พาณิชย์เร่งตรวจสอบสินค้าอุปโภคบริโภคราคาแพง สั่งเจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด หวั่นฉวยจังหวะนํ้าท่วมขึ้นราคาซํ้าเติมผู้บริโภคโชว์ในรอบปีที่ผ่านมามีสินค้าแจ้งปรับลดราคา 15 กลุ่มรวม 128 รายการปลัด พาณิชย์ยอมรับผักแพงจากช่วงเทศกาล-น้ำท่วมของขาด ขณะที่ยอดร้องเรียนสายด่วน 1569 รอบ 9 เดือน หมวดอาหารและเครื่องดื่มยังแชมป์ร้องเรียนมากสุด ไม่ติดป้ายราคา-ขายแพง
แหล่งข่าวจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์(พณ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่ากรมได้เร่งตรวจสอบราคาสินค้าอุปโภคบริโภคโดยเฉพาะสินค้าอาหารเพื่อการบริโภคที่ราคายังค่อนข้างสูง ควบคู่การกำกับดูแลราคาสินค้าและบริการให้มีราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม โดยเวลานี้ได้กำหนดสินค้าและบริการควบคุม 45 รายการและติดตามดูแล 225 รายการที่มีการติดตามตรวจสอบราคาอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการฉวยโอกาสขึ้นราคา ให้ปิดป้ายราคาจำหน่าย และดูแลการปรับราคาจำหน่ายให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตและต้นทุนการขนส่ง
สำหรับในปี 2559 มีสินค้าที่แจ้งลดราคาลงจากเดิม 15 สินค้ารวม 128 รายการ นอกจากนี้ยังมีการลดต้นทุนปัจจัยการผลิตนาข้าวและพืชชนิดอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เช่น ปุ๋ยเคมี จำนวน11 สูตร ลดราคาลง 5-15% เป็นต้น ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ได้มีโครงการธงฟ้าราคาประหยัดลดค่าครองชีพ ประชาชน โดยร่วมกับภาคเอกชนจำหน่ายสินค้าราคาต่ำกว่าท้องตลาดทั่วไป 20-30% ซึ่งจัดไปแล้วรวม 473 ครั้ง มีมูลค่าการจำหน่ายกว่า 566 ล้านบาท สามารถลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน 1.55 ล้านคน หรือคิดเป็นมูลค่า241ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีโครงการหนูณิชย์…..พาชิม ซึ่งเป็นโครงการที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ร้านอาหารจำหน่ายสำเร็จรูปในเขตกรุงเทพ ปริมณฑล และต่างจังหวัด โดยจำหน่ายอาหารราคาไม่เกิน 25-35บาทต่อจาน มีผู้ประกอบการเข้าร่วมแล้วจำนวน 11,106 ร้าน รวมไปถึงการจัดทำแอพพลิเคชั่น ลายแทงของถูก เพื่อแสดงข้อมูลเปรียบเทียบราคาสินค้าในแต่ละพื้นที่ ปัจจุบันมีผู้ดาวน์โหลดใช้แอพพลิเคชันนี้แล้วกว่า 5,000 ราย และเปิดใช้งานแล้วกว่า 2.3 หมื่นครั้ง
ส่วนกรณีผลสำรวจราคาสินค้าอาหารบริโภคช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ พบประชาชนบริโภคอาหารในราคาที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อวัตถุดิบไปปรุงอาหารรับประทานเองที่บ้าน เนื่องจากวัตถุดิบในการปรุงอาหารราคาปรับตัวสูงขึ้น เช่นพืชผักต่างๆ ขณะที่การรับประทานอาหารนอกบ้านในภาพรวมก็มีราคาสูงขึ้นจากพ่อค้าแม่ค้าปรับราคาสูงขึ้นนั้น
[caption id="attachment_105606" align="aligncenter" width="335"]
วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์
ปลัดกระทรวงพาณิชย์[/caption]
ในเรื่องนี้นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า ในภาพรวมแล้วปีนี้ราคาผักไม่ได้แพงขึ้นมากนัก แต่เมื่อรวมกับปัจจัยอื่น เช่น ความต้องการซื้อที่สูงในช่วงเทศกาลต่างๆ ส่งผลให้สินค้ามีราคาแพงขึ้น ส่วนที่มีสินค้าหลายรายการขาดตลาด หรือได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมทำให้เน่าเสียหรือไม่สามารถขนออกมายังจุดจำหน่ายได้ กระทรวงได้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการกระจายสินค้าเพื่อผู้บริโภคให้ทั่วถึง
"ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาพบว่า ประชาชนต้องบริโภคอาหารในราคาที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ราคาผักสดและผลไม้เท่านั้นที่ปรับเพิ่มขึ้น แต่ในส่วนของเครื่องประกอบอาหารต่าง ๆ เช่น ข้าวแป้ง ผลิตภัณฑ์จากแป้ง เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ ไข่และผลิตภัณฑ์นม ผักและผลไม้ เครื่องประกอบอาหาร เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ จึงทำให้โดยภาพรวมสินค้าอาหารมีราคาแพงขึ้น ซึ่งทางกระทรวงโดยกรมการค้าภายในจะติดตามและกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด"
ขณะที่จากการตรวจสอบของ"ฐานเศรษฐกิจ"ถึง ยอดร้องเรียนสายด่วน1569 ของกรมการค้าภายใน ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 มีทั้งสิ้น 1,317 เรื่อง โดยเรื่องไม่ปิดป้ายแสดงราคาจำหน่ายปลีก มียอดร้องเรียนสูงสุดในเดือนกันยายนจำนวน 56 ครั้ง รองลงมาเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ชั่งตวงวัด 27 ครั้ง และจำหน่ายสินค้าราคาแพง 21 ครั้ง เป็นต้น ทั้งนี้ใน หมวดอาหารและเครื่องดื่มมีผู้บริโภคร้องเรียนเข้าไปมากที่สุด โดยในเดือนกันยายนมี 84 เรื่อง รองลงมา เป็นหมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม14เรื่อง และหมวดรายการบริการ 12 เรื่อง เป็นต้น จากปี 2558 มียอดร้องเรียนเข้าไปทั้งสิ้น 2,104 เรื่อง
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,200 วันที่ 13 - 15 ตุลาคม พ.ศ. 2559