ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน ธ.ค. ลดลง 8.5 ดอลลาร์ หรือ 0.5% ปิดที่ 1,677.5 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาทองคำปรับตัวลง หลังกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี PPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต เพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.2% หลังจากลดลง 0.2% ในเดือนส.ค. และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI เพิ่มขึ้น 8.5% ในเดือนก.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.4% จากระดับ 8.7% ในเดือนส.ค.
ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 0.3% เมื่อเทียบรายเดือน สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนส.ค. และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI พื้นฐาน ปรับตัวขึ้น 7.2% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 7.3% จากระดับ 7.2% ในเดือนส.ค.
นอกจากนี้ ราคาทองยังถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
ทั้งนี้ ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นจะลดความน่าดึงดูดของทอง โดยทำให้สัญญาทองมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น ขณะที่การดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ปรับตัวขึ้น 0.09% สู่ระดับ 113.3200 ในวันพุธ (12 ต.ค.)
บรรดานักลงทุนจะรอการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในวันพฤหัสบดีนี้ (13 ต.ค.) เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้อัตราเงินเฟ้อและทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยผลสำรวจระบุว่า ดัชนี CPI จะยังคงบ่งชี้ถึงภาวะเงินเฟ้อที่ร้อนแรงในเดือนก.ย. โดยอาจดีดตัวขึ้นมากกว่า 8% ใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี