thansettakij
ตลาดหลักทรัพย์ฯ จี้ PRIME แจงงบการเงินปี 67 ภายใน 3 เม.ย.นี้

ตลาดหลักทรัพย์ฯ จี้ PRIME แจงงบการเงินปี 67 ภายใน 3 เม.ย.นี้

28 มี.ค. 2568 | 04:00 น.
อัปเดตล่าสุด :28 มี.ค. 2568 | 04:00 น.

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เรียก PRIME ชี้แจงงบการเงินปี 67 หลังผู้ตรวจสอบบัญชีพบพิรุธ ทั้งการขายหุ้นของบริษํทย่อย เงินจ่ายล่วงหน้าค่าหุ้นแทนบุคคล ขีดเส้นตายภายใน 3 เม.ย.68

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ขอให้ บริษัท ไพร์ม โรด เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ PRIME ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินประจำปี 2567 โดยผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไข

  1. บริษัทย่อยขายหุ้น 7 บริษัทย่อยเป็นเงิน 475 ล้านบาท โดยโอนหุ้นให้ผู้ซื้อแล้วในขณะที่ได้รับชำระเงิน 27% ของมูลค่าขาย
  2. เงินจ่ายล่วงหน้าค่าหุ้นแทนบุคคลที่เกี่ยวข้องว่าจะได้รับคืนหรือไม่ขึ้นอยู่กับผลการตัดสินคดีของศาล

รวมทั้งมีข้อสังเกตกรณีความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่อง กรณีข้างต้นอาจส่งผลกระทบต่อฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน และการประกอบธุรกิจของกลุ่มบริษัท  

โดยขอให้ชี้แจงข้อมูลผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในวันที่ 3 เมษายน 2568 ในส่วนความเห็นของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการตรวจสอบ ภายในวันที่ 10 เมษายน 2568 นอกจากนี้ ขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลงบการเงินของ PRIME และติดตามคำชี้แจงของบริษัท

สรุปข้อมูลสำคัญในงบการเงินประจำปี 2567 
1. เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 PRIME อนุมัติให้ Prime Solar Energy Corporation (PSE : บริษัทย่อย 100%) ขายหุ้น 7 บริษัทย่อยที่ทำธุรกิจโรงไฟฟ้าในไต้หวันเป็นเงิน 475 ล้านบาท ต่อมาวันที่ 26 ธันวาคม 2567 ผู้ซื้อชำระเงิน 130 ล้านบาท และ PSE ได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อกรรมการ ชื่อผู้ถือหุ้น และโอนหุ้นให้ผู้ซื้อแล้ว สำหรับค่าขายที่ยังไม่ได้รับชำระ 345 ล้านบาท ผู้ซื้อจะทยอยจ่าย 4 งวด ทั้งนี้ ผู้สอบแสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขเพิ่มเติมในเรื่องดังต่อไปนี้    

  • หนี้ที่บริษัทย่อย 7 แห่งมีกับกลุ่มบริษัท มูลค่า 511 ล้านบาท ซึ่งผู้สอบบัญชีไม่ได้รับการยืนยันยอดหนี้จากผู้ซื้อ โดยผู้ซื้อให้เหตุผลว่าอยู่ระหว่างเจรจากับกลุ่มบริษัท ซึ่งอาจมีผลต่อมูลค่าซื้อขายที่ตกลงกันไว้ในสัญญา 
  • การไม่สามารถประเมินการด้อยค่าเงินลงทุน PSE (เงินลงทุน PSE 1,058 ล้านบาท) ซึ่งอาจกระทบต่อทรัพย์สินของ PSE ที่บันทึกอยู่ในงบการเงินรวม  

2. กลุ่มบริษัทจ่ายเงินล่วงหน้าค่าหุ้นแทนบุคคลที่เกี่ยวข้องที่เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทย่อย 22 ล้านบาท ต่อมามีคดีฟ้องร้องกัน ดังนั้นเงินจะได้รับคืนหรือไม่ขึ้นอยู่กับผลการตัดสินคดีของศาล
3. ความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่องขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อชำระหนี้และใช้ในธุรกิจ เนื่องจาก PRIME มีหนี้สินหมุนเวียนมากกว่าสินทรัพย์หมุนเวียน 2,197 ล้านบาท มีขาดทุนสะสม 723 ล้านบาท และเดือนกรกฎาคมและธันวาคม 2568 มีหุ้นกู้ที่จะต้องชำระรวม 670 ล้านบาท รวมทั้งในปี 2568 PRIME ยังมีเงินกู้ยืมสถาบันการเงินที่ต้องชำระรวม 310 ล้านบาท  

 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ PRIME ชี้แจงข้อมูล ดังนี้ 
1. การขายหุ้น 7 บริษัทย่อย
1.1 สรุปสาระสำคัญของสัญญา เงื่อนไข หลักประกันจากผู้ซื้อ กรอบเวลาดำเนินการเพื่อให้ได้รับเงินค่าขายครบถ้วน การดำเนินการตามสัญญา ความเสี่ยงและแนวทาง/มาตรการป้องกันความเสี่ยงที่อาจไม่ได้รับชำระค่าขายส่วนที่เหลือ
1.2 สรุปรายละเอียดหนี้ต่างๆ ของ 7 บริษัทย่อย โดยอธิบายชื่อคู่สัญญา วันที่ทำรายการ ลักษณะรายการ มูลค่ารายการ มูลค่าที่จะได้รับคืน เงื่อนไขและระยะเวลาที่คาดว่าจะได้รับชำระคืน 
1.3 ข้อเท็จจริงกรณีที่ระบุว่าหนี้อยู่ระหว่างเจรจาข้อตกลงกับผู้ซื้อ ซึ่งอาจมีผลต่อมูลค่าซื้อขายที่ตกลงกันไว้ในสัญญา ในขณะที่บริษัทตกลงขายหุ้นเป็นเงิน 475 ล้านบาท พร้อมความคืบหน้าในการเจรจา
1.4 ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกรณี 1.1 – 1.3 ต่อฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน สภาพคล่อง และระบบการควบคุมภายในของกลุ่มบริษัท 
1.5 การดำเนินการและกรอบเวลาที่คาดว่าจะแล้วเสร็จเพื่อให้ผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นแบบไม่มีเงื่อนไขทั้งการยืนยันยอดหนี้และการประเมินมูลค่ายุติธรรมของ PSE 

2. เงินจ่ายล่วงหน้าค่าหุ้นให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องกัน 
2.1 ที่มาและรายละเอียดของคู่สัญญา (ชื่อคู่สัญญา ชื่อบริษัทย่อยและการประกอบธุรกิจ ความสัมพันธ์กับบริษัท/บริษัทย่อยในฐานะผู้ถือหุ้น กรรมการ ผู้บริหาร และบุคคลที่เกี่ยวข้อง) วันที่ทำรายการ ความคืบหน้าของคดี การพิจารณาตั้งด้อยค่า ผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทย่อย
2.2 รายการดังกล่าวเข้าข่ายเป็นรายการที่เกี่ยวโยงกันและบริษัทได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามเกณฑ์แล้วหรือไม่ อย่างไร

3. ความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่อง โดยอธิบายผลกระทบต่อการชำระคืนหุ้นกู้และเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน หากยังไม่ได้รับค่าขายส่วนที่เหลือ รวมทั้งแผนการขายโรงไฟฟ้าโซล่าร์บางส่วน

4. ความเห็นของคณะกรรมการเกี่ยวกับ
4.1 ความสมเหตุสมผลและประโยชน์ที่บริษัทได้รับ (1) กรณีโอนหุ้นบริษัทย่อยให้ผู้ซื้อโดยที่ยังปฏิบัติตามเงื่อนไข ไม่เสร็จสิ้นและได้รับเงิน 27% ของมูลค่าขาย (2) กรณีเงินจ่ายล่วงหน้าค่าหุ้นให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องกัน
4.2 ความเสี่ยงและมาตรการป้องกันความเสี่ยง (1) กรณีข้อ 4.1 (2) กรณีที่ผู้ซื้อไม่ตอบยืนยันยอดหนี้ และ (3) กรณีไม่สามารถประเมินมูลค่ายุติธรรมของ PSE ได้

พร้อมกันนี้ ขอให้คณะกรรมการตรวจสอบให้ความเห็นถึงความเพียงพอของมาตรการตามข้อ 4.2 และกลไกในการติดตามให้เป็นไปตามมาตรการที่กำหนด รวมทั้งผลกระทบต่อระบบการควบคุมภายใน กรณีที่จะต้องปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพ ขอให้เปิดเผยการดําเนินการพร้อมกับการนําส่งงบการเงินทุกไตรมาสหรือเมื่อมีความคืบหน้าในการดําเนินการใดๆ ที่สำคัญจนกว่าจะดําเนินการแล้วเสร็จ