นายสัญชัย ปอปลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คริปโตมายด์ กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจให้คำปรึกษาด้านบล็อกเชนและการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลช่วงไตรมาสสุดท้ายค่อนข้างคึกคัก โดยเฉพาะ Bitcoin ETF ที่ร้อนแรง มีแรงซื้อเข้ามามากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ดอกเบี้ยเริ่มคลี่คลายทำให้เงินทุนไหลเข้ามาในสินทรัพย์ดิจิทัล
ขณะที่ตามสถิติ ช่วงเดือนตุลาคมจะเป็นตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลเติบโตมากสุด อย่างไรก็ตามมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องสงครามตะวันออกกลาง ซึ่งหากประทุขึ้นอีกรอบ ก็อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเป็นปัจจัยที่ยังต้องจับตามอง แต่คิดว่าน่าจะส่งผลกระทบระยะสั้น
นอกจากนี้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ยังมีผลต่ออนาคตของอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลโลก โดยหากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตลาดก็จะสดใสมากขึ้น ขณะที่นางกมลา แฮร์ริส ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตลาดก็จะทรงตัว อย่างไรก็ตามล่าสุดนางกมลา ก็เปลี่ยนท่าที มาสนับสนุนสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น
ด้านนายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด กล่าวว่าธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล จะมีรอบระยะเวลา โดยตามสถิติตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไปจะอยู่ในข่วงขาขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่าการเติบโตของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในปีนี้จะสอดคล้องกับแนวโน้มในอดีต ซึ่งมักจะเกิดความเคลื่อนไหวในทิศทางบวกเป็นพิเศษ นักลงทุนส่วนหนึ่งชี้ให้เห็นถึงปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ เช่น การลดดอกเบี้ยที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เงินทุนไหลกลับเข้าสู่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง
“การคาดการณ์นี้ทำให้เดือนตุลาคมเป็นเดือนที่สำคัญสำหรับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล และนักลงทุนควรติดตามความเคลื่อนไหวในตลาดอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมตัวรับมือกับโอกาสที่อาจเกิดขึ้น”
นอกจากนี้ยังเชื่อว่าหากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้ง โดยชี้ว่าทรัมป์อาจสนับสนุนการซื้อ Bitcoin เพิ่มขึ้น ซึ่งมีโอกาสที่จะเปลี่ยนให้สินทรัพย์ดิจิทัล เช่น Bitcoin กลายเป็นสินทรัพย์หลักที่มั่นคงในระดับสากล โดยหากสหรัฐฯ มีการสะสม Bitcoin เพิ่มเติมถึง 1 ล้าน Bitcoin จริง ก็อาจส่งผล ให้สินทรัพย์ดิจิทัลกลายเป็นตัวกลางการเงินที่ได้รับความไว้วางใจในอนาคต
ขณะที่นายนิรันดร์ ฟูวัฒนานุกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไบแนนซ์ ทีเอช (BINANCE TH)กล่าวว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยลดต้นทุนการกู้ยืม ส่งผลให้เกิดการไหลเข้ามาของเงินทุนที่มักมุ่งไปยังสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง เช่น สินทรัพย์ดิจิทัล นอกจากนี้ ด้วยคุณสมบัติในการต้านภาวะเงินเฟ้อ อาจยิ่งทำให้ Bitcoin มีแนวโน้มที่จะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผู้คนเกิดความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ จากการคาดการณ์การใช้จ่ายและการกู้ยืมเงินที่เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งการอ่อนค่าของอัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมักเกิดขึ้นพร้อมกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ย อาจยิ่งช่วยทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลมีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้น ในฐานะเกราะป้องกันความเสี่ยงจากลดค่าของเงินตรา
นอกเหนือจากปัจจัยทางเศรษฐกิจมหภาคแล้ว Bitcoin และสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ ยังมีลักษณะเฉพาะที่อาจส่งผลต่อแนวโน้มการเติบโตหนึ่งในนั้นคือการเกิด Bitcoin Halving ที่ในอดีตมักส่งผลให้มูลค่าของบิทคอยน์ปรับตัวสูงขึ้นภายในระยะเวลา 6-8 เดือน ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าผลลัพธ์ในอดีตจะไม่สามารถคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ปรากฏการณ์ Bitcoin Halving อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ทิศทางให้กับเหล่านักลงทุน และเมื่อผสานรวมกับการเข้ามาของ Spot ETFs รวมถึงสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ยิ่งอาจส่งผลให้เงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดคริปโตมากขึ้นตามไปด้วย
นาย นิรันดร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การเกิดปรากฏการณ์ Bitcoin Halving และการเปิดตัวของ Spot ETFs ในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นแรงผลักดันสำคัญที่อาจมีส่วนช่วยเสริมสภาพคล่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ไหลเข้าสู่อุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งถึงแม้ว่าเดือนกันยายน มักเป็นช่วงที่สินทรัพย์ดิจิทัลอ่อนตัว แต่ราคาก็มักจะฟื้นตัวและดีดสูงขึ้นอีกครั้งตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้คาดว่าจะยิ่งเสริมแรงส่งให้ราคาดีดกลับตัวสูงขึ้นยิ่งกว่าเดิม”
“คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ กำลังเดินหน้าเตรียมปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเงิน การประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย อาจนำไปสู่ยุคใหม่ของการปรับสมดุลทางเศรษฐกิจ (Economic recalibration) ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมคริปโตได้เช่นกัน”
“ถึงแม้ว่าผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลต่ออุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นยังคงมีความไม่แน่นอน แต่สัญญาณต่างๆ ได้บ่งชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งนี้ อาจเป็นจังหวะที่ดีสำหรับนักลงทุน เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมที่ลดลง และสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้น ยิ่งทำให้อุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลมีความน่าสนใจนอกจากนี้ จากการศึกษาเทรนด์ในอดีต รวมถึงปัจจัยเฉพาะด้านเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ยังตอกย้ำให้เห็นว่าการปรับนโยบายในครั้งนี้ อาจเป็นแรงกระตุ้นที่เร่งให้เกิดการเติบโตของอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลได้อีกด้วย”