ตลท.-ก.ล.ต. วอนนักลงทุนอย่าแพนิค อาจเดือดร้อนกว่าในระยะยาว

31 มี.ค. 2568 | 04:05 น.
อัปเดตล่าสุด :31 มี.ค. 2568 | 04:05 น.

ตลท.-ก.ล.ต. พร้อมด้วยภาคเอกชน และสภาวิศวกร ยืนยัน อาคารในไทยแข็งแกร่ง ขณะที่การซื้อขายตลาดหุ้นไทยวันนี้ วอนนักลงทุนวิเคราะห์ข่าวสารให้ดี ชี้การแพนิค ชี้สงครามการค้ายังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ

จากกรณีเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีจุดศูนย์กลางที่ มัณฑะเลย์ เมียนมา และกระทบในหลายพื้นที่ของไทยนั้น ซึ่งทำให้สาธารณชนกังวลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจและธุรกิจ รวมถึงการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

วันนี้ 31 มีนาคม 2568 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงแถลงการณ์ร่วม เพื่อให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านความปลอดภัยทางวิศวกรรม ด้านการส่งออก ตลาดเงินและตลาดทุน เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

ศาสตราจารย์ ดร. พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ยืนยันได้ว่าตลาดทุนไทยได้ผ่านมาหลายวิกฤติแล้ว ไม่ว่าจะทั้งวิกฤติด้านเศรษฐกิจและภัยธรรมชาติ โดยเสถียรภาพมีความยืดหยุ่นได้ดี หลังการเกิดแผ่นดินไหว

สิ่งที่ ก.ล.ต. ติดตาม คือ สามารถติดต่อกับผู้ประกอบธุรกิจและตลาดหลักทรัพย์ฯ สินทรัพย์ดิจิทัล และตัดสินใจร่วมกัน คำนึงถึงประโยชน์ของนักลงทุน อย่างไรก็ดี ในเวลาเจอวิกฤติสิ่งที่เป็นสินทรัพย์สำคัญ คือ ข้อมูลข่าวสาร โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ได้ตัดสินใจปิดการซื้อขายของ ตลท. ยืนยันว่า ระบบไม่ได้มีปัญหา

แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุด คือ เรื่องของความปลอดภัยของคน และช่วงที่ไม่มีความแน่นอน การซื้อขายอาจได้รับผลกระทบได้ อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าระบบ ตลาดทุน และสินทรัพย์ดิจิทัลฯ ยังดำเนินการได้ปกติ และมียังความเสถียรภาพอยู่

ด้านผลกระทบด้านราคา และความเชื่อมั่น ในระยะสั้น คงพูดไม่ได้ แต่ในฐานะหน่วยงานกำกับ ข้อมูลข่าวสารเป็นสิ่งสำคัญมาก นักลงทุนต้องตัดสินใจอย่างมีสติ บนข้อมูลที่หน่วยงานกำกับดูแลได้ออกมายืนยันข้อมูลให้ผู้ที่ต้องการตัดสินได้รับการกลั่นกรอง การผ่อนปรนในเรื่องที่ไม่สะดวก เช่น การรายงาน ครบรอบการส่งรายงานประจำปี

ศาสตราจารย์ ดร. พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

โดยสิ่งเหล่านี้ ก.ล.ต. ได้สื่อสารผู้ประกอบธุรกิจ และสาธารณะ ระบบ ตลาดทุนไทย สามารถที่จะมั่นใจ โดยเฉพาะการใช้แผนสำรอง (Business Continuity Plan: BCP) อยากให้นักลงทุนไตรตรองและวิเคราะห์ข่าวสารอย่างถูกต้องและมีสติ

"ในวันนี้คงห้ามเรื่องของความกังวลยาก แต่ในตลาดทุนแผ่นดินไหวประเทศเรามันแค่ส่วนหนึ่ง หลายประเทศเกิดมากกว่าไทย แต่เรื่องปัจจัยเสี่ยง เรื่องสงครามการค้า มันเป็นความเสี่ยงหลักสำคัญมากกว่า ตลาดทุนไทยอาจจะยังมีผลกระทบบ้าง แต่หากนักลงทุนแยกแยะข่าวต่างๆได้ เชื่อว่า จะมี resilience ได้ดี มั่นใจว่าระบบตลาดทุนไทยสามารถดำเนินการได้ต่อ และมีเสถียรภาพ ในด้านของราคาคงคาดการณ์ไม่ได้ แต่ส่วนงานที่กำกับดูแล ทำเต็มความสามารถ นักลงทุนต้องตัดสินใจอย่างมีสติ"

ตลท. ย้ำบจ.ยังไทยแข็งแกร่ง

นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ข่าวสารที่ออกมาในขณะนี้ ต้องตรวจสอบให้ดี เมืองไทยผ่านการตรวจสอบแล้วจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และภาคอุตสาหกรรมดำเนินการทั้งในแง่ของการผลิตและการส่งออกได้ต่อ ภาคการธนาคาร การเงิน มีเสถียรภาพ ใช้งานได้ปกติ

ตั้งแต่มีเหตุแผ่นดินไหว ทางด้านคปภ. ก็พร้อมที่จะตอบสนองกับประชาชนที่ดำเนินการเครม ด้านบริษัทประกันมีความแข็งแกร่ง และช่วยเหลือประเทศชาติที่จำเป็น ด้าน ตลท. และก.ล.ต. ประสานงานอย่างต่อเนื่อง หารือกับสมาคมฯ ต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อม โดยระบบ ใช้งานได้ปกติ แต่ในเคสนี้ เป็นเรื่องบุคลากรที่ต้องอพยพ และได้ตรวจสอบระบบ รวมถึงบุคลากร ซึ่ง ณ วันนี้ บุคลากรพร้อมที่จะดำเนินการให้บริการต่อ

 

"สิ่งที่สื่อสารกับนักลงุทนตลอดคือเรื่องของการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างรอบคอบ เหตุการณ์แผ่นดินไหวใน กทม. เรียกได้ว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี  ข่าวสารมีออกไปเยอะมาก อาจสร้างความตระหนก ต้องวิเคราะห์ให้ดี ทางสภาวิศวกร บอกแล้วสิ่งที่เจอไม่ได้สร้างปัญหากับระบบเศรษฐกิจ สภาอุตสาหกรรมยืนยันว่าการผลิตยังทำได้ การส่งของยังทำได้ คปภ. ประกันภัยพร้อมตอบสนองต่อสิ่งที่ต้องช่วยเหลือประชาชน บริษัทประกันยังแข็งแกร่ง"

วันนี้ ตลท. พร้อมเปิดให้บริการเต็มที่ ทั้งส่วนเคาน์เตอร์ TSD เองก็ให้บริการแล้ว มี Call Center พร้อมรองรับนักลงทุนแล้ว ไม่มีปัญหาหรือติดขัดใด สำหรับการจัดงานวันนี้เพื่อให้ข้อมูลและความมั่นใจเสถียรภาพเศรษฐกิจไทย ณ เวลานี้ โดยมีภาวะต่างประเทศที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จะแยกยังไง ว่า อันไหนเกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐาน เกี่ยวกับปัจจัยต่างประเทศ

โดยเมื่อเช้า ญี่ปุ่นเปิดลบ 4% ขณะที่ไต้หวัน 2% กว่า มีหลายอย่างที่ต้องวิเคราะห์ ช่วงนี้ใจอาจจะต้องแข็งหน่อย หากมั่นใจในข้อมูลของธุรกิจบริษัทจดทะเบียน ก็ต้องมีความแน่วแน่ อย่าฟังข่าวที่ยังไม่แน่ใจว่าจริงหรือไม่ การแพนิค น่าจะเดือดร้อนมากกว่าในระยะยาว ยืนยันว่า บริษัทจดทะเบียน ยังแข็งแรงและแข่งขันได้ในระยะยาว

AIMC ย้ำสถาบันไม่แพนิคการลงทุน

นางชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน หรือ AIMC กล่าวเสริมว่า ถ้าพูดถึงนักลงทุนสถาบัน ความแพนิคไม่น่าจะมี โดยธรรมชาติจะมีการกระจายการลงทุน ซึ่งสมดุลด้วยตัวของมันเอง ที่ผ่านมาผ่านภัยพิบัติ มาทั้ง สึนามิ เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ดังนั้นจึงมองว่า เป็นเหตุการณ์ระยะสั้น และหากลงมาเยอะ มองว่า เป็นโอกาสมากกว่า

"ด้านการลงทุนของสถาบันนั้น มองว่าการแพนิคจากการลงทุนไม่น่าจะมี เพราะตามธรรมชาติของเราคือต้องกระจายการลงทุนอยู่แล้ว ที่ผ่านมาเราผ่านหลายเหตุการณ์ภัยพิบัติมาได้ ทั้งสินามิ น้ำท่วมใหญ่ แผ่นดินไหวคงกระทบในระยะสั้นๆ เท่านั้น"

ธปท.มั่นใจระบบชำระเงินมีเสถียรภาพ

นางรุ่ง โปษยานนท์ มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า บริการชำระเงิน ยืนยันว่า ปกติ เช่นเดียวกับการเบิกจ่ายของภาครัฐ โดยดูจากบัญชีความเคลื่อนไหวเงินคงคลัง ที่อยู่กับธปท. ดำเนินการได้ปกติ ขณะที่ในช่วงแรก ยอมรับว่ามีติดขัดบ้างในช่วงแรกที่เข้าไปทำธุรกรรมไม่ได้บางส่วน

ในแง่ของการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบนั้น ทาง ธปท. ได้กำชับกับธนาคารพาณิชย์ เพราะมีเกณฑ์อยู่แล้ว ว่าหากมีภัยฯ ธนาคารสามารถให้ความช่วยเหลือกับลูกค้าได้ เช่น ลดอัตราการผ่อนขั้นต่ำ การปรับโครงสร้างหนี้ เป็นต้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนให้ได้มากที่สุด

“ในช่วงที่ผ่านมาได้ติดตามคือ การให้บริการราบรื่นไหม ซึ่งยอมรับว่า เป็นสเตรทเทส หรือ การทดสอบ ที่สำคัญ ทั้งโมบายแบงก์กิ้ง อินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง และพร้อมเพย์ ดำเนินการได้ปกติ โดยยืนยันว่า มีน้อยสาขามาก ที่ยังไม่เปิดให้บริการ”

ตลท.-ก.ล.ต. พร้อมด้วยภาคเอกชน และสภาวิศวกร ยืนยัน อาคารในไทยแข็งแกร่ง

คปภ. ชี้บริษัทประกันภัยยังมีสภาพคล่อง

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการ คณะกรรมการกากับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า เบื้องต้นได้มีการแจ้งให้บริษัทประกันภัยทุกแห่งทราบ ทั้งประกันชีวิต ประกันภัย ให้ติดตามสถานการณ์ต้องดำเนินการสำรวจภัยให้เร็วที่สุดแล้ว รวมถึงแจ้งสำนักงานประกันภัย ทุกบริษัทต้องเตรียมพร้อมรองรับในด้านต่างๆ และพร้อมดำเนินการในการเครมได้ โดยทุกบริษัท ยืนยันว่า เริ่ม

สำหรับตึกแห่งหนึ่งที่ถล่ม มีทุนประกัน 2,136 ล้านบาท มรการประกันภัยโดย 4 บริษัท ทั้ง 4 บริษัท มีการประกันภัยต่อไปยังต่างประเทศ การจ่ายค่าสินไหม จะจ่ายตามงวดงานที่เกิดขึ้นจริง ทางคปภ. ยืนยัน ไม่กระทบฐานะทางการเงินของ 4 บริษัทอย่างแน่นอน มีสภาพคล่องที่เพียงพอรองรับเศรษฐกิจของประเทศได้ และยืนยันว่า มีความแข็งแกร่งในด้านฐานะทางการเงิน แต่อย่างไรก็ดี เวลานี้สิ่งสำคัญเหนืออื่นใดคือเร่งช่วยเหลือผู้สูญหายจากเหตุการณ์อาคารถล่มให้เร็วที่สุด

ส.อ.ท. ชี้เอกชนไร้ปัญหา

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในเหตุการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ประเมินความเสียหายในด้านการค้ากับประเทศเมียรมานั้น มองว่าค่อนข้างน้อย เนื่องจากส่วนใหญ่โรงงานไม่ได้อยู่ในมัณฑะเลย์ แต่ตั้งอยู่พื้นที่อื่น

ส่วนการผลิตเพื่อการส่งออก มองว่าการค้าชายแดน ปัจจุบันยังดำเนินการปกติ และบางส่วนอาจต้องการสินค้าเพิ่มเติม เมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรง ผลกระทบกับไทยโดยตรงไม่มี แต่อาจมีผลเชิงบวก ที่ต้องการสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าซ่อมแซม อุปกรณ์ก่อสร้าง ที่ต้องสั่งเข้าไปซ่อมแซม

สภาวิศวกร เร่งตรวจสอบอาคารเคสสีแดง

ผศ. ดร. ธเนศ วีระศิริ นายกสภาวิศวกร กล่าวว่า ยืนยันว่า อาคารส่วนใหญ่มีการโยกตัว ถือเป็นเป็นเรื่องปกติเมื่อเกิดแผ่นดินไหว โดยอาคารในปัจจุบันออกแบบอาคารให้มีความเหนียว และปัจจุบันสภาวิศวกร ยังมีความมั่นใจกับตัวอาคารในประเทศไทย หลังจากได้ผ่านการทดสอบจริงมาแล้ว 1 ครั้ง คือ เหตุการณ์ล่าสุด

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีคำขอให้เข้าตรวจพื้นที่ กทม. แล้วประมาณ 13,000 แห่ง และได้ดำเนินการตรวจแล้วกว่า 10,000 แห่ง โดยพบว่า มีเพียง 2 แห่งเท่านั้นที่เป็นสีแดง โดยส่วนใหญ่เป็นพนักร้าว ปริแตก มองว่าไม่เป็นผลกระทบต่อโครงสร้างของอาคาร หากว่าพื้นไม่ร้าวแสดงว่าโครงสร้างยังแข็งแรง

โดยจากการตรวจสอบพบว่า โครงสร้างพื้นฐานของอาคารที่ร้องขอให้ไปตรวจสอบไม่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาคารออกแบบได้มีการออกแบบตามมาตรฐานวิศวกรรม และในปัจจุบันสามารถรองรับแผ่นดินไหวได้ โดยเคสสีแดง จะต้องส่งทีม วุฒิวิศวกรไปดู และต้องสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนให้ได้

สำหรับอาคารที่ขึ้นเรตแดงทั้ง 2 แห่งข้างต้น ส่วนตัวยังไม่ได้เข้าไปดูเอง ยังไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน แต่มีกำหนดว่าจะได้เข้าไปดู และแก้ไข โดยต้องเอาวุฒิวิศวะกรเข้าไปดู จากการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมทราบว่าจริงๆ มีเพียง 1 หลังเท่านั้นที่เป็นสีแดง แต่อย่างไรก็ดี ไม่ได้นิ่งดูดาย ต้องตรวจสอบเพิ่มเติม การยกย้ายอาคารในปัจจุบันก็สามารถทำได้ แม้แต่อิฐก่ออายุเป็น 100 ปี ก็สามารถทำได้ หลักการทางวิศวะกรรมทำได้ทุกอย่าง แต่อยู่ที่ว่าคุ้มหรือไม่คุ้ม

“อยากบอกว่า ถ้าไปตรวจแล้ว บ่งบอกชี้ว่าเป็นเคสสีแดง ก็ซ่อมแซมปกติ แต่ปัจจุบันมีผู้ตรวจสอบอาคารอยู่ มีการตรวจสอบประจำปี ตรวจซ้ำ ส่วนหากเกิดรอบใหม่ยังไหวไหม หากไม่นับอาคารที่พังลงมา ต้องวิเคราะห์ข้อบทเรียน ข้อศึกษา แต่ที่เหลือไม่ใช่ ส่วนใหญ่เขียวเรามั่นใจ ทั้งนี้ มีคำถามถึงถ้าหากมีแผ่นดินไหวอีกจะรองรับได้แค่ไหน โดยยืนยันว่าการก่อสร้างอาคารไม่ได้คำนึงว่าจะเกิดในอัตราเท่าไหร่ แต่คำนึงถึงหากเกิดที่กาญจนบุรี ถ้าเกิดใกล้ที่สุด สั่นมากที่สุดจะเป็นอย่างไร ดังนั้น การออกแบบจึงออกแบบให้เหนียวที่สุด เช่น อาคารสำคัญ โทรคมนาคม โรงพยาบาล และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ”