“บิตคอยน์”ในฐานะสินค้าทางการเงิน Good money

04 พ.ย. 2566 | 12:27 น.
อัปเดตล่าสุด :04 พ.ย. 2566 | 12:34 น.

Fidelity ผู้ให้บริการทางการเงินรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกาได้เปิดเผยรายงานเกี่ยวกับบิตคอยน์ในเดือนกันยายนปี 2566 ภายใต้ชื่อ ‘Bitcoin First Revisited’

โดยได้นำเสนอเหตุผลที่นักลงทุนควรพิจารณาบิตคอยน์แยกจากสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ ในฐานะการเป็นสินค้าทางการเงิน (Monetary good) ที่มีจุดประสงค์หลักเป็นสินทรัพย์ที่สามารถคงมูลค่าได้ (Store of value) ในโลกดิจิทัล

บิตคอยน์มีความเหมาะสมกับการเป็นสินค้าทางการเงินเพราะมีคุณสมบัติของเงินที่ดี (Good money) หลายประการ มีความทนทาน พกพาสะดวก สามารถแบ่งเป็นหน่วยย่อยและแลกเปลี่ยนได้ง่าย ที่สำคัญมีจำนวนจำกัดที่ 21 ล้านเหรียญ

“บิตคอยน์”ในฐานะสินค้าทางการเงิน Good money

 

ซึ่งถูกออกแบบมาในโค้ดตั้งแต่แรก ระบบของบิตคอยน์ถูกดูแลในรูปแบบกระจายศูนย์ (Decentralized) และทำงานแบบ Open-source ทำให้ผู้ใช้งานทั่วโลกสามารถเข้าร่วมระบบได้อย่างอิสระและสามารถตรวจสอบธุรกรรมบนเครือข่ายได้อย่างง่ายดาย การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ก็ตามของระบบจะต้องผ่านการนำเสนอและเป็นที่ยอมรับโดยนักขุดในระบบเป็นส่วนมาก ทำให้ระบบมีความเสถียรและยากต่อการถูกควบคุมโดยบุคคลหรือบริษัทใดบริษัทนึง ด้วยเหตุนี้บิตคอยน์จึงถูกมองเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความปลอดภัยและความกระจายศูนย์มากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ  

ในมุมมองของนักลงทุนอาจมีความคิดเห็นว่าบิตคอยน์ซึ่งเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลตัวแรกมีโอกาสที่จะถูกทดแทนโดยสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นภายหลังและมีนวัตกรรมที่ล้ำกว่า รวมถึงผลตอบแทนที่อาจสูงกว่าด้วย

อย่างไรก็ตามทาง Fidelity เชื่อว่าโอกาสที่สินทรัพย์ดิจิทัลอื่นจะมาทดแทนบิตคอยน์ในการเป็นสินค้าทางการเงินที่สามารถคงมูลค่าได้นั้นเป็นไปได้ยากด้วย Blockchain trilemma ซึ่งเป็นข้อจำกัดของระบบบล็อกเชนที่ทำให้ไม่สามารถมีคุณสมบัติของ ความกระจายศูนย์ ความปลอดภัย และความสามารถในการขยายเครือข่ายทั้ง 3 พร้อมกันได้ โดยจะสามารถเลือกได้เพียง 2 อย่างและจำเป็นต้องสละอีกคุณสมบัติไป

สำหรับระบบบิตคอยน์การพัฒนาหรือการเพิ่มความสามารถในการขยายเครือข่ายจำเป็นจะต้องเสียสละความกระจายศูนย์และความปลอดภัยซึ่งมีความสำคัญมากกว่าในบริบทของการเป็นสินค้าทางการเงินที่คงมูลค่าได้ 

ตั้งแต่ต้นปี 2566 อัตราสัดส่วนการครองตลาดของบิตคอยน์จากระบบนิเวศสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมด (Bitcoin Dominance) ได้เพิ่มขึ้นจาก 40% จนถึง 54% ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการที่บิตคอยน์ยังคงมีบทบาทที่สำคัญในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ในขณะที่สินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ ต้องเผชิญกับอุปสรรคที่แตกต่างกันไป