ตลาดหุ้นสหรัฐฯ พุ่งแรงต่อเนื่อง: โอกาสปี 2025 ของหุ้นขนาดเล็ก

29 ธ.ค. 2567 | 22:45 น.

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ พุ่งแรงต่อเนื่อง: โอกาสปี 2025 ของหุ้นขนาดเล็ก : คอลัมน์ มันนี่ ดีไอ วาย โดยนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่สอง โดยเฉพาะตลาดหุ้นหลักของสหรัฐฯ อย่างเช่นดัชนี S&P 500 ที่เมื่อเทียบตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2567 จะเห็นได้ว่าปรับเพิ่มขึ้นถึง 28.06% ซึ่งมาจากแรงหนุนของการบริโภคในประเทศและเศรษฐกิจที่เติบโตดี

ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มีมุมมองการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ปรับขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2566 ประกอบกับธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงิน เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจและรักษาสมดุลของตลาดแรงงาน

รวมไปถึงผลกำไรของบริษัทกลุ่มผู้นำตลาดอย่างกลุ่ม Technology และ Semiconductors เช่น NVIDIA และ Broadcom ยังเติบโตและมีแนวโน้มขยายตัวต่อไปได้ จากการที่ดัชนี S&P500 ปรับขึ้นมากกว่าการเติบโตของผลกำไร ได้ส่งผลให้ระดับราคา หรือ P/E (Price to Earnings Ratio) สูงกว่า 22 เท่า

ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี และมากถึง 44.1%(*) ทำให้นักลงทุนที่สนใจลงทุนกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มมองว่าอาจต้องระมัดระวังในการประเมินมูลค่าก่อนลงทุน

ถ้านับตั้งแต่ช่วงที่ Fed เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2565 หากเทียบการปรับตัวของ 2 ดัชนีหุ้นสหรัฐฯ ที่เป็นกลุ่มหุ้นบริษัท จะพบว่า ดัชนี S&P 500 ซึ่งเป็นกลุ่มหุ้นบริษัทขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ สามารถให้ผลตอบแทนสูงถึง 43.92% ขณะที่ดัชนี Russell 2000 ซึ่งเป็นกลุ่มหุ้นบริษัทขนาดเล็กให้ผลตอบแทนเพียง 23.74%(*)

ซึ่งจากนโยบายการเงินที่เข้มงวด รวมถึงการดึงสภาพคล่องออกจากตลาดได้ส่งผลต่อหุ้นขนาดเล็กที่ต้องแบกรับแรงกดดันอย่างมากต่อการทำกำไร โดยในไตรมาส 2 ของปี 2567 บริษัทกว่า 27% ในดัชนี Russell 2000 ยังมีการรายงานที่ผลขาดทุน

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ พุ่งแรงต่อเนื่อง: โอกาสปี 2025 ของหุ้นขนาดเล็ก

อย่างไรก็ดี จากที่แนวทางการผ่อนคลายด้านนโยบายการเงินของ Fed ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อช่วงปลายไตรมาส 3 ที่ผ่านมาและมีแนวโน้มที่จะปรับลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้บริษัทในดัชนี Russell 2000 กลับมาฟื้นตัวได้

เนื่องจากกลุ่มหุ้นบริษัทของดัชนี Russel 2000 มีสัดส่วนการกู้ยืมผ่านอัตราดอกเบี้ยลอยตัวสูงถึง 32% เมื่อเทียบกับกลุ่มหุ้นบริษัทของดัชนี S&P 500 ที่มีต้นทุนดอกเบี้ยลอยตัวเพียง 7%

การลดอัตราดอกเบี้ยหลังจากนี้ จึงมีโอกาสช่วยลดต้นทุนทางการเงินและเปิดโอกาสให้หุ้นบริษัทในดัชนี Russell 2000 มีผลกำไรมากขึ้น โดยนักวิเคราะห์คาดว่าในปี 2568 ดัชนี Russell 2000 จะมีแนวโน้มอัตราการเติบโตของกำไรสูงถึง 41.51% เมื่อเทียบกับดัชนี S&P 500 ที่มีแนวโน้มอัตราการเติบโตที่ 12.53%(*)

นอกจากนี้ การกลับมาของโดนัลด์ ทรัมป์ พร้อมกับพรรคริพับลิกันที่ครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรส ทำให้คาดการณ์ว่าจะมีบทบาทสำคัญต่อโอกาสการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2568 ผ่านนโยบายที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศไว้ก่อนการเลือกตั้ง

เช่น การผ่อนคลายกฎระเบียบการดำเนินธุรกิจ การลดภาษีบุคคลธรรมดาเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ภายใน รวมถึงการลดภาษีนิติบุคคลจาก 21% เหลือ 15% เป็นต้น โดยคาดว่านโยบายเหล่านี้จะช่วยสร้างโอกาสและส่งผลบวกต่อกำไรของดัชนี S&P 500 ที่ประมาณ 4% ในปีหน้า

ซึ่งประเมินว่าจะมี 3 กลุ่มที่ได้รับประโยชน์คือ กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย (Consumer Discretionary) ที่มีการเติบโตของกำไร ประมาณ 7% ถัดมาคือ กลุ่มบริการด้านการสื่อสาร (Communication Services) และสถาบันการเงิน (Financials) ที่เติบโต 5%

โดยที่ดัชนี Russell 2000 มีสัดส่วนของหุ้น 3 กลุ่มนี้ที่มีน้ำหนักถึง 33% ของดัชนีรวม จึงมองว่าราคาของดัชนี Russell 2000 มีโอกาสถูกปรับเพิ่มขึ้นได้ สำหรับการประเมินมูลค่าดัชนี Russell 2000 นั้น ปัจจุบันซื้อขายอยู่ที่ระดับราคา P/E ที่ 20.1 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี ซึ่งอยู่ที่ 21.1 เท่า

และเมื่อพิจารณาอัตราส่วนราคาระหว่างดัชนี S&P 500 กับดัชนี Russell 2000 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ก็จะพบว่า ปัจจุบันดัชนี Russell 2000 ยังซื้อขายในระดับราคาที่ต่ำกว่าดัชนี S&P 500 ถึง 37% ทำให้มีโอกาสสำหรับนักลงทุนที่สนใจลงทุนในหุ้นขนาดเล็กที่แนวโน้มการทำกำไรกำไรฟื้นตัวและขยายตัวสูงกว่า

นอกจากนี้ หากดูจากข้อมูลในอดีต เรื่องการตอบรับต่อนโยบายการลดภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์ ในช่วงปี 2559 – 2560 จะพบว่า ตลาดหุ้นได้ปรับตัวขึ้น 2 ระลอก คือปรับขึ้นทันทีหลังการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน 2558 จนถึงสิ้นปี 2559 

โดยดัชนี Russell 2000 ปรับตัวขึ้นกว่า 17.31% สูงกว่าดัชนี S&P 500 ที่ปรับตัวขึ้นเพียง 7.19% และภายหลังจากที่กฎหมายลดภาษีนิติบุคคลผ่านสภาคองเกรส ในวันที่ 2 ธันวาคม 2560 ดัชนี Russell 2000 ยังคงปรับขึ้นอีก 8.71% ใน 6  เดือนถัดมา ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปรับขึ้น 5.29%

ทำให้คาดว่า หุ้นในดัชนี Russell 2000 ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการลดภาษีสูง จะมีโอกาสปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากนโยบายข้างต้น เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในอดีต