ก.ล.ต.รื้อเกณฑ์มาร์จิ้น คุม IPO ห้ามปล่อยกู้เทรด 14 วันแรก

10 ม.ค. 2568 | 04:41 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ม.ค. 2568 | 04:41 น.

ก.ล.ต.รื้อเกณฑ์ margin loan เข้มหุ้น IPO 14 วันแรกห้ามให้มาร์จิ้น ต้องใช้เงินสดเท่านั้น ปรับลดเพดานปล่อยกู้รวมจากเดิมไม่เกิน 5 เท่าเหลือ 4 เท่าของผู้ถือหุ้น ปรับเพดานปล่อยกู้ต่อรายจากเดิมไม่เกิน 25% ของ equity เหลือไม่เกิน 20% ใน 2 ปีแรก และไม่เกิน 15% ในปีที่ 3 เป็นต้นไป

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ระบุว่า ก.ล.ต.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์(margin loan) เนื่องจากก.ล.ต. พบว่า มีหุ้นหลายตัวที่เป็นหลักประกันในบัญชีมาร์จิ้น มีราคาผันผวนและลดลงจากสาเหตุต่างๆ ส่งผลกระทบกับมูลค่าหลักประกัน 

ทำให้บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)ต้องบังคับขายหลักประกัน แต่มูลค่าการบังคับขายหลักประกันอาจไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้จึงเกิดความเสียหายต่อบล. และส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของตลาดทุนโดยรวม

ประกอบกับบล. บางแห่งมีการปล่อย margin loan ในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับฐานะของตนเอง และ บล. หลายแห่งมีการปล่อย margin loan ที่กระจุกตัวในลูกค้าและหลักประกัน

สำหรับหลักการที่มีการปรับปรุงใหม่ประกอบด้วย

  1. ปรับปรุงอัตรามาร์จิ้นเริ่มต้น (Initial Margin : IM) ของหุ้นบริษัทจดทะเบียนที่ออกและเสนอขายหลักทรัพย์ครั้งแรก (หุ้น IPO) เพื่อลดความเสี่ยงที่หลักประกันจะไม่เพียงพอชำระหนี้
  2. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การปล่อยกู้ให้สอดคล้องกับฐานะของ บล. ในเรื่องยอดหนี้คงค้างจากการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ทุกรายรวมกัน และแก่ลูกค้ารายใดรายหนึ่งให้รัดกุมยิ่งขึ้น
  3. กำหนดสัดส่วนการกระจุกตัวในหลักทรัพย์ที่เป็นหลักประกันของลูกค้าแต่ละราย เมื่อเทียบกับจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด ต้องไม่เกินกว่าระดับที่กำหนด และให้ บล. ติดตามพฤติกรรมการซื้อขายของลูกค้าเพื่อป้องกันการซื้อขายไม่เหมาะสม
  4. กำหนดให้ บล. คำนึงถึงการบริหารความเสี่ยงด้านเครดิต (credit risk) ของลูกค้าอย่างเหมาะสม ทั้งการเรียกให้ลูกค้านําเงินหรือทรัพย์สินมาวางเป็นประกันเพิ่ม (call) และการบังคับชําระหนี้ (force) margin loan
  5. ยกเลิกหน่วยลงทุนจากการเป็นหลักทรัพย์ที่ให้กู้ยืมเพื่อซื้อในบัญชีมาร์จิ้น (marginable securities) และการเป็นหลักประกันในธุรกรรม margin loan และธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ (SBL)
  6. กำหนดให้ บล. มีมาตรการดูแลเพื่อให้การกู้ยืมเงินผ่านบัญชีมาร์จิ้นเป็นไปเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์โดยพิจารณาถึงข้อเท็จจริงหรือสาระที่แท้จริง (substance) ของธุรกรรมดังกล่าว กรณีที่การใช้ margin loan เพื่อซื้อหลักทรัพย์ big lot กับผู้เกี่ยวข้อง อาจมีลักษณะที่อาจเข้าข่าย Loan Against Securities ซึ่งเป็นธุรกรรมที่ บล. ไม่สามารถให้บริการได้

สำหรับการปรับปรุงอัตรามาร์จิ้นเริ่มต้น (Initial Margin : IM) ของหุ้นบริษัทจดทะเบียนที่ออกและเสนอขายหลักทรัพย์ครั้งแรก(หุ้น IPO) เพื่อลดความเสี่ยงที่หลักประกันจะไม่เพียงพอชำระหนี้ ซึ่งเดิมจะไม่มีการกำหนดไว้

หลักการที่จะปรับใหม่คือ กำหนด IM 100% สำหรับหุ้น IPO ที่เริ่มเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันที่ 14 ของการซื้อขาย (trading day) กล่าวคือ ลูกค้าไม่สามารถกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ได้ ต้องใช้เงินสดของตนเองเต็มจำนวน

กำหนด IM ไม่ต่ำกว่า 60% สำหรับรับหุ้น IPO ที่เริ่มเข้าซื้อขายในตลท. ตั้งแต่วันที่ 15-60 ของการซื้อขาย (trading day) จากนั้นจะคิด IM ปกติตั้งแต่วันที่ 60 ขึ้นไป 

ส่วนการกำหนดยอดหนี้คงค้าง เนื่องจากการใหู้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ แก่ลูกค้าทุกรายรวมกันต่อ equity ของบริษัท (Total Lending Limit) ซึ่งเกณฑ์เดิมห้ามมิให้ บล. มียอดหนี้คงค้าง

เนื่องจากการให้กู้ยืมเงิน เพื่อซื้อหลักทรัพย์แก่ลูกค้าทุกรายรวมกันภายหลังหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญแล้ว เมื่อสิ้นวันหนึ่ง ๆ เกินกว่า 5 เท่าของ equity ของ บล. โดยมิให้นำมาใช้กับกรณีที่ยอดหนี้คงค้างของลูกค้าทุกรายรวมกันสูงกว่าอัตราที่กำหนด 

ยกเว้น หลักทรัพย์ที่ยืมมีมูลค่าสูงขึ้น  การเรียกเก็บดอกเบี้ย การซื้อหลักทรัพย์เพื่อนำมาคืนการยืมหลักทรัพย์เพื่อ ขายชอร์ต และ equity ของบริษัทหลักทรัพย์ลดลงให้นับรวมยอดหนี้คงค้างเนื่องจากการให้ยืมหลักทรัพย์ 

ขณะที่หลักเกณฑ์ใหม่ที่เสนอคือ ให้ปรับลดยอดหนี้คงค้างลูกค้าทุกรายรวมกันจาก 5 เท่าเหลือ 4 เท่าของ equity ของ บล. แก่ลูกค้าที่ไม่ใช่ลูกค้าสถาบันในยอดหนี้คงค้างตามข้างต้นด้วย 

ส่วนเกณฑ์กำกับดูด้านเงินกองทุนนั้น จากเดิมจะไม่มีกำหนด แต่หลักการที่เสนอใหม่คือ เพื่อให้เกณฑ์เงินกองทุนสะท้อนความเสี่ยงจากการปล่อยกู้มากจนไม่สอดคล้องกับฐานะของบล.

ก.ล.ต.รื้อเกณฑ์มาร์จิ้น คุม IPO ห้ามปล่อยกู้เทรด 14 วันแรก

กรณี บล. มีมูลหนี้คงค้าง เนื่องจากการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์แก่ลูกค้าทุกรายรวมกัน เมื่อสิ้นวันหนึ่งหนึ่งๆ เกินกว่าระดับที่กำหนด ให้หักค่าความเสี่ยง (haircut ) จากมูลหนี้คงค้างเฉพาะในส่วนที่เกินกว่า equity ในอัตราขั้นบันได เพื่อเป็นค่าความเสี่ยงการกระจุกตัวของลูกหนี้ 

โดยหากระดับมูลหนี้คงค้างที่กำหนด มากกว่า 3 เท่า ของ equity ให้ haircut  15% ของมูลหนี้คงค้างส่วนเกิน หากมูลหนี้คงค้างมากกว่า 3.5 เท่า ของ equity ให้ haircut 20% ของมูลหนี้คงค้างส่วนเกิน และหากหนี้คงค้างมากกว่า 4 เท่า ของ equity ติดต่อกันเกิน 3 เดือน ให้ haircut  100% ของมูลหนี้คงค้างส่วนเกิน 

ขณะเดียวกันการกำหนดยอดหนี้้คงค้างเนื่องจากการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ แก่ลูกค้ารายใดรายหนึ่งต่อ equity ของบริษัท (Single Lending Limit) ปัจจุบันจะห้ามมิให้บล. มียอดหนีคงค้าง

เนื่องจากการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์แก่ลูกค้ารายใดรายหนึ่ง (นับรวมการให้ margin loan กับบุคคลที่เกี่ยวข้องกัน) เมื่อสิ้นวันหนึ่งๆ เกินกว่า 25% ของ equity ของ บล. โดยมิให้นำมาใช้กับกรณี ข้อยกเว้นและให้นับรวมยอดหนีคงค้าง เนื่องจากการให้ยืมหลักทรัพย์แก่ลูกค้าที่มิิใช่ลูกค้าสถาบัน ในยอดหนี้คงค้างตามข้างต้นด้วย 

หลักการที่เสนอใหม่คือ ห้ามมิให้บล. มียอดหนี้คงค้างเนื่องจากการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์แก่ลูกค้ารายใดรายหนึ่ง เมื่อสิ้นวันหนึ่งๆ เกินกว่าอัตราที่กำหนดคือ 20% ของ equity ใน 2 ปีแรก  และ 15% ของ equity ในปีที่ 3 เป็นต้นไป

นอกจากนั้นในเรื่องเงินกองทุนนั้น เกณฑ์ปัจจุบันคือ มูลหนี้้ของลูกหนี้รายที่เข้าเกณฑ์กระจุกตัวคือ มีมูลหนี้ margin loan และ SBL เกินกว่า 15% ของ equity กรณี equity มากกว่า 100 ล้านบาท และ และ 15 ล้านบาท  กรณี equity น้อยกว่า 100 ล้านบาท  ให้ haircut 10% ของส่วนเกิน  

ส่วนหลักการที่เสนอในการปรับคือ คงหลักเกณฑ์เดิม และเพิ่มเติมกรณีที่บล. มีมูลหนี้คงค้างของลูกหนี้รายใดรายหนึ่งเกินกว่า อัตราที่เกณฑ์ conduct กำหนดจะต้องหัก haircut 100% ของมูลหนี้คงค้างในส่วนที่เกิน 

สำหรับการดำเนินการเพิ่มเติมกรณีหุ้นหลักประกันกระจุกตัว เกณฑ์ conduct เดิมไม่มีกำหนด แต่มีเรื่องเงินกองทุนคือ กรณี บล. มีหลักประกันหุ้นใดหุ้นหนึ่งเป็น หลักประกันการชำระหนี้ในบัญชี cash และ margin ของลูกค้าทุกรายรวมกันเกินกว่า 5% ของจำนวนหุ้นที่เรียกชำระแล้ว ให้คำนวณ haircut เพิ่มอีก 0.5 เท่าของอัตราปกติ 

กรณีหุ้นใดหุ้นหนึ่งเป็นหุ้นที่ ตลท. ประกาศ ให้สมาชิกกำหนดให้ลูกค้าซื้อหลักทรัพย์ โดยวางเงินสดไว้ล่วงหน้าเต็มจำนวนก่อนการซื้อ หลักการที่เสนอ (cash balance) ให้คำนวณ haircut เพิ่มอีก 0.5 เท่าของอัตราปกติ 

ส่วนหลักการใหม่จะมีการออกเกณฑ์ conduct คือ กำหนดให้ลูกค้ามีหลักทรัพย์ที่เป็นหลักประกันกระจุกตัวในหลักทรัพย์ใดหลักทรัพย์หนึ่ง (นับรวม NVDR) ได้ไม่เกิน 10% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทัั้งหมด เพื่อให้ลดการ กระจุกตัวของหลักทรัพย์ที่ปล่อยกู้หรือที่ลูกค้านำมาวางเป็นหลักประกัน เพื่อจะช่วยลดความเสี่่ยงต่อ บล. และ systemic risk 

โดยมีเงื่อนไขดังนี้

  1. กรณีกระจุกตัวเกินกำหนดให้ลูกค้าซื้อหลักทรัพย์เพิ่มได้ด้วย IM 100%  
  2. หากลูกค้านำหลักทรัพย์ดังกล่าวมาวางเพิ่ม จะไม่สามารถเพิ่มอำนาจซื้อได้ โดยสามารถใช้เป็น หลักประกันรองรับการชำระหนี้ได้เท่านั้น
  3. ให้ บล. ติดตามพฤติกรรมการซื้อขายของลูกค้า รายดังกล่าวเพื่อป้องกันการซื้อขายไม่เหมาะสม

ส่วนการเพิ่่มเติมหลักการเกี่ยวกับการเรียกให้ลูกค้านําเงินหรือทรัพย์สินมาวาง เป็นประกันเพิ่ม (call) และการบังคับชําระหนี้(force) เพื่อให้ประกาศของสำนักงาน ก.ล.ต. มีความครบถ้วนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ margin loan จากเดิมที่ไม่มีกำหนด

หลักการที่เสนอคือ ให้ บล. คำนึงถึงการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ในเรื่องการเรียกให้ลูกค้านําเงินหรือทรัพย์สินมาวาง เป็นประกันเพิ่่ม (call) และการบังคับชําระหนี้ (force) สำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์ประเภทมาร์จิ้น 

ขณะเดียวกันบล.ต้องพิจารณาวัตถุประสงค์หรือสาระที่แท้จริงของธุรกรรม margin loan ในการให้บริการธุรกรรม margin loan บล. ต้องมี มาตรการดูแลเพื่อให้การซื้อขายหลักทรัพย์ ผ่านบัญชีมาร์จิ นของลูกค้ามีวัตถุประสงค์ เพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์

โดยให้ บล. พิจารณา จากข้อเท็จจริงหรือสาระที่แท้จริง (substance) ของธุรกรรมดังกล่าว ไม่ว่าการกู้ยืมเงินนั้นจะมีลักษณะหรือรูปแบบที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ที่กำหนดหรือไม่

เช่น กรณีที่ลูกค้ากู้ยืมเงิน ผ่านบัญชีมาร์จิ้นเพื่อซื้อหลักทรัพย์ big lot กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับลูกค้า เมื่อพิจารณาถึงสาระ ที่แท้จริง (substance) ของธุรกรรม อาจมีลักษณะ เช่นเดียวกับกรณี บล. ปล่อยกู้ให้กับบุคคล กลุ่มเดียวกันโดยไม่จำกัดวัตถุประสงค์การใช้เงิน ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นธุรกรรม LAS 

 

หน้า 1  หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,061 วันที่ 12 - 15 มกราคม พ.ศ. 2568