์เบอร์ 27 เสนอขาย (offer) หุ้นที่ราคา 81 บาท ก็หมายความว่าถ้ามีคนต้องการซื้อที่ 81 บาท โบรกเกอร์เบอร์ 27 ก็จะได้ขายก่อน”
พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า “ถ้าโบรกเกอร์เบอร์ 27 เกิดเปลี่ยนใจต้องการขายที่ 80 บาท ก็จะเคาะกระดานว่าขายที่ 80 บาท พร้อมเรียกเบอร์ 6 ผมก็จะวิ่งมาที่กระดาน เพื่อตกลงซื้อขายกับโบรกเกอร์เบอร์ 27 โดยจะสอบถามพูดคุยกันว่าจะซื้อเท่าไหร่ ขายเท่าไหร่ สมมุติผมโบรกเกอร์เบอร์ 6 จะซื้อ 100 หุ้น ก็จะเขียนเลข 100 (ใต้เบอร์ 6 ) โบรกเกอร์เบอร์ 27 ก็จะขีดเบอร์ 6 ออก พร้อมเขียนว่า 100 หุ้น โบรกเกอร์เบอร์ 5 ซึ่งอยู่ลำดับถัดมาบอกซื้อ 2,000 หุ้น แต่ความจริง อยากซื้อ 3,000 หุ้น แต่กฎให้ซื้อได้ทีละ 2,000 หุ้น (20 เท่า) ก็จะเขียนว่า 2,000 ต่อ แล้วก็ไปเขียนเบอร์ 5 ของตัวเองต่อจากโบรกเกอร์ลำดับสุดท้ายที่ต้องการซื้อที่ราคา 80 บาทอีกครั้งหนึ่ง เพราะไม่เช่นนั้นการซื้อขายก็จะไม่ถึงโบรกเกอร์เบอร์อื่นที่อยู่ลำดับถัดไปสักที จากนั้น โบรกเกอร์เบอร์ 27 ก็จะขีดเบอร์ 5 ออก โบรกเกอร์เบอร์ถัดมาจากเบอร์ 5 ซื้อ 200 หุ้น โบรกเกอร์อีกเบอร์ซื้อ 800 หุ้น ก็จะซื้อขายกันแบบนี้ไล่เรียงกันลงไปจนครบจำนวนหุ้นที่คนเสนอขายที่ราคา 80 บาท จึงจะเริ่มซื้อขายกันที่ราคาใหม่”
บรรยากาศการซื้อขายที่เต็มไปด้วยเสียงโหวกเหวกจะเกิดขึ้นทุกเช้าของวันที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดทำการซื้อขาย และเมื่อปิดตลาดในเวลา 12.30 น. แล้ว เจ้าหน้าที่โบรกเกอร์จะต้องมานั่งทำเอกสาร เรียก slip ลงรายละเอียดสรุปการซื้อขาย และ initial การตกลงซื้อขายที่เกิดขึ้นในวันนั้นเพื่อเป็นหลักฐาน
ในยุคแรกๆ ของการซื้อขายในตลาดหุ้นไทย นายบรรยงได้นิยามกล่าวขานตลาดหุ้นช่วงนั้นว่า ‘ยุคปาลูกดอก’ โดยอธิบายว่า “ต่อมา 1 - 2 ปี หรือช่วงปี 2520 หุ้นก็บูมมาก พอปี 2521 อัตราดอกเบี้ยไพร์มเรทอเมริกา 21% แต่หุ้นไทยก็บูม พุ่งพรวดขึ้นไป ผลตอบแทนเยอะ ทั้งที่เศรษฐกิจโลกไม่ดี เป็นยุคราชาเงินทุน หุ้นบูมขึ้นมาโดยไม่มีนักลงทุนสถาบันแม้แต่รายเดียว มีแต่นักเล่นหุ้นขาใหญ่-ขาเล็ก คนเฮเข้าไป ผมเรียกว่า ‘ยุคปาลูกดอก’ ซื้อหุ้นไหนเดี๋ยวมันก็ขึ้น” นายบรรยง กล่าว
แต่ปี 2522 จู่ๆ ตลาดหุ้นไทยก็เริ่มซบเซาอย่างต่อเนื่องยาวนานหลายปี โดยปี 2526 เป็นปีที่มูลค่าการซื้อขายวันที่น้อยที่สุดเหลือ 3 ล้านบาทต่อวัน “บรรยากาศห้องค้าจากที่มีคนทำงาน 200 คน ใครลุกไปเคาะกระดานที คนก็ตบมือกัน รู้ไหมว่าว่างๆ เขาทำอะไร…ทายเบอร์แบงก์เล่น เพราะไม่มีอะไรทำ”
เปลี่ยนผ่าน ‘เคาะกระดาน’ สู่ ‘คอมพิวเตอร์’
ระบบเคาะกระดานดำเนินมาเรื่อยถึงช่วงปี 2533 ตลาดหลักทรัพย์ฯ เริ่มมีแนวคิดเปลี่ยนระบบซื้อขายให้ทันสมัยมากขึ้น โดยยุคนี้เป็นยุคที่ ดร.มารวย ผดุงสิทธิ์ เป็นกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ณ เวลานั้น นายสมคิด ทำงานอยู่ที่ IBM บริษัทด้านเทคโนโลยีชั้นนำของโลก ได้รับคำเชิญชวนให้มาร่วมงานกับตลาดหลักทรัพย์ฯ
“ด้วยสภาพตอนนี้ไม่มีทางที่เราจะทำระบบซื้อขายด้วยคอมพิวเตอร์ได้ เพราะไม่มีเงินเดือนไปจ้างเด็ก ตอนนั้นเราจ้างประมาณ 4,000 บาท อาจารย์มารวยถามกลับ ท้องตลาดให้กันเท่าไร พอสู้กับเขาได้ไหม ผมบอกถ้าจะไปรับคนเก่งๆ จบโปรแกรมเมอร์ปริญญาตรี ต้อง 12,000 บาท...โห อาจารย์ก่ายหน้าผากเลย แต่สุดท้ายอาจารย์มารวย บอกให้ไปรับเลย”
นายสมคิดจึงตั้งเป้ารับนักศึกษาที่ใกล้จบ 30-40 คน โดยไปที่ คณะวิศกรรมศาสตร์ คณะบัญชี ภาควิชาสถิติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเล่าให้อาจารย์ฟังว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังทำอะไรและความจำเป็นที่ต้องรับคนกลุ่มนี้
ทั้งหมดทำให้ระบบซื้อขายด้วยคอมพิวเตอร์ เกิดขึ้นในปี 2534 นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก้าวไปอีกขั้น แต่ความท้าทายไม่ใช่แค่เรื่องการเปลี่ยนระบบ หรือการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแล (สำนักงาน ก.ล.ต.) เท่านั้น หากต้องมอง ecosystem ให้ทุกส่วนพัฒนาไปพร้อมกัน
นายสมคิดเล่าว่า “เราคุยกันว่าจะทำเอง หรือเอาระบบที่ก้าวหน้าที่สุดในโลกมาใช้ ได้ข้อสรุปว่าไปเอามาจาก Midwest Stock Exchange ซึ่งปัจจุบันคือ Chicago Stock Exchange เขากำลังพัฒนา ข้อดีคือเขาทุ่มเทมาก ส่งนักคอมพิวเตอร์มือหนึ่งหลายคนเข้ามาช่วยเรา ระบบข้อมูลที่ใช้ตอน matching มันไม่ได้อยู่ใน disk storage แต่อยู่ใน main memory ซึ่งใช้เทคนิคขั้นสูง เราไม่ต้องลงทุนเครื่องขนาดใหญ่ แต่ได้ระบบที่มีประสิทธิภาพสูงได้”
ขณะที่ระบบศูนย์รับฝากใบหุ้น หรือ Scripless ในอดีตทุกคนพูดแต่เรื่องระบบซื้อขาย แต่ไม่มีเรื่องศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ งบประมาณก็ไม่มี จึงแก้ปัญหาโดยยืมคอมพิวเตอร์จากเพื่อนที่ดูแลด้านไอทีของบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง และใช้เวลาพัฒนาระบบ 6 เดือนอย่างหามรุ่งหามค่ำ เพื่อนำใบหุ้นหลักล้านใบเข้าสู่ระบบ
นอกจากนี้ ในการพัฒนาระบบ PRS (Price Reporting System) ยังเจออุปสรรค โดย นายสมคิด เล่าอีกว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องการแก้ไขบางอย่าง แต่ไม่มีคนที่มีทักษะความรู้ในการแก้ปัญหานี้ “ปรากฏว่าช่วงปิดเทอมรับเด็กฝึกงานวิศวะจุฬาฯ 5 คน จ่ายเงินวันละ 70 บาทตามค่าแรงขั้นต่ำ เด็กพวกนี้สามารถทำสิ่งที่เราทำไม่ได้ภายใน 2 เดือน ทุกวันนี้ระบบนี้ได้ใช้งานจริงเป็นสิบๆ ปี และเขาเรียนต่อจนจบ PhD ด้านคอมพิวเตอร์ที่อเมริกา และตอนนี้ทำงานที่ซิลิคอนวัลเลย์…ผมจะบอกว่า คนที่เรารับมาทำงานเป็น world class จริงๆ” นายสมคิด กล่าว
“ในยุคเคาะกระดานจะมีการถ่ายทอดราคาหุ้นผ่านทางโทรทัศน์ โดยยุคแรกแสดงราคาหุ้นเป็นแนวตั้งสามบรรทัด ซึ่งไม่เหมือนกับต่างประเทศ ภายหลังทำเหมือนต่างประเทศ คือ เป็นวิ่งตามแนวนอน แต่วันแรกที่เปลี่ยนถูกด่าทั้งเมืองอยู่สามเดือน เพราะคนไม่ชิน“ นายสมคิด กล่าวเพิ่มเติม
ทุนต่างชาติ กดดันบริษัทไทยแข่งขันโลก
ในปี 2533 ยาวถึงยุค 90 ทุนต่างชาติเริ่มเข้ามามีนัยสำคัญ โดย นายบรรยง อธิบายว่า “ถ้าไม่มีนักลงทุนต่างประเทศ วิกฤติ ปี 2540 คงไม่ฟื้น เราใช้เงินฝรั่ง ผมใช้คำว่า quality money เป็นเงินที่มีประสบการณ์ ที่ require อย่างลึกว่าบริษัทไทยต้องมีประสิทธิภาพ แข่งขันกับโลกได้ เงินต่างชาติเป็นตัวกดดันให้บริษัทไทยต้องพัฒนาทั้งเทคโนโลยีและบรรษัทภิบาล (governance) ขึ้นอย่างมาก”
พร้อมทิ้งท้ายว่าในฐานะคนที่ทำงานตลาดฯ มากว่า 40 ปี มีข้อแนะนำ 2 ข้อที่เคยฝากไว้กับ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คนที่ 17 คือ “หนึ่ง ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นส่วนสำคัญของตลาดทุน แต่ไม่ใช่ตลาดทุนทั้งหมด ตลาดทุนกว้างกว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ มาก ตลาดทุนคือขบวนการรวบรวมและจัดสรรทรัพยากรทางการเงิน นอกเหนือจากระบบธนาคาร รวมถึง venture capital และองคาพยพนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ถ้าเราให้ความสำคัญว่าต้องมีตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างเดียว ผมคิดว่าผิด” สอง ตลาดทุนไทยไม่มี มีแต่ตลาดทุนโลก โลกเชื่อมกันหมดแล้ว เราจะมองประเทศไทยแบบแยกส่วนไม่ได้อีกต่อไป” นายบรรยง กล่าว