นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เปิดเผยว่า ในปี 2562 ทาง KBTG ได้มีการทำ Transformation องค์กรแบบยกเครื่อง หรือที่เรียกว่า #OneKBTG Transformation เพื่อเสริมกำลังในเชิงบุคลากร เทคโนโลยี และยกระดับขีดความสามารถด้านนวัตกรรมอย่างเต็มรูปแบบ โดยปักหมุดขึ้นแท่นเป็นสุดยอดองค์กรเทคโนโลยีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ได้ภายในปี 2568 ซึ่งเพียงในปี 2566 ก็สามารถทำผลงานบรรลุเป้าหมายทั้งหมดเร็วกว่าที่ตั้งไว้ถึง 2 ปี
- ความเป็นยอดในด้านระบบและปฏิบัติการ (Brilliant Basic & Operation Excellence) ระบบไอทีของธนาคารกสิกรไทยมีเสถียรภาพมากที่สุดเป็นเวลา 4 ปีติดต่อกัน โดยมีเปอร์เซ็นต์ความพร้อมในการให้บริการของระบบ (Service Availability) มากถึง 99.99% แม้จะรองรับธุรกรรมทางการเงินถึง 23.9 ล้านล้านบาท คิดเป็น 35% หรือมากกว่า 1 ใน 3 ของประเทศ และมียอดผู้ใช้งาน K PLUS กว่า 21.7 ล้านราย
-การยกระดับสถาปัตยกรรมและโครงสร้างพื้นฐานให้ทันสมัย (Architecture & Infrastructure Modernization) มีการจัดทำศูนย์จัดเก็บข้อมูล (Data Center) ที่ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า ระบบ Hybrid Cloud ที่ผสมผสานการทำงานระหว่าง Private Cloud และ Public Cloud เพื่อประสิทธิภาพและเสถียรภาพขั้นสูงสุด รวมถึงลดอัตราการเกิด Incident ระดับรุนแรงได้มากถึง 60% เวลาที่ใช้ในการแก้ไขลงลง 33% และ Downtime ของระบบลดลง 66%
-การปรับวิถีการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย Agile และ Automation (Agile Transformation & Automation) การปรับวิถีการทำงานแบบ End-to-end ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานและคุณภาพงานเพิ่มขึ้น 2.25 เท่า โดยในปี 2566 สามารถส่งมอบโปรเจคไอทีให้กับธนาคารได้ถึง 190 โปรเจค
-การขยายองค์กรสู่ระดับภูมิภาค (Regional Expansion) ขยายฐานปฏิบัติการใน 4 ประเทศ ครอบคลุม 5 เมืองใหญ่ ได้แก่ ประเทศไทย ที่กรุงเทพฯ ประเทศเวียดนามที่โฮจิมินห์ และฮานอย ประเทศจีน ที่เซินเจิ้น และประเทศอินโดนีเซีย ที่จาการ์ตา โดย KBTG Vietnam ยังได้รับรางวัล Best IT Companies 2024 จาก ITviec แพลตฟอร์มสมัครงานชั้นนำของเวียดนามอีกด้วย
-การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ (Innovation) ไม่ว่าจะเป็น MAKE by KBank ขุนทอง รวมถึงธุรกิจใหม่จาก KX อย่าง Kubix และ Coral และล่าสุดได้มีการเปิดตัว “เหมียวจด” แอปบันทึกรายจ่ายอัตโนมัติจากสลิปโอนเงิน มีการขับเคลื่อนกลยุทธ์ M.A.D. (Machine Learning, AI, Data) อย่างเต็มตัว ผ่านการนำ AI มาใช้งานในองค์กร สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ ทำวิจัยร่วมกับหน่วยงานวิจัยระดับโลก และการลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพและกองทุน Deep Tech ผ่าน KXVC
-การพัฒนาขีดความสามารถและการดูแลบุคลากร (People Transformation) ณ ปี 2566 มีพนักงานมากกว่า 2,500 คน จัดการระบบการทำงานรองรับบุคลากรด้วยนโยบาย Work from Anywhere อย่างถาวร และมีผู้บริหารที่ได้รับการยกย่องจากเวทีระดับโลกนำทัพถึง 4 คน
สำหรับ 3 ปีข้างหน้าต่อจากนี้ KBTG ตั้งเป้าที่จะขยายศักยภาพขององค์กรด้วย AI โดยคงมนุษย์เป็นจุดศูนย์กลาง เรียกว่า Human-first x AI-first Transformation เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสียอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยมีแผนการ คือ 1. ขยายขีดความสามารถด้านไอทีและเทคโนโลยีสู่ระดับโลก 2. เดินหน้าต่อเนื่องสู่การเป็น AI-First Organization ด้วยการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการที่ขับเคลื่อนด้วย AI รวมถึงปรับกระบวนการทำงานภายในองค์กร 3. ขับเคลื่อนความสามารถในการผลิตด้วย M.A.D. โดยตั้งเป้าหมายที่ 1 แสน Man Days และทำงานเร็วขึ้น 2 เท่าภายใน 3 ปี 4. เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความสามารถด้าน AI ให้กับพนักงาน KBTG รวมไปถึงบุคคลทั่วไป (AI For All) 5. Transform สู่การเป็นองค์กรเทคโนโลยีระดับภูมิภาคแบบเต็มตัว และ 6. พัฒนา KBTG ให้เป็นพื้นที่สำหรับคนที่มีฝีมือและใฝ่ฝันที่จะเติบโตในสายงานเทคโนโลยี
นางวรนุช เดชะไกศยะ Executive Chairman กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) กล่าวเพิ่มเติมว่า KBTG ตั้งเป้าที่จะเป็นองค์กรเทคโนโลยีชั้นนำของภูมิภาค พร้อมเดินหน้าเต็มกำลังเพื่อร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 3+1 ของธนาคารกสิกรไทย ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่แข็งแกร่งและล้ำสมัย เพื่อส่งมอบความเป็นเลิศทางด้านไอที การันตีด้วยแอปพลิเคชัน K PLUS ที่มีความพร้อมในการให้บริการมากถึง 99.99% สามารถครองตำแหน่งผู้นำทางด้าน Mobile Banking ได้อย่างยาวนาน
ในปี 2567 ยังคงมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนการเติบโตและเสถียรภาพอย่างต่อเนื่องผ่านการลงทุนทางด้านยุทธศาสตร์ไอทีด้วยงบประมาณ 8,000-9,000 ล้านบาท เน้นที่การยกเครื่องระบบเครดิตจากต้นน้ำยันปลายน้ำ (Rearchitect E2E Credit), แพลตฟอร์มบริหารความมั่นคั่ง (Wealth Platform), AI, Credit Card และ Infrastructure as a Service โดยมีแผนการรองรับยุทธศาสตร์ 3+1 ด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีของ KBTG ใน 4 ด้าน คือ สร้างสรรค์และส่งมอบคุณค่า (Delivering Value) ผ่านการลงทุนด้านไอทีเพื่อพัฒนาคุณภาพและการสร้างรายได้ใหม่ผ่านธุรกิจ S-Curve เพิ่มความแข็งแกร่งและประสิทธิภาพในการทำงาน (Enhancing Operation & Cost Efficiency) ทั้งในเรื่องงบ กระบวนการทำงาน คุณภาพ และการจัดการความเสี่ยง อัพเดตพื้นฐานด้านเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มโอกาส (Boosting Technology Capabilities) ผ่านการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จาก Data, AI, Cloud และอื่นๆ พร้อมการปรับปรุงสถาปัตยกรรมระบบเพื่อรองรับการให้บริการสินเชื่อของธนาคาร ยกระดับขีดความสามารถของบุคลากรในองค์กร (Uplifting People Capabilities) ด้วยการจัดสรรทรัพยาการ เพิ่มความสามารถและช่องทางบ่มเพาะสู่การเป็นผู้นำ และตอกย้ำค่านิยมและวัฒนธรรม ONE KBTG
ในด้านการเติบโตในระดับภูมิภาค ทาง K-Tech และ KBTG Vietnam ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้กับธนาคารอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มให้บริการสินเชื่อและข้อมูลในจีน แอป K PLUS Vietnam ในเวียดนาม และล่าสุดจากที่ธนาคารได้มีการลงทุนในธนาคารแมสเปี้ยน KBTG มีส่วนสำคัญในการยกระดับแพลตฟอร์มไอที โครงสร้างพื้นฐาน ความปลอดภัย และการกำกับดูแลของธนาคารแมสเปี้ยน เพื่อรองรับการให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพในอินโดนีเซีย
ดร. ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล Managing Director กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) กล่าวในตอนท้ายว่า AI กำลังกลายเป็นเทคโนโลยีอเนกประสงค์ (General-purpose Technology) ดูด้วยตาอาจจะไม่เห็น แต่อยู่ทุกที่แน่นอน โดย KBTG ถือเป็นอีกหนึ่งผู้บุกเบิกทางด้าน AI ในประเทศและภูมิภาค สร้างเป็น AI Ecosystem ในด้านต่างๆ ดังนี้
ด้านเทคโนโลยี: KBTG Labs มีการทำวิจัยร่วมกับ MIT Media Lab อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 รวมถึงการออกแบบเทคโนโลยี เช่น ระบบเปรียบเทียบใบหน้า (Face Recognition) และยืนยันหน้าจริง (Face Liveness) ให้ล้ำสมัยและใช้งานง่าย โดยจากผลงาน Face Liveness ทำให้ปัจจุบัน KBTG เป็นองค์กรเดียวในเอเชียและองค์กรที่สามของโลกที่ผ่านการรับรองระดับสูงสุด (Level 2) จากการทดสอบของ iBeta ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับสากล พร้อมเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ FinLearn แพลตฟอร์มการศึกษาที่ขับเคลื่อนด้วย AI พร้อมฟีดแบ็คแบบเรียลไทม์
ด้านการค้า: จากเทคโนโลยีที่ KBTG Labs วิจัยและพัฒนา สู่การนำเข้าสู่ตลาด กระบวนการนี้จะถูกดูแลโดย KX ซึ่งเป็น Venture Builder ในเครือ KBTG เพื่อให้ลูกค้าและพันธมิตรสามารถนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้กับธุรกิจของตนได้ โดยมีจุดเด่นคือการที่ทีมผู้พัฒนาอยู่ที่ประเทศไทย จึงสามารถรองรับการใช้งานหรือเข้าแก้ไขในกรณีที่เกิดปัญหาได้ทันที ปัจจุบันมีการเปิดตัว 2 แพลตฟอร์มและบริการทางด้าน AI คือ
- AINU (อัยนุ) ผู้ให้บริการโซลูชัน AI นำร่องด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อการยืนยันตัวตน 3 ฟีเจอร์เด่น คือ OCR (Optical Character Recognition) ระบบแปลงข้อมูลจากภาพ Liveness Detection ระบบยืนยันตัวตนด้วยการสแกนใบหน้าจริงๆ ของตัวบุคคล และ Face Recognition ระบบเปรียบเทียบใบหน้าเพื่อการยืนยันตัวตน
- Car AI เทคโนโลยี AI ตรวจสภาพรถยนต์แบบอัตโนมัติเพื่อประเมินความเสียหายจากรูปภาพ สำหรับธุรกิจประกัน ซื้อขายรถยนต์มือสอง และอื่นๆ
ด้านการลงทุน: KXVC ได้มีการลงทุนในสตาร์ทอัพ AI และจับมือกับกองทุนด้าน AI ชั้นนำของโลกอย่าง AI FUND นำโดย Andrew Ng ผู้ก่อตั้ง DeepLearning.AI พร้อมมุ่งสรรหาเทคโนโลยี AI ใหม่ๆ จากทั่วโลกมาช่วยเพิ่มกำลังทางธุรกิจ ร่นระยะเวลาในการพัฒนาเทคโนโลยีออกสู่ตลาด รวมถึงร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ๆ เพื่อสเกลธุรกิจ AI และเป็นประตูระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคอื่นๆ อย่างยั่งยืนต่อไป